คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 222/2557

แหล่งที่มา : หนังสือคำพิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้คำขอท้ายฟ้องจะระบุอ้าง มาตรา 371 ไว้ด้วยก็ตาม แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องถึงองค์ประกอบความผิดในมาตราดังกล่าวว่าจำเลยที่ 1 พาอาวุธปืนไปโดยเปิดเผยหรือไม่มีเหตุสมควร และจำเลยที่ 2 พาอาวุธมีดไปโดยเปิดเผยหรือไม่มีเหตุสมควรมาด้วย ดังนั้น ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 371 มิได้ เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91, 278, 279, 288, 371
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในข้อหากระทำอนาจารเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี โดยใช้กำลังประทุษร้าย ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 371 และจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคสอง พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุกคนละ 10 ปี ฐานกระทำอนาจารเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้าย จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 เดือน ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุสมควร เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 เดือน ฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 90 บาท ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม ส่วนฐานกระทำอนาจารเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 6 ปี 8 เดือน ฐานกระทำอนาจารเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้าย คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 เดือน ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คงจำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 4 เดือน ฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร คงปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 60 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี 18 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 ปี 8 เดือน และปรับ 60 บาท หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่า คำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 ไม่สามารถนำมารับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ และโจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่า จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนในการก่อเหตุตามฟ้องโจทก์จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นนั้น เห็นว่า เป็นฎีกาที่เมื่อพิจารณาฎีกาทั้งฉบับแล้วกรณีไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงผลตามคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสอง ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณา ศาลฎีกาไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 219 วรรคสอง และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานพาอาวุธปืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ด้วย และจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานพาอาวุธมีดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 นั้น เห็นว่า คดีนี้ แม้คำขอท้ายฟ้องจะระบุอ้าง มาตรา 371 ไว้ด้วยก็ตาม แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องถึงองค์ประกอบความผิดในมาตราดังกล่าวว่าจำเลยที่ 1 พาอาวุธปืนไปโดยเปิดเผยหรือไม่มีเหตุสมควร และจำเลยที่ 2 พาอาวุธมีดไปโดยเปิดเผยหรือไม่มีเหตุสมควรมาด้วย ดังนั้น ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 มิได้ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย และแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share