คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 62/2521

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แจ้งความต่อตำรวจว่า แจ้งให้ทราบไว้เป็นหลักฐานเกรงเช็คจะขาดอายุความก็ดีแจ้งให้ทราบไว้เป็นหลักฐานก็ดีแจ้งให้ทราบไว้เป็นหลักฐานเพื่อจะฟ้องร้องเองต่อไปก็ดี มิได้มีเจตนาให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลย ไม่เป็นการร้องทุกข์ตามกฎหมาย

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเพราะคดีขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้พิจารณาพิพากษาใหม่ จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “สำหรับปัญหาว่าคำแจ้งความของโจทก์เป็นคำร้องทุกข์ตามกฎหมายหรือไม่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(7) วิเคราะห์ศัพท์คำว่า “คำร้องทุกข์” ไว้ว่า “หมายความถึงการที่ผู้เสียหาย ได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ” แต่ปรากฏจากคำแจ้งความตามเอกสาร จ.12, จ.13และ จ.14 ไม่มีข้อความตอนใดที่มีความหมายว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายมีเจตนาให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลย โดยเอกสาร จ.12 มีข้อความว่า “แจ้งความให้พนักงานสอบสวนทราบไว้เป็นหลักฐานเกรงเช็คจะขาดอายุความ” เอกสาร จ.13 มีข้อความว่า “จึงมาแจ้งความให้เจ้าพนักงานตำรวจทราบไว้เป็นหลักฐาน” และเอกสาร จ.14 มีข้อความว่า “จึงมาแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจทราบไว้เป็นหลักฐาน เพื่อจะได้ฟ้องร้องเองต่อไป” การที่โจทก์แจ้งความไว้เพียง เพื่อให้เป็นหลักฐานเท่านั้น มิได้มีเจตนาให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยเช่นนี้ ถือมิได้ว่าเป็นการร้องทุกข์ตามกฎหมาย

ส่วนปัญหาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ปรากฏจากใบคืนเช็คเอกสาร จ.3 จ.5 จ.7 จ.9 และ จ.11 ประกอบฟ้องของโจทก์ว่า โจทก์ได้รู้เรื่องความผิดแต่ละครั้งและรู้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม2517 วันที่ 4 กรกฎาคม 2517 วันที่ 26 กรกฎาคม 2517 วันที่ 21 สิงหาคม2517 และวันที่ 27 กันยายน 2517 ตามลำดับ เมื่อโจทก์มิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด และเพิ่งมาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2518 คดีโจทก์ซึ่งเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัวหรือความผิดอันยอมความได้ จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96″

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share