คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1394/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาลด้วยความสมัครใจโดยมีทนายความ ทั้งสองฝ่ายลงชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความ เป็นการยอมรับข้อตกลงนั้น การที่โจทก์ปกปิดไม่แจ้งข้อเท็จจริงที่โจทก์ฟ้อง พ. ซึ่งเป็นมูลหนี้เดียวกันกับจำเลย เมื่อโจทก์ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องแจ้งข้อเท็จจริงนั้นแก่จำเลยจึงหาใช่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉลดังที่ ป.วิ.พ. มาตรา 138 (1) บัญญัติไว้ไม่
ฎีกาที่กล่าวอ้างว่าเป็นการฉ้อฉลในมูลคดีเดิม ไม่ถือเป็นการฉ้อฉลตาม ป. วิ.พ. มาตรา 138 (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๓๙ จำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์จำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท และยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี โดยกำหนดจะชำระคืนภายในวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๐ เมื่อครบกำหนดจำเลย ไม่ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ขอให้จำเลยชำระเงิน ๑,๑๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี จากต้นเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาล โดยจำเลยยินยอมชำระเงินจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ภายในกำหนด ๒ ปี โดยจะชำระเดือนละไม่น้อยกว่า ๔๕,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม
จำเลยอุทธรณ์ว่า สัญญาประนีประนอมยอมความทำขึ้นโดยจำเลยถูกโจทก์ฉ้อฉล ขอให้ยกคำพิพากษา ตามยอมของศาลชั้นต้น และให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นจะต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่าการทำสัญญาประนีประนอมยอมความตาม คำพิพากษาของศาลชั้นต้นเกิดจากการที่โจทก์ฉ้อฉลจำเลยหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระเงินกู้ตามสัญญา จำเลยให้การปฏิเสธว่าลายพิมพ์นิ้วมือในช่องผู้กู้ตามสัญญากู้เป็นลายพิมพ์นิ้วมือปลอม และไม่มีพยานรับรอง ตามกฎหมาย แต่เมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ คู่ความตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความไปในวันดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลดังกล่าว โจทก์และจำเลยต่างตกลงทำสัญญากันด้วยความสมัครใจโดยมีทนายความทั้งสองฝ่ายลงชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นการยอมรับข้อตกลงนั้น ไม่ปรากฏว่ามีข้อความหรือพฤติการณ์อันใดก่อให้เห็นได้ว่าโจทก์ฉ้อฉลจำเลย และที่จำเลยฎีกาว่าถูกโจทก์ฉ้อฉลโดยปกปิดข้อเท็จจริงที่โจทก์ฟ้องนางสาวพรเพ็ญ แซ่อึ้ง ซึ่งเป็นมูลหนี้เดียวกันกับจำเลย โดยโจทก์ไม่ได้บอกจำเลย และจำเลยไม่เห็นด้วยกับข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ที่ว่าการที่โจทก์ฟ้องนางสาวพรเพ็ญ แซ่อึ้ง ไม่ใช่หน้าที่ของโจทก์นั้น เห็นว่า โจทก์ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องแจ้ง การที่โจทก์ไม่แจ้งแก่จำเลยจึงหาใช่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉลดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๓๘ (๑) บัญญัติไว้ไม่ ทั้งฎีกาของจำเลยเป็นฎีกาที่กล่าวอ้างว่าเป็นการฉ้อฉลในมูลคดีเดิม จึงไม่ถือเป็นฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๓๘ (๑) คำพิพากษาของศาลชั้นต้นตามสัญญาประนีประนอมยอมความจึงมีผลผูกพันคู่ความ
พิพากษายืน

Share