คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 239/2557

แหล่งที่มา : หนังสือคำพิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุก หมายเลขทะเบียน 80 – 5273 ชุมพร รับจ้างบรรทุกสินค้าอันเป็นการประกอบการขนส่งในนามของจำเลยที่ 2 จึงต้องถือว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการขับรถยนต์บรรทุกดังกล่าว ดังนั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวการจึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ตัวแทนของตนได้กระทำไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 427 และ 820
รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารศาลแพ่งหมาย ป.จ.4 ที่พนักงานสอบสวนจัดทำขึ้นในการเปรียบเทียบปรับจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานขับรถโดยประมาท อันทำให้คดีส่วนอาญาเลิกกัน แม้จะมีข้อความบันทึกไว้ตอนต้นว่าคู่กรณีทั้งสามฝ่ายตกลงเรื่องค่าเสียหายกัน ผลการตกลงฝ่ายรถยนต์บรรทุก หมายเลขทะเบียน 80 – 5273 ชุมพร ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นคนขับขณะเกิดเหตุยินยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายโดยจะซ่อมรถยนต์ หมายเลขทะเบียน 6 ฎ – 0967 กรุงเทพมหานคร และรถยนต์โดยสาร หมายเลขทะเบียน 11 – 7047 กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ให้อยู่ในสภาพเดิม ส่วนค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจะไปดำเนินการกันเองกับบริษัทประกันภัยก็ตาม แต่ผู้ลงชื่อท้ายบันทึกฝ่ายรถบรรทุก หมายเลขทะเบียน 80 – 5273 กรุงเทพมหานคร ได้แก่ จำเลยที่ 1 ผู้ชดใช้และฝ่ายรถยนต์โดยสาร หมายเลขทะเบียน 11 – 7047 กรุงเทพมหานคร คือ ม. พนักงานขับรถยนต์โดยสารของโจทก์ผู้รับชดใช้ โดยไม่มีข้อความตอนใดระบุว่า ม. ทำบันทึกข้อตกลงในฐานะตัวแทนของโจทก์ ทั้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 851 บังคับว่าสัญญาประนีประนอมยอมความต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ และมาตรา 798 วรรคสอง บัญญัติว่า กิจการอันใดท่านบังคับว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย ดังนี้ข้อตกลงเรื่องค่าเสียหายตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี เอกสารศาลแพ่งหมาย ป.จ.4 จึงไม่ผูกพันโจทก์ กรณีฟังไม่ได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันอันจะมีผลให้มูลหนี้ละเมิดระงับไป
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 แต่มิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 161 และมาตรา 167 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มิได้แก้ไข ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินแก่โจทก์ 364,962 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 339,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 3 เด็ดขาด ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องขอเข้าดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 3 ยื่นคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน แก่โจทก์ 157,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2540 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 4,000 บาท ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความให้ 1,500 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็น นิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด และเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์โดยสาร หมายเลขทะเบียน 11 – 7047 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุก หมายเลขทะเบียน 80 – 5273 ชุมพร ขณะที่นายมนัส พนักงานของโจทก์ขับรถยนต์โดยสาร หมายเลขทะเบียน 11 – 7047 กรุงเทพมหานคร พาผู้โดยสารจากกรุงเทพมหานครไปส่งที่จังหวัดกระบี่ เมื่อถึงที่เกิดเหตุมี จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุก หมายเลขทะเบียน 80 – 5273 ชุมพร ของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทเฉี่ยวชนด้านท้ายรถยนต์ หมายเลขทะเบียน 6 ฎ – 0967 กรุงเทพมหานคร ซึ่งแล่นตามรถยนต์โดยสารของโจทก์ จนเป็นเหตุให้รถยนต์ หมายเลขทะเบียน 6 ฎ – 0967 กรุงเทพมหานคร ไปชนท้ายรถยนต์โดยสารของโจทก์แล้วเสียหลักออกไปและรถยนต์บรรทุกที่จำเลยที่ 1 ขับมาชนรถยนต์โดยสารของโจทก์ซ้ำอีกจนได้รับความเสียหาย หลังเกิดเหตุโจทก์ว่าจ้างบุคคลอื่นยกลากรถยนต์โดยสารของโจทก์จากที่เกิดเหตุเป็นเงิน 14,500 บาท ต่อมานายเศวต พนักงานของโจทก์ตำแหน่งนิติกร จำเลยที่ 1 และเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 6 ฎ – 0967 กรุงเทพมหานคร ไปพบพนักงานสอบสวนมีการทำบันทึกยินยอมให้มีการเปรียบเทียบปรับจำเลยที่ 1 ในข้อหาขับรถยนต์โดยประมาทตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี เอกสารศาลแพ่งหมาย ป.จ.4 ในบันทึกมีข้อความตอนต้นว่า คู่กรณีทั้งสามฝ่ายได้มาตกลงเรื่องค่าเสียหายกัน ผลการตกลงปรากฏว่าทางฝ่ายรถยนต์บรรทุก หมายเลขทะเบียน 80 – 5273 ชุมพร ยินยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้กับฝ่ายรถยนต์ หมายเลขทะเบียน 6 ฎ – 0967 กรุงเทพมหานคร และรถยนต์โดยสาร หมายเลขทะเบียน 11 – 7047 กรุงเทพมหานคร โดยรับผิดชอบจะซ่อมให้อยู่ในสภาพเดิม ส่วนค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินนั้นจะไปดำเนินการกันเองกับบริษัทประกันภัย ซึ่งในส่วนค่าสินไหมทดแทนนี้ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 157,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2540 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเงินเสร็จ
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกว่า จำเลยที่ 2 ต้อง ร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 หรือไม่ โจทก์มีนายเศวต พนักงานของโจทก์เบิกความว่า พยานไปพบพนักงานสอบสวนคดีนี้ พบตัวแทนจำเลยที่ 3 ทำบันทึกความเสียหายของรถยนต์โดยสารไว้ตามเอกสารศาลแพ่งหมาย ป.จ.5 ก่อนพบพนักงานสอบสวน จำเลยที่ 1 แจ้งให้พยานทราบว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 นอกจากนี้ตามสำเนาหนังสือแสดงการจดทะเบียนรถ ระบุว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุก หมายเลขทะเบียน 80 – 5273 ชุมพร และมีชื่อเป็นผู้ใช้รถยนต์บรรทุกประกอบการขนส่งอยู่ในขณะเกิดเหตุ โดยไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้นำรถยนต์บรรทุกประกอบการขนส่งแต่อย่างใด ส่วนที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่ารถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุจากจำเลยที่ 2 นั้น ก็ไม่มีหลักฐานการเช่าและหลักฐานการชำระค่าเช่าแต่ประการใด พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุก หมายเลขทะเบียน 80 – 5273 ชุมพร รับจ้างบรรทุกสินค้าอันเป็นการประกอบการขนส่งในนามของจำเลยที่ 2 จึงต้องถือว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการขับรถยนต์บรรทุก ดังนั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวการจึงต้อง รับผิดในผลแห่งละเมิดที่ตัวแทนของตนได้กระทำไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 และ 820 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยให้เหตุผลมานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการที่สองว่า หนี้ตามมูลละเมิดระงับไปเพราะโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้วตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารศาลแพ่งหมาย ป.จ.4 โจทก์คงมี สิทธิเรียกร้องหนี้ตามสัญญากับจำเลยที่ 1 เท่านั้น ไม่มีสิทธิเรียกร้องจาก จำเลยที่ 2 นั้น ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารศาลแพ่งหมาย ป.จ.4 ที่พนักงานสอบสวนจัดทำขึ้นในการเปรียบเทียบปรับจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานขับรถโดยประมาท อันทำให้คดีส่วนอาญาเลิกกัน แม้จะมีข้อความบันทึกไว้ตอนต้นว่าคู่กรณีทั้งสามฝ่ายตกลงเรื่องค่าเสียหายกัน ผลการตกลงฝ่ายรถยนต์บรรทุก หมายเลขทะเบียน 80 – 5273 ชุมพร ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นคนขับขณะเกิดเหตุยินยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายโดยจะซ่อมรถยนต์ หมายเลขทะเบียน 6 ฎ – 0967 กรุงเทพมหานคร และรถยนต์โดยสาร หมายเลขทะเบียน 11 – 7047 กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ให้อยู่ในสภาพเดิม ส่วนค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจะไปดำเนินการกันเองกับบริษัทประกันภัยก็ตาม แต่ผู้ลงชื่อท้ายบันทึกฝ่ายรถบรรทุก หมายเลขทะเบียน 80 – 5273 กรุงเทพมหานคร ได้แก่ จำเลยที่ 1 ผู้ชดใช้และฝ่ายรถยนต์โดยสาร หมายเลขทะเบียน 11 – 7047 กรุงเทพมหานคร คือ นายมนัส พนักงานขับรถยนต์โดยสารของโจทก์ผู้รับชดใช้ โดยไม่มีข้อความตอนใดระบุว่านายมนัสทำบันทึกข้อตกลงในฐานะตัวแทนของโจทก์ ทั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 851 บังคับว่าสัญญาประนีประนอมยอมความต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ และมาตรา 798 วรรคสอง บัญญัติว่า กิจการอันใดท่านบังคับว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย ดังนี้ข้อตกลงเรื่องค่าเสียหายตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี เอกสารศาลแพ่งหมาย ป.จ.4 จึงไม่ผูกพันโจทก์ กรณีฟังไม่ได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันอันจะมีผลให้มูลหนี้ละเมิดระงับไป ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการสุดท้ายว่า ค่าเสียหายที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้แก่โจทก์สูงเกินความเป็นจริง ศาลล่างทั้งสองพิจารณาและวินิจฉัยให้เหตุผลในการกำหนดค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสามต้องรับผิดต่อโจทก์มา เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีและชอบด้วยเหตุผลแล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยซ้ำอีก ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 แต่มิได้สั่งในเรื่อง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 และมาตรา 167 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มิได้แก้ไข ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share