คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2923/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำให้การของจำเลยว่า หนี้ขาดอายุความเพราะฟ้องเกิน 2 ปีนับจากวันหักทอนบัญชีตามที่ตกลงกันไว้ โดยไม่ได้ระบุให้ชัดแจ้งว่าหนังสือแต่ละเล่มหักทอนบัญชีกันเมื่อไร และโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ตั้งแต่เมื่อใดจึงไม่ได้แสดงเหตุแห่งการขาดอายุความ ไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับหนังสือจากจำเลยเพื่อจำหน่าย โจทก์จ่ายเงินค่าหนังสือแก่จำเลยล่วงหน้าร้อยละ 40 ถึง 50 ของราคาหนังสือ หากโจทก์จำหน่ายหนังสือไม่หมด จำเลยต้องมารับหนังสือคืนพร้อมกับหักทอนบัญชีกัน หากจำหน่ายหนังสือได้น้อยกว่าจำนวนเงินที่จำเลยรับล่วงหน้าไป จำเลยต้องคืนเงินแก่โจทก์ หากจำหน่ายหนังสือได้มากกว่าจำนวนเงินที่จำเลยรับล่วงหน้าไป โจทก์จะชำระเงินเพิ่มแก่จำเลย หลังจากหักทอนบัญชีเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2537 แล้ว ปรากฏว่ายังมีหนังสือตกค้างอีก 2,886 เล่ม โจทก์คืนหนังสือดังกล่าวแก่จำเลยแล้ว แต่จำเลยไม่คืนเงินค่าหนังสือที่ได้รับไว้เกินแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 251,108.38 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 244,968.38 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า จำเลยจ้างโจทก์จำหน่ายหนังสือนิตยสารในระหว่างเดือนมกราคม 2536 ถึงเดือนมกราคม 2537 แต่จำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์เพราะได้มีการหักทอนบัญชีกันเรียบร้อยแล้ว คดีของโจทก์ขาดอายุความ เนื่องจากโจทก์ฟ้องเกินกว่า 2 ปีนับจากวันหักทอนบัญชีตามที่ตกลงกันไว้รายการหนังสือตกค้างเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 20 เป็นเอกสารที่โจทก์ทำขึ้นมาเอง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 244,968.38 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วที่จำเลยฎีกาว่า ในประเด็นเรื่องอายุความจำเลยให้การไว้ชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสอง แล้ว จึงมีประเด็นในเรื่องนี้นั้น เห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยมีว่าหนี้ขาดอายุความแล้วเพราะฟ้องเกิน 2 ปี นับจากวันหักทอนบัญชีตามที่ตกลงกันไว้ โดยไม่ได้ระบุให้ชัดแจ้งว่า หนังสือแต่ละเล่มหักทอนบัญชีกันเมื่อไร และโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ตามฟ้องตั้งแต่เมื่อใดคำให้การดังกล่าวจึงไม่ได้กล่าวแสดงเหตุแห่งการขาดอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าไม่มีประเด็นเรื่องอายุความและไม่วินิจฉัยในเรื่องนี้จึงชอบแล้วฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า หนังสือที่จำเลยให้โจทก์จัดจำหน่ายได้หักทอนบัญชีกันเรียบร้อยแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้นประเด็นนี้โจทก์จำเลยยอมรับกันว่า เมื่อจำเลยนำหนังสือหรือนิตยสารมาให้โจทก์จำหน่าย โจทก์จะหักหนังสืออภินันทนาการและส่วนลด เหลือคิดเป็นเงินได้เท่าไร โจทก์จะจ่ายค่าหนังสือให้จำเลยล่วงหน้าประมาณร้อยละ 40 ถึง 50 เมื่อโจทก์รับหนังสือจากจำเลยมาจำหน่ายแล้ว 90 วัน ก็จะคิดหักทอนบัญชีกัน หากโจทก์จำหน่ายหนังสือที่รับจากจำเลยได้น้อยกว่าจำนวนเงินที่โจทก์จ่ายล่วงหน้าให้แก่จำเลยไปแล้ว จำเลยก็ต้องจ่ายเงินส่วนที่เกินให้แก่โจทก์ แต่ถ้าจำหน่ายหนังสือได้มากกว่าจำนวนเงินที่โจทก์จ่ายล่วงหน้าแก่จำเลย โจทก์ก็ต้องจ่ายเงินเพิ่มให้แก่จำเลย สำหรับหนังสือที่จำหน่ายไม่หมดไม่ว่ากรณีที่จำหน่ายได้น้อยกว่าจำนวนเงินที่โจทก์จ่ายล่วงหน้าหรือจำหน่ายได้มากกว่าจำนวนเงินที่โจทก์จ่ายล่วงหน้า จำเลยจะรับคืนไปทั้งหมด ปรากฏตามเอกสารตามเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.14 ว่า นิตยสารดาราหน้าแตก ปฏิมากรพระปิดตา ปฏิมากรพระสมเด็จ ปฏิมากรหลวงพ่อสดปฏิมากรหลวงปู่โต๊ะ 9 เกจิอาจารย์ พระสมเด็จปี 2509 อมตะพระเนื้อดินตลาดพระและปกิณกะพระหล่อ ได้มีการหักทอนบัญชีกันเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีรายละเอียดชัดเจนว่า นิตยสารฉบับใด หนังสือเหลือจำนวนเท่าใด โจทก์ต้องจ่ายเงินเพิ่มให้แก่จำเลยหรือจำเลยต้องหักเงินคืนโจทก์เท่าไร และถ้าพิจารณาจากวันที่โจทก์รับนิตยสารดังกล่าวจากจำเลยตามเอกสารหมาย จ.3 ก็ปรากฏว่าการหักทอนบัญชีตามเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.14 ได้กระทำกันหลังจากที่โจทก์รับหนังสือจากจำเลยเกินกว่า 90 วันทั้งหมด จึงต้องถือว่าโจทก์กับจำเลยได้หักทอนบัญชีกันเรียบร้อยแล้วย่อมไม่มีหนี้ที่จะต้องรับผิดต่อกันอีก ซึ่งนายสิทธิชัยตรีวุฒิชาญ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของโจทก์และเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ฟ้องคดีก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า รายละเอียดทั้งหมดที่มีอยู่ในเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.14 และ จ.18 เป็นรายละเอียดที่ถูกต้อง และยังตอบทนายจำเลยอีกว่าหนังสือรายสัปดาห์และรายปักษ์โจทก์จะเก็บหนังสือเก่าคืนเดือนละ 1 ครั้ง หนังสือรายเดือนจะเก็บคืนเดือนถัดไป ส่วนหนังสือพิเศษการเก็บหนังสือคืนมีระยะเวลาไม่แน่นอนตามแต่จะตกลงกันแต่ถ้าไม่ได้มีข้อตกลงกันจะเก็บคืนทุก 3 เดือน จากการนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่านิตยสารที่โจทก์รับจากจำเลยมาจำหน่ายมีฉบับใดที่โจทก์มีข้อตกลงการเก็บนิตยสารคืนจากร้านที่จำหน่ายเป็นพิเศษ จึงต้องฟังว่าโจทก์เก็บหนังสือคืนจากร้านที่จำหน่ายทุก 3 เดือน ซึ่งก็สอดคล้องกับการที่โจทก์คิดหักทอนบัญชีกับจำเลยหลังจากรับหนังสือจากจำเลย 90 วัน การที่โจทก์อ้างว่ายังมีนิตยสารที่หักทอนบัญชีกันแล้วตามเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.14 ตกค้างอยู่อีก จึงเป็นเรื่องขัดกับคำเบิกความของนายสิทธิชัยคดียังรับฟังไม่ได้ว่ามีหนังสือตกค้างตามเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.14 คิดเป็นเงินจำนวน 220,030.88 บาท โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องที่จะให้จำเลยรับผิดค่าหนังสือที่โจทก์อ้างว่าเป็นหนังสือตกค้างเป็นเงินจำนวน 220,030.88 บาทต่อโจทก์ได้ แต่ส่วนนิตยสารปฏิมากรเบญจภาคีซึ่งมีการหักทอนบัญชีกันตามเอกสารหมาย จ.18 นั้น จำเลยยอมรับว่าจำเลยต้องคืนเงินให้แก่โจทก์จำนวน 24,937.50 บาท และจำเลยยังไม่ได้คืนให้แก่โจทก์ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 24,937.50 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2539 จนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์

Share