คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7055/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ ก. เจ้ามรดกขอจดทะเบียนตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด ต. ขึ้นและมี ก. เจ้ามรดกเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและมีทายาททุกคนร่วมกันทำธุรกิจให้ห้างฯ ดังกล่าวตลอดมา ต่อมา ก. เจ้ามรดกได้นำเงินของห้างฯ ไปซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลง แต่เงินที่นำไปซื้อก็เป็นเงินลงทุนที่ ก. เจ้ามรดกพร้อมภริยาและบุตรต่างร่วมลงทุนและลงแรงงานทำมาด้วยกัน ทั้งยังได้ความอีกว่า ก. เจ้ามรดกกับ อ. ภริยาร่วมกันรวมเงินเพื่อขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด ต. เพื่อดำเนินธุรกิจการค้า จัดตั้งโรงงานอัดมันเม็ดแล้วส่งออกต่างประเทศ โดยมีทายาททุกคนต่างช่วยเหลือกิจการในห้างฯ และโรงงานมาโดยตลอด โดยมี ก. เจ้ามรดกเป็นหัวหน้าครอบครัว ซึ่งโจทก์และจำเลยทุกคนซึ่งต่างเป็นบุตรต้องเคารพเชื่อฟังและยอมรับการตัดสินใจและไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน ดังนั้น เงินรายได้จากห้างฯ ที่มาเป็นค่าใช้จ่ายส่วนรวมของครอบครัว จึงเรียกได้ว่าเป็น “กงสี” นั่นเอง การจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด ต. ของ ก. เจ้ามรดกก็เพื่อความสะดวกในการทำนิติกรรมสัญญากับบุคคลอื่นและเจ้าพนักงานรวมถึงการยื่นภาษีเงินได้เท่านั้น ดังนั้น การที่ ก. เจ้ามรดกนำเงินของห้างไปใช้จ่ายรวมถึงนำไปซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแล้วให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นผู้รับโอน แม้จะนำที่ดินพิพาทมาใช้ประโยชน์ในกิจการของห้างฯ แต่ก็ได้ทำสัญญาให้ห้างฯ เป็นผู้เช่า ย่อมบ่งบอกได้ว่า ก. เจ้ามรดกต้องการให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นทรัพย์สินส่วนตัวแยกต่างหากจากทรัพย์สินของห้างฯ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 6064 และ 6065 ไม่ใช่ทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัด ต.
ตามหนังสือตกลงให้แบ่งที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.11 ที่ ก. เจ้ามรดกให้แบ่งทรัพย์สินให้บุตรทั้ง 6 คน เท่า ๆ กัน ซึ่งมี ก. เจ้ามรดกลงลายมือชื่อไว้พร้อมกับโจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ลงลายมือรับรองข้อความในเอกสาร แม้ข้อความในหนังสือตกลงตามเอกสารหมาย จ.11 ในข้อ (1) มีข้อความว่า ที่ดินเลขที่ 6064 และสิ่งปลูกสร้าง แม่น้ำ 10 ไร่ ? 6 = 1.66 ไร่ มีรอยน้ำยาลบคำผิดข้อความ “แม่น้ำ” ออกไป ข้อ 2 มีข้อความเดิมว่า ที่ดินเลขที่ 6065 และสิ่งปลูกสร้างริมแม่น้ำประมาณ 67 – 10 = 57 ? 3 = 19 ไร่ ? 6 คนละ 3.16 ไร่ มีรอยน้ำยาลบคำผิดข้อความว่า “ริมแม่น้ำ” ออกไป เมื่อจำเลยที่ 1 รับสำเนาหนังสือตกลงตามเอกสารหมาย จ.13 เป็นหลักฐานมายึดถือไว้ก็ไม่ปรากฏข้อความเดิมอีกต่อไป แสดงว่า มีการใช้น้ำยาลบคำผิดบางข้อความก่อนที่ทุกคนจะลงลายมือชื่อ ดังนั้น ทายาทของ ก. เจ้ามรดกย่อมเข้าใจข้อความที่แก้ไขดีแล้ว ข้อความที่ถูกลบออกไปจึงไม่ใช่ข้อความอันสำคัญแต่อย่างใด นอกจากนี้หนังสือตกลงดังกล่าวนี้ ไม่มีกฎหมายบังคับให้ผู้เขียนหรือลบข้อความบางตอนต้องลงลายมือชื่อกำกับไว้ หนังสือตกลงตามเอกสาร จ.11 จึงเป็นเอกสารที่สมบูรณ์ โจทก์สามารถใช้อ้างเป็นพยานได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาบังคับจำเลยทั้งห้าดำเนินการจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามโฉนดเลขที่ 28005 ตำบลบางรัก อำเภอบางรัก จังหวัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นของนายกิจผู้ตาย และที่ดินโฉนดเลขที่ 6064, 6065 ตำบลราชคราม อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เฉพาะส่วนของนายกิจผู้ตายให้เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งห้า หากจำเลยทั้งห้าไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยทั้งห้าเสียค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการรับโอนมรดกคนละเท่ากัน และให้จำเลยทั้งห้าส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาททั้งสามแปลงให้แก่โจทก์ หากไม่ส่งมอบขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดที่ดินพิพาทเพื่อให้โจทก์นำไปจดทะเบียนรับโอนมรดกต่อไป
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าไปดำเนินการจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างต่อเจ้าพนักงานที่ดินตามโฉนดเลขที่ 28005 ตำบลบางรัก อำเภอบางรัก จังหวัดกรุงเทพมหานคร ที่เป็นของนายกิจ ผู้ตาย และโฉนดที่ดินเลขที่ 6064 และ 6065 ตำบลราชคราม อำเภอบางไทร (เสนาน้อย) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เฉพาะส่วนของนายกิจ ผู้ตายให้เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งห้าคนละส่วนเท่ากัน และให้จำเลยทั้งห้าใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ตกเป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ก่อนอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา โจทก์ถึงแก่ความตาย นางสาวธัญญารัตน์ ภริยาของโจทก์ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน จำเลยที่ 2 และที่ 4 ยื่นคำคัดค้านว่า ทรัพย์สินในคดีนี้เป็นทรัพย์มรดกของนายกิจ เจ้ามรดก จำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นผู้จัดการมรดกของนายกิจตามคำสั่งของศาลชั้นต้น จึงมีความเหมาะสมที่จะเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ผู้มรณะ
ครั้นถึงวันนัดไต่สวนของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 และที่ 4 แถลงขอให้ศาลตั้งจำเลยที่ 2 และที่ 4 เข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ผู้มรณะ แต่รับข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นสอบข้อเท็จจริงจากผู้ร้องซึ่งได้ความว่า ผู้ร้องเป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ มีบุตรด้วยกัน 3 คน ต่อมาโจทก์ถึงแก่ความตาย ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนายกิจตามคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกของศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาพิเคราะห์ข้อเท็จจริงที่ได้ความดังกล่าว เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้าให้แบ่งทรัพย์มรดกส่วนของตนตามหนังสือบันทึกที่นายกิจเจ้ามรดกได้ทำไว้ ดังนั้น จำเลยที่ 2 และที่ 4 จึงเป็นคู่ความฝ่ายที่เป็นปรปักษ์กับโจทก์ เมื่อโจทก์มีผู้ร้องซึ่งเป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายและมีบุตรด้วยกัน ผู้ร้องจึงเป็นคู่สมรสถือเป็นทายาทโดยธรรมและโจทก์ยังมีบุตรผู้สืบสันดานเป็นทายาทลำดับ 1 จำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาของโจทก์เป็นทายาทลำดับ 3 มิใช่ทายาทที่จะเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ได้ จึงอนุญาตให้นางสาวธัญญารัตน์เข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ผู้มรณะ ให้ยกคำคัดค้านของจำเลยที่ 2 และที่ 4
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังว่า โจทก์และจำเลยทั้งห้าเป็นบุตรของนายกิจหรือนายกิมอั้ง กับนางอรพินท์ โดยนางอรพินท์ถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ต่อมาวันที่ 16 กันยายน 2549 นายกิจถึงแก่ความตาย ก่อนถึงแก่ความตายนายกิจทำหนังสือตกลงฉบับลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2549 มีข้อความกำหนดให้แบ่งทรัพย์สินของนายกิจให้แก่โจทก์กับจำเลยทั้งห้าคนละส่วนเท่ากัน ตามหนังสือตกลงเอกสารหมาย จ.11 ถึง จ.13 นายกิจผู้ตายมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 28005 ตำบลบางรัก อำเภอบางรัก กรุงเทพมหานคร และมีชื่อถือกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 6064 และ 6065 ตำบลราชคราม อำเภอบางไทร (เสนาน้อย) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันที่ 26 กันยายน 2549 โจทก์กับจำเลยทั้งห้าไปยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในที่ดินพิพาททั้งสามแปลง ต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอรับโอนทรัพย์มรดกของนายกิจผู้ตายตามคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ภายหลังจำเลยที่ 1 ปฏิเสธการรับโอนทรัพย์มรดกของนายกิจผู้ตายโดยมีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยาขอให้ระงับการทำนิติกรรมที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 6064 และ 6065 ตำบลราชคราม อำเภอบางไทร (เสนาน้อย) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ้างว่าที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัดใต้ล้งตามหนังสือขอให้ระงับการทำนิติกรรม ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 28005 ตำบลบางรัก อำเภอบางรัก กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าเป็นทรัพย์มรดกของนายกิจผู้ตายซึ่งตกแก่ทายาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 6064 และ 6065 ตำบลราชคราม อำเภอบางไทร (เสนาน้อย) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นทรัพย์มรดกของนายกิจผู้ตาย หรือเป็นทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดใต้ล้ง โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาอ้างว่า นายกิจนำเงินของห้างหุ้นส่วนจำกัดใต้ล้งไปซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลง แล้วใส่ชื่อโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนห้างหุ้นส่วนจำกัดใต้ล้ง นายกิจไม่ได้นำเงินส่วนตัวมาซื้อที่ดินพิพาท ห้างหุ้นส่วนจำกัดใต้ล้งจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสองแปลง นั้น ข้อนี้ได้ความว่าเมื่อปี 2498 นายกิจผู้ตายขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดใต้ล้งตามคำขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการค้าขายข้าวและสินค้าเกษตรและส่งออกสินค้าไปต่างประเทศมีนายกิจผู้ตายเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ต่อมาปี 2508 จำเลยที่ 1 เข้ามาถือหุ้นแทนนายซ้งหรือกิมซ้ง หุ้นส่วนของห้างที่ได้ออกไป จากนั้น นายกิจผู้ตายและทายาททุกคนร่วมกันทำธุรกิจในห้างหุ้นส่วนตลอดมา จำเลยที่ 1 เบิกความว่า เดิมจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินพิพาททั้งสองแปลง ต่อมาปี 2523 นายกิจผู้ตายกับจำเลยที่ 1 ได้ตกลงซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลง เป็นเงิน 7,750,000 บาท แต่ในการขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินนายกิจผู้ตายได้ให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายที่ดินแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 หลังจากจำเลยที่ 1 กับทายาทไปยื่นคำขอรับโอนมรดกต่อเจ้าพนักงานที่ดินตามคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมแล้ว จำเลยที่ 1 ตรวจพบว่านายกิจผู้ตายนำเงินของห้างหุ้นส่วนจำกัดใต้ล้งมาซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลง แต่โอนกรรมสิทธิ์ให้ทายาทบางคนโดยจำเลยที่ 1 มีหลักฐานสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากของห้างหุ้นส่วนจำกัดใต้ล้งมาสนับสนุนว่า ช่วงจำเลยที่ 1 ขายที่ดินให้นายกิจผู้ตายนั้น ห้างฯ มีการเบิกถอนเงิน 7,750,000 บาท จำนวนเงินตรงกับที่ตกลงซื้อขายกันไว้ โจทก์กับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ก็ไม่ได้เบิกความถึงเงิน 7,750,000 บาท ที่นำมาซื้อที่ดินพิพาทว่านำเงินมาจากไหนอย่างไรให้ชัดเจนทั้ง ๆ ที่เป็นจำนวนเงินสูง แต่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นพยานโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่าช่วงปี 2523 จำเลยที่ 4 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดใต้ล้ง จำเลยที่ 4 มอบอำนาจให้นายกิจผู้ตายดำเนินการเกี่ยวกับบัญชีเงินฝากของห้างฯ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ต้องเดินทางไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยาทุกวัน กรณีมีเหตุผลที่นายกิจผู้ตายจะนำเงินของห้างฯ ไปใช้จ่ายได้ตามลำพัง นอกจากนี้นายกิจผู้ตายยังนำที่ดินพิพาททั้งสองแปลง มาใช้สร้างโรงงานอัดมันเม็ดและโรงงานเก็บสินค้าอันเป็นธุรกิจทางการค้าของห้างฯ ด้วย เช่นนี้จึงฟังได้ว่านายกิจผู้ตายนำเงินของห้างหุ้นส่วนจำกัดใต้ล้งมาซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจริง แต่ก็เป็นเงินลงทุนที่นายกิจผู้ตายกับนางอรพินท์ภริยาและบุตรร่วมลงทุนและลงแรงงานทำมาด้วยกันดังที่จำเลยที่ 1 เบิกความ ได้ความต่อไปว่า นายกิจผู้ตายกับนางอรพินท์ภริยาร่วมกันออกเงินเพื่อขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดใต้ล้งเพื่อดำเนินธุรกิจการค้า จัดตั้งโรงงานอัดมันเม็ดและส่งออกต่างประเทศ นายกิจผู้ตายและทายาททุกคนต่างเข้าช่วยเหลือกิจการต่าง ๆ ในห้างฯ และโรงงานมาโดยตลอด ตอนแรกห้างหุ้นส่วนจำกัดใต้ล้งมีนายซ้งหรือกิมซ้ง เป็นหุ้นส่วนอีกคนหนึ่ง ภายหลังนายซ้งหรือกิมซ้งออกจากการเป็นหุ้นส่วนไป ดังนั้นนายกิจผู้ตายจึงเข้ามาบริหารงานในห้างฯ แต่เพียงผู้เดียว นายกิจผู้ตายเป็นคนเชื้อชาติจีน เป็นหัวหน้าครอบครัว จึงมีเหตุผลที่โจทก์กับจำเลยทุกคนต้องเคารพเชื่อฟัง ยอมรับการตัดสินใจของนายกิจผู้ตายซึ่งเลี้ยงดูตนเองมาตั้งแต่เกิด นายกิจผู้ตายจะขอจดทะเบียนแก้ไขให้บุตรคนใดเข้ามาถือหุ้นหรือเป็นผู้จัดการในห้างฯ ตลอดจนกำหนดรายจ่ายแต่ละเดือนของห้างฯ ให้บุตรทุกคนไม่ว่าบุตรคนนั้นเพราะนายกิจผู้ตายนำเงินรายได้จากห้างหุ้นส่วนจำกัดใต้ล้งมาเป็นค่าใช้จ่ายส่วนรวมของครอบครัว ตามที่จำเลยที่ 3 เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า เงินดังกล่าวโดยทั่วไปเรียกว่า “กงสี” นั่นเอง การจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดใต้ล้งของนายกิจผู้ตายก็เพื่อสะดวกในการเข้าทำนิติกรรมสัญญากับบุคคลอื่นหรือขอจดทะเบียนกับเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงการยื่นภาษีรายได้ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเท่านั้น จำเลยที่ 1 ยังเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า แม้นายกิจผู้ตายจะไม่มีหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดใต้ล้งแต่ก็สามารถทำนิติกรรมผูกพันห้างฯ ได้ แสดงว่านายกิจผู้ตายยังคงเข้ามาเกี่ยวข้องกับการบริหารงานและการเงินของห้างฯ ได้ตลอด นายกิจผู้ตายจะนำเงินของห้างฯ ไปใช้จ่ายอย่างไร ทายาททุกคนต่างรับรู้ว่าเป็นสิทธิของนายกิจผู้ตายที่จะกระทำได้ การที่นายกิจผู้ตายนำเงินของห้างฯ ไปซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลง แล้วจดทะเบียนให้โจทก์กับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับโอนนั้น เชื่อว่านายกิจผู้ตายได้คิดอย่างละเอียดรอบคอบดีก่อนแล้ว แม้นายกิจผู้ตายจะนำที่ดินพิพาทมาใช้ในกิจการของห้างฯ ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติเพราะนายกิจผู้ตายยังดูแลกิจการในห้างฯ อยู่ หากนายกิจผู้ตายต้องการให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลง ตกเป็นของห้างฯ ก็สามารถจัดการได้โดยง่ายเพราะขณะนั้นจำเลยที่ 4 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการมีอำนาจกระทำการแทนห้างฯ ได้อยู่แล้ว แต่นายกิจผู้ตายหาได้กระทำการเช่นว่านั้นไม่ ทั้งยังปรากฏว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดใต้ล้งทำการเช่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลง เพื่อใช้ทำประโยชน์บ่งบอกว่านายกิจผู้ตายต้องการให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลง เป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลแยกต่างหากจากทรัพย์สินของห้างฯ พยานจำเลยที่ 1 ที่นำสืบมาไม่อาจรับฟังหักล้างหนังสือสัญญาขายที่ดินและโฉนดที่ดินเลขที่ 6064 กับ 6065 ซึ่งเป็นเอกสารมหาชนได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 6064 และ 6065 ไม่ใช่ทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดใต้ล้งแต่อย่างใด ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า หนังสือตกลงตามเอกสารหมาย จ.11 มีรอยน้ำยาลบคำผิดข้อความซึ่งเป็นข้อความที่มีความสำคัญ อีกทั้งไม่มีการลงลายมือชื่อกำกับไว้ และผู้เขียนบันทึกไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้เช่นกันจึงเป็นเอกสารที่ไม่สมบูรณ์นั้น ศาลฎีกาได้ตรวจดูเอกสารดังกล่าวแล้ว เห็นว่า ตามหนังสือตกลงดังกล่าวนายกิจผู้ตายตกลงแบ่งทรัพย์สินต่าง ๆ ให้บุตรทั้ง 6 คน เท่า ๆ กัน ในข้อ (1) มีข้อความเดิมว่า ที่ดินเลขที่ 6064 และสิ่งปลูกสร้างแม่น้ำ 10 ไร่ ? 6 = 1.66 ไร่ มีรอยน้ำยาลบคำผิดข้อความว่า “แม่น้ำ” ออกไป ข้อ (2) มีข้อความเดิมว่า ที่ดินเลขที่ 6065 และสิ่งปลูกสร้างริมแม่น้ำประมาณ 67 – 10 = 57 ? 3 = 19 ไร่ ? 6 คนละ 3.16 ไร่ มีรอยน้ำยาลบคำผิดข้อความว่า “ริมแม่น้ำ” ออกไป ซึ่งนายกิจผู้ตายลงลายมือชื่อพร้อมกับโจทก์จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 รับรองข้อความในเอกสาร เมื่อจำเลยที่ 1 รับสำเนาหนังสือตกลงตามเอกสารหมาย จ.13 เป็นหลักฐานสำเนาเอกสารที่จำเลยที่ 1 ยึดถือไว้ก็ไม่ปรากฏข้อความเดิมอีกต่อไป แสดงว่ามีการใช้น้ำยาลบคำผิดบางข้อความมาก่อนที่ทุกคนจะลงลายมือชื่อ ดังนั้นทายาทของนายกิจย่อมเข้าใจข้อความที่แก้ไขดีแล้ว ข้อความที่ถูกลบออกไปจึงไม่ใช่ข้อความอันสำคัญแต่อย่างใด นอกจากนี้หนังสือตกลงเช่นว่านี้ไม่มีกฎหมายบังคับให้ผู้เขียนหรือลบข้อความบางตอนต้องลงลายมือชื่อกำกับไว้ หนังสือตกลงตามเอกสารหมาย จ.11 จึงเป็นเอกสารที่สมบูรณ์ โจทก์สามารถใช้อ้างเป็นพยานได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share