คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2273/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์มีพยานหลักฐานมาสืบให้ศาลเห็นว่า จำเลยได้ออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมแก่โจทก์ซึ่งเป็นหนี้ ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย และโจทก์ได้ยื่นเช็คเพื่อให้ธนาคารตามเช็คใช้เงินโดยชอบแล้ว แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน เมื่อจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงว่าในวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินซึ่งตรงกับวันออกเช็คหรือ วันที่สั่งจ่าย บัญชีกระแสรายวันของจำเลยในธนาคารไม่มีเงินพอจ่ายตามเช็คพิพาทได้ เช่นนี้โจทก์ไม่จำต้องนำสืบพยานในข้อเท็จจริงที่จำเลยแถลงรับดังกล่าวอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกเช็คจำนวนเงิน ๒๑๐,๐๐๐ บาท มอบให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คถึงกำหนด โจทก์นำเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีของโจทก์ เพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยให้เหตุผลในใบคืนเช็คว่า “โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย” การกระทำของจำเลยเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คหรือให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันพึงให้ใช้เงินได้ขณะออกเช็คนั้น ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยไม่ได้ให้การ ถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔ ให้ลงโทษจำคุก ๓ เดือน และปรับ ๔๐,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๑ ปี ตาม ป.อ. มาตรา ๕๖ หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา ๒๙ และ ๓๐
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยเป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตาม คำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยได้ออกเช็คพิพาทมอบให้แก่โจทก์ เมื่อเช็คถึง กำหนดสั่งจ่าย โจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็ค แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ทั้งนี้โดยใน วันออกเช็คนั้น จำเลยไม่มีเงินเหลืออยู่ในบัญชีกระแสรายวันในธนาคารพอที่จะจ่ายตามเช็คพิพาทได้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า จำเลยออกเช็คพิพาทมอบให้โจทก์เป็นการชำระหนี้เงินกู้ยืมหรือไม่ เห็นว่า คำเบิกความ ของโจทก์มีเหตุผลเชื่อมโยงกันมาเป็นลำดับมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ให้จำเลยออกเช็คพิพาท เพื่อชำระหนี้ค่าดอกเบี้ยของเงินต้นที่จำเลยกู้ยืมไปจากบริษัทชัยภูมิส่งเสริมธุรกิจ จำกัด เมื่อปลายปี ๒๕๓๘ นั้น เห็นว่า จำเลยเบิกความอ้างลอย ๆ ในข้อนี้ โดยไม่มีพยานอื่นมาสืบสนับสนุน และสำหรับข้อที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยและนายเอนก บิดาจำเลยได้ลงชื่อในหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน และหนังสือสัญญาค้ำประกัน โดยที่เอกสารดังกล่าว ยังไม่ได้เขียนกรอกข้อความนั้น เห็นว่า จำเลยสำเร็จการศึกษาเป็นนิติศาสตร์บัณฑิต ส่วนนายเอนกเคยรับราชการเป็นเจ้าพนักงานสรรพสามิตจึงไม่น่าเชื่อว่า จำเลยและนายเอนกจะยอมลงชื่อในเอกสารดังกล่าวโดยที่มิได้มีการเขียนกรอกข้อความ ตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าจำเลยได้ออกเช็คพิพาทซึ่งสั่งจ่ายเงินแก่ผู้มอบให้โจทก์เป็นการชำระหนี้เงินกู้ยืมจริงโจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อเช็คพิพาทถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องจำเลยผู้ออกเช็คได้
ส่วนที่จำเลยฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า แม้จำเลยจะแถลงรับข้อเท็จจริงว่า วันที่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน บัญชีกระแสรายวันของจำเลยในธนาคารไม่มีเงินพอจ่ายตามเช็ค แต่จำเลยก็ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ ศาลจะอาศัยคำรับของจำเลยดังกล่าวมาลงโทษจำเลยไม่ได้นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์มีพยานหลักฐานมาสืบให้ศาลเห็นว่า จำเลยได้ออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมแก่โจทก์ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายและโจทก์ได้ ยื่นเช็คเพื่อให้ธนาคารตามเช็คใช้เงินโดยชอบแล้ว แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน เมื่อจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงว่า ในวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินซึ่งตรงกับวันออกเช็คหรือวันที่สั่งจ่าย บัญชีกระแสรายวันของจำเลยในธนาคาร ไม่มีเงินพอจ่ายตามเช็คพิพาทได้ ศาลย่อมลงโทษจำเลยตามฟ้องได้ โดยโจทก์ไม่จำต้องนำสืบพยานในข้อเท็จจริงที่จำเลยแถลงรับดังกล่าวอีก ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น จึงต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษายืน.

Share