แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ประกาศกรมเจ้าท่ากำหนดว่า “สารหรือสิ่งของใดจัดอยู่ในชั้นและประเภทใดให้เป็นไปตาม INTERNATIONALMARITMEDANGEROUSGOODS CODE(IMDGCODE) ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (INTERNATIONALMARITIMEORGANIZATION หรือ IMO)” ดังนั้น สิ่งของใดจะเป็นสิ่งของอันตรายบ้างนั้นก็ต้องเป็นไปตามที่ IMDGCODE กำหนดไว้ที่ประเทศไทยต้องยอมรับในฐานะที่ได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. 1974 (THEINTERNATIONALCONVENTIONFORTHESAFETYOFLIFEATSEA1974) เมื่อ IMDGCODE ระบุว่า ถ่านที่มาจากพืชเป็นของที่ลุกไหม้ได้โดยธรรมชาติ เพราะสามารถร้อนตัวขึ้นช้า ๆ และติดไฟได้เองในอากาศ ดังนั้นถ่านไม้โกงกางสินค้าของจำเลยที่ 1 จึงถือได้ว่าเป็นสิ่งของที่อาจเกิดอันตรายได้
ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 33 กำหนดให้ผู้ส่งของมีหน้าที่ต้องทำเครื่องหมายหรือปิดป้ายหีบห่อบรรจุตามสมควรเพื่อให้ผู้ขนส่งได้รู้ว่าเป็นของอันตราย ทั้งต้องแจ้งถึงสภาพอันตรายของสิ่งของนั้นด้วยก็โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ขนส่งได้มีโอกาสดูแลรักษาสินค้าด้วยความระมัดระวังและถูกต้องอันจะเป็นการปกป้องผู้ขนส่งและบุคคลอื่นมิให้ได้รับอันตรายหรือต้องเสียหายจากสิ่งของอันตรายดังกล่าวที่อาจจะเกิดขึ้นจากตัวสิ่งของนั้นเองได้ ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 มิได้ทำเครื่องหมายหรือปิดป้ายหีบห่อที่บรรจุถ่านไม้โกงกางตามสมควรเพื่อให้โจทก์ผู้ขนส่งได้รู้ว่าเป็นของอันตราย ทั้งมิได้แจ้งถึงสภาพอันตรายของถ่านไม้โกงกางให้โจทก์ทราบด้วย คงแจ้งให้โจทก์ทราบแต่เพียงว่าเป็นถ่านไม้โกงกางเช่นนี้ เมื่อถ่านไม้โกงกางเกิดติดไฟขึ้นเองในตู้สินค้าที่บรรจุหีบห่อถ่านไม้โกงกางสินค้าจำเลยที่ 1 จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่สินค้าในตู้สินค้าอื่นที่โจทก์รับขนไปด้วย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
ย่อยาว
คดีนี้ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาพิพากษารวมกันกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ก.ค. 200/2541 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง แต่มีอุทธรณ์ขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเฉพาะคดีนี้เท่านั้น คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ก.ค. 200/2541 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2537 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการว่าจ้างโจทก์โดยผ่านตัวแทนของโจทก์ในประเทศไทยให้ขนส่งสินค้าถ่านไม้โกงกางจำนวน 687 กล่องจากประเทศไทยไปส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อที่ประเทศญี่ปุ่น โดยทางเรือเดินทะเลชื่อกูยุเมื่อเรือกูยุเดินทางมาถึงเมืองฮ่องกงได้มีการขนถ่ายสินค้าลงเรือลำเลียงเพื่อขนส่งต่อไปยังประเทศญี่ปุ่น ปรากฏว่าสินค้าถ่านไม้ของจำเลยที่ 1 เกิดลุกไหม้ขึ้นจากภายในตู้สินค้าแล้วลุกลามไปไหม้ตู้สินค้าข้างเคียงได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวน 78,662.09 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยเท่ากับ 1,982,284.66 บาท จำเลยที่ 1 กระทำการโดยประมาทเลินเล่อและละเลยหน้าที่ในฐานะผู้ส่งสินค้า โดยมิได้ทำเครื่องหมายและแจ้งให้ตัวแทนของโจทก์ทราบว่า สินค้าของจำเลยที่ 1 จัดอยู่ในประเภทสินค้าอันตรายสามารถสะสมความร้อนจนลุกไหม้ขึ้นโดยตัวเองได้ ถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาต่อโจทก์ โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย จึงต้องชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2537 คิดเป็นดอกเบี้ย 49,285.50 บาท รวมเป็นหนี้ถึงวันฟ้อง 2,031,570.23 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 2,031,570.23 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของเงินต้นจำนวน 1,982,284.66 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปแก่โจทก์จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะจำเลยที่ 1 ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างบริษัทไลเนอร์ คลาส จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนเรือในประเทศไทยให้ขนส่งสินค้าจำพวกถ่านไม้ป่าเลน จากประเทศไทยไปส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่งที่ประเทศญี่ปุ่นโดยทางเรือเดินทะเลชื่อกูยุ บริษัทไลเนอร์ คลาส จำกัด รับทราบก่อนตกลงรับจ้างขนส่งแล้วว่า สินค้าพิพาทมิใช่เป็นของโดยสภาพจะก่อให้เกิดอันตรายได้เว้นแต่มีเหตุปัจจัยภายนอกโดยเอาไฟไปจุดขึ้น ในระหว่างการขนถ่ายสินค้าพิพาทถูกไฟไหม้เสียหายทั้งหมดโดยไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง จำเลยที่ 1 มีหน้าที่เพียงแจ้งสภาพสินค้าและให้ผู้ขนส่งตรวจนับสินค้าก่อนบรรจุลงในตู้สินค้าเท่านั้น หากบริษัทไลเนอร์ คลาส จำกัด เห็นว่าเป็นสินค้าอันตรายก็เป็นหน้าที่ของผู้ขนส่งเองที่จะต้องปิดฉลากหรือตู้สินค้า หน้าที่ดังกล่าวมิได้มีข้อบังคับว่าเป็นของจำเลยที่ 1 นอกจากนี้บริษัทไลเนอร์ คลาส จำกัด ผู้ขนส่งไม่เคยแจ้งว่าจำเลยที่ 1 ต้องกระทำการดังกล่าว ทั้งที่เคยรับจ้างขนส่งสินค้าจำพวกถ่านไม้ให้แก่จำเลยที่ 1 มาหลายครั้งแล้วก็ตาม ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงมิได้กระทำการโดยประมาทเลินเล่อละเลยหน้าที่ในฐานะผู้ส่งสินค้าอันถือว่าเป็นการผิดสัญญาแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดเพราะโจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย และโจทก์ไม่เคยทวงถามจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,982,284.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2537 เป็นต้นไปแก่โจทก์จนกว่าจะชำระเสร็จแต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวน 49,285.57 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2537 จำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้ว่าจ้างโจทก์ขนส่งถ่านไม้โกงกางจำนวน687 กล่อง ที่บรรจุอยู่ในตู้สินค้าหมายเลข จีเอสทียู 8077811 ไปให้แก่ผู้ซื้อที่ประเทศญี่ปุ่นโจทก์ใช้เรือเดินทะเล ชื่อ “กูยุ” บรรทุกสินค้าของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวร่วมกับตู้สินค้าอื่นออกเดินทางจากท่าเรือกรุงเทพไปถึงท่าเรือเมืองฮ่องกงในวันที่ 29 พฤษภาคม 2537 เพื่อจะขนถ่ายตู้สินค้าที่บรรจุถ่านไม้ของจำเลยที่ 1 ไปบรรทุกเรือลำอื่นเดินทางต่อไปยังประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2537 ในระหว่างขนถ่ายได้เกิดไฟไหม้ตู้สินค้าบรรจุถ่านไม้ของจำเลยที่ 1 และลุกลามไหม้ตู้สินค้าอื่นเสียหายอีก 2 ตู้ มีสินค้าเสียหายด้วย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า ถ่านไม้สินค้าของจำเลยที่ 1 เป็นสินค้าอันตรายหรือไม่ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าตามประกาศกรมเจ้าท่า ที่ 353/2529เรื่องการกำหนดชั้นของสิ่งของและสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายได้ตามเอกสารหมาย จ.11 ข้อ 1 ที่กำหนดชั้นของที่อาจเกิดอันตรายได้ไว้ 9 ชั้น โดยชั้น 4 คือของแข็งลุกติดไฟได้แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ประเภท 4.1 ของแข็งลุกติดไฟได้นั้นมิได้ระบุไว้ให้ถ่านไม้โกงกางเป็นของแข็งลุกติดไฟได้เอง การที่นาวาโททวีศักดิ์ชินวรณ์ ซึ่งเป็นเพียงพนักงานตรวจท่า ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญมีหน้าที่วิเคราะห์ว่าสินค้าใดเป็นสินค้าอันตราย เบิกความว่า ถ่านไม้เป็นของแข็งลุกติดไฟได้ในตัวเองจึงเป็นความคิดเห็นส่วนตัวเท่านั้น ทั้งยังได้ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า ถ่านไม้ที่จัดอยู่ในประเภทของแข็งลุกติดไฟได้นั้นหมายถึงต้องมีปัจจัยความร้อนช่วย ซึ่งโดยทั่วไปต้องใช้ไฟจุดให้เกิดความร้อน ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่อยู่ ๆ ถ่านไม้จะลุกติดไฟได้เอง ถ่านไม้จึงไม่อยู่ในนิยามตามเอกสารหมาย จ.11 ข้อ 1 ชั้น 4 ประเภท 4.1 ของแข็งลุกติดไฟได้นั้น เห็นว่า ตามประกาศกรมเจ้าท่าเอกสารหมาย จ.11 ข้อ 1 เป็นแต่การจัดชั้นของสิ่งของและสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายได้ว่ามีกี่ชนิดตามความรุนแรงที่จะก่อให้เกิดอันตรายขึ้นได้เท่านั้น ส่วนสิ่งของใดจะเป็นสิ่งของที่เป็นอันตรายอยู่ในชั้นหรือประเภทใดนั้นเป็นรายละเอียดซึ่งประกาศกรมเจ้าท่าเอกสารหมาย จ.11 ข้อ 3 กำหนดไว้ว่า “สารหรือสิ่งของใดจัดอยู่ในชั้นและประเภทใดให้เป็นไปตาม INTERNATIONAL MARITIME DANGEROUS GOODS CODE(IMDG CODE) ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (INTERNATIONAL MARITIMEORGANIZATION หรือ IMO)” ดังนั้น สิ่งของใดจะเป็นสิ่งของอันตรายบ้างนั้นก็ต้องเป็นไปตามที่ IMDG CODE กำหนดไว้ที่ประเทศไทยต้องยอมรับในฐานะที่ได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. 1974 (THE INTERNATIONAL CONVENTION FOR THE SAFETY OF LIFE AT SEA 1974)ซึ่ง IMDG CODE – หน้า 4224 ตามเอกสารหมาย จ.11 แผ่นที่ 7 ที่มีคำแปลไว้ตามเอกสารหมาย จ.12 ประเภท 4.2 ของที่ลุกไหม้ได้โดยธรรมชาติ ก็ระบุไว้ว่าถ่านที่มาจากพืชสามารถร้อนตัวขึ้นช้า ๆ และติดไฟได้เองในอากาศ ดังนั้น ถ่านไม้โกงกางสินค้าของจำเลยที่ 1 จึงถือได้ว่าเป็นสิ่งของที่อาจเกิดอันตรายได้ ตามประกาศกรมเจ้าท่าที่ 353/2529 เอกสารหมาย จ.11 ในชั้น 4 ประเภท 4.1 ของแข็งลุกติดไฟได้นั้นเอง การที่นาวาโททวีศักดิ์ ชินวรณ์ ซึ่งเป็นนักเดินเรือ 7 รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกองตรวจการขนส่งทางน้ำ มาเบิกความเป็นพยานโจทก์ก็เพื่อยืนยันว่า กรมเจ้าท่าที่นาวาโททวีศักดิ์สังกัดอยู่ได้มีประกาศกำหนดชั้นของสิ่งของและสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายได้ไว้ และถ่านไม้เป็นสิ่งของที่อาจเกิดอันตรายได้ การที่ถ่านไม้จะติดไฟนั้นย่อมเกิดจากการจุดไฟให้ความร้อนถ่านไม้โดยตรงหรืออาจจะเกิดจากการสะสมความร้อนในตัวถ่านไม้ลุกติดไฟขึ้นเองก็เป็นได้ ซึ่งในกรณีนี้ก็ได้ความจากคำเบิกความของนายเสนาะ ช้างแย้ม พยานจำเลยที่ 1 ผู้จัดการฝ่ายนำเข้าและส่งออกของจำเลยที่ 1 ว่า สินค้าถ่านไม้ของจำเลยที่ 1 ที่ส่งไปยังต่างประเทศได้เคยเกิดไฟไหม้ในตู้สินค้ามาแล้วเช่นกัน ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า ถ่านไม้ของจำเลยที่ 1 เป็นสินค้าอันตรายนั้นจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปเกี่ยวกับการที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้แจ้งเหตุว่าถ่านไม้โกงกางเป็นสินค้าอันตรายแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า แม้พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 33 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า”ของใดที่มีสภาพก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น ไวไฟหรืออาจเกิดระเบิดหรืออาจเป็นอันตรายโดยประการอื่น ผู้ส่งของต้องทำเครื่องหมายหรือปิดป้ายตามสมควรเพื่อให้รู้ว่าของนั้นมีอันตราย” และวรรคสองบัญญัติว่า “เมื่อส่งของตามวรรคหนึ่งให้แก่ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่น ผู้ส่งของต้องแจ้งให้ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นทราบถึงสภาพอันตรายแห่งของนั้นและในกรณีที่ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นร้องขอ ให้ผู้ส่งของแจ้งข้อควรระวังและวิธีป้องกันอันตรายให้ทราบด้วย” แต่พระราชบัญญัติดังกล่าวก็เพิ่งประกาศใช้มาเพียง 3 ปี ถึงจำเลยที่ 1 จะประกอบอาชีพขายถ่านมาเป็นเวลามากกว่า 20 ปี ก็ไม่ใช่กรณีที่จะให้ทราบได้ ซึ่งโดยนิตินัยแล้วจะอ้างว่าไม่ทราบว่ามีกฎหมายเช่นนั้นไม่ได้ แต่โดยข้อเท็จจริงจำเลยที่ 1 ไม่ค่อยมีโอกาสได้รับรู้ว่ามีกฎหมายอะไรบ้างมาเกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพของจำเลยที่ 1 ทั้งพระราชบัญญัติดังกล่าวก็มิได้เป็นกฎหมายที่ประชาชนทุกคนต้องรับรู้ หากจำเลยที่ 1 ทราบว่าสินค้าของจำเลยที่ 1 เป็นทรัพย์อันตราย จำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติตามแน่นอน เมื่อจำเลยที่ 1ไม่ทราบข้อเท็จจริงมาก่อนว่า ถ้าไม้โกงกางเป็นสินค้าอันตรายก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1กระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้นเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 33 ได้กำหนดให้ผู้ส่งของมีหน้าที่ต้องทำเครื่องหมายหรือปิดป้ายหีบห่อบรรจุตามสมควรเพื่อให้ผู้ขนส่งได้รู้ว่าเป็นของอันตราย ทั้งต้องแจ้งถึงสภาพอันตรายของสิ่งของนั้นด้วยนั้น ก็โดยมีจุดประสงค์เพื่อจะให้ผู้ขนส่งได้มีโอกาสดูแลรักษาสินค้าด้วยความระมัดระวังและถูกต้องอันจะเป็นการปกป้องผู้ขนส่งและบุคคลอื่นมิให้ได้รับอันตรายหรือต้องเสียหายจากสิ่งของอันตรายดังกล่าวที่อาจจะเกิดขึ้นจากตัวสิ่งของนั้นเองได้ ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ถ่านไม้โกงกางสินค้าของจำเลยที่ 1 เป็นทรัพย์อันตรายและจำเลยที่ 1 ก็มิได้ทำเครื่องหมายหรือปิดป้ายหีบห่อที่บรรจุถ่านไม้โกงกางตามสมควรเพื่อให้โจทก์ผู้ขนส่งได้รู้ว่าเป็นของอันตราย ทั้งจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้แจ้งถึงสภาพอันตรายของถ่านไม้โกงกางให้โจทก์ทราบด้วย คงแจ้งให้โจทก์ทราบแต่เพียงว่าเป็นถ่านไม้โกงกางเช่นนี้ เมื่อถ่านไม้โกงกางเกิดติดไฟขึ้นเองในตู้สินค้าที่บรรจุหีบห่อถ่านไม้โกงกางสินค้าของจำเลยที่ 1 จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่สินค้าในตู้สินค้าอื่นที่โจทก์รับขนไปด้วย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ อุทธรณ์ทุกข้อของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน