แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ดินที่โจทก์มีหลักฐานเป็นใบ ภ.บ.ท. 5 เป็นที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ แต่โจทก์อาจมีสิทธิครอบครองได้ โดยการครอบครองมาก่อนหรือรับโอนการครอบครองจากผู้ที่ครอบครองมาก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ เมื่อพยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ราษฎรที่โจทก์ซื้อที่ดินดังกล่าวมา ได้ครอบครองที่ดินตามหลักฐานใบ ภ.บ.ท. 5 มาก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ โจทก์จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 4 ป.ที่ดิน ต้องถือว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของรัฐ การเข้ายึดถือครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่แม้จะเสียภาษีบำรุงท้องที่ก็ตาม เป็นการต้องห้ามตามมาตรา 9 แห่ง ป.ที่ดิน โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิอ้างการครอบครองที่ผิดกฎหมายยันรัฐได้
ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ซึ่งโจทก์ถือครอง เป็นส่วนหนึ่งของที่ทำเลเลี้ยงสัตว์โคกสูงที่ราษฎรนำสัตว์มาเลี้ยงร่วมกันตั้งแต่ปี 2473 ก่อนประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติในปี 2511 จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) โดยสภาพ แม้นายอำเภอปักธงชัยจะเพิ่งออกประกาศว่าที่ดินดังกล่าวเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินในปี 2524 ภายหลังเวลาที่มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ให้แก่ราษฎรผู้มีชื่อในปี 2518 ก็ไม่มีผลทำให้ที่ดินดังกล่าวไม่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอย่างใดเพราะการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันนั้น แม้ทางราชการไม่ได้ทำหลักฐานขึ้นทะเบียนไว้ ก็ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันทำลายแผนที่และเอกสารอื่นที่เกิดจากการรังวัดที่จำเลยที่ 3 จัดทำขึ้นทั้งหมด และให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันทำลายหรือถอนหลักคอนกรีตและหลักเขตที่สาธารณะที่ไปปักในที่ดินของโจทก์ออกทั้งหมด โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งเจ็ดเอง หากจำเลยทั้งเจ็ดไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 7 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ถึงแก่ความตาย นางพึงใจ ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความต่างมิได้ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า เมื่อปี 2533 โจทก์ซื้อที่ดินจากผู้มีชื่อโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน เป็นที่ดินมีหลักฐานแสดงสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน จำนวน 9 แปลง ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) และเป็นที่ดินไม่มีหลักฐานแสดงสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน มีเพียงหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ จำนวน 6 แปลง ตามใบ ภ.บ.ท. 5 เจ้าพนักงานที่ดินออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ให้แก่เจ้าของที่ดินเดิมเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2518 แต่ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2524 นายอำเภอปักธงชัยในขณะนั้นได้ออกประกาศอำเภอปักธงชัย เรื่อง การจัดทำทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์ความว่า อำเภอปักธงชัยให้เจ้าหน้าที่ไปสำรวจตรวจสอบประวัติและสภาพความเป็นมาของที่ทำเลเลี้ยงสัตว์โคกสูง หมู่ที่ 5, ที่ 6 และที่ 13 ตำบลตะคุ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา จำนวนเนื้อที่ดินโดยประมาณ 916 ไร่ เพื่อจัดทำทะเบียนไว้เป็นหลักฐาน ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดูแลรักษาอันเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ.2515 ปรากฏว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่ซึ่งราษฎรตำบลตะคุใช้ประโยชน์โดยทำเป็นที่ทำเลเลี้ยงสัตว์และเก็บผักหักฟืนร่วมกันมาแต่โบราณกาลนานนับร้อยปี จึงประกาศว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 ซึ่งอำเภอปักธงชัยจะได้นำขึ้นทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์เป็นหลักฐานของทางราชการต่อไป ผู้ใดจะคัดค้านให้ยื่นคำคัดค้านภายใน 30 วัน นับแต่วันประกาศ ต่อมาวันที่ 20 มกราคม 2542 นายอำเภอปักธงชัยในขณะนั้น ซึ่งได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 4 ให้ดำเนินการตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ตามคำสั่งมีหนังสือแจ้งไปยังอธิบดีกรมที่ดินผ่านเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดว่า ในปีงบประมาณ 2542 อำเภอปักธงชัยประสงค์ขอรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแก่ที่ทำเลเลี้ยงสัตว์โคกสูง เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาปักธงชัย จึงมีคำสั่งให้จำเลยที่ 3 ซึ่งมีตำแหน่งเป็นช่างรังวัดไปทำการรังวัดตามคำสั่งในใบนัดทำการรังวัด จำเลยที่ 3 ไปรังวัดที่ดินแปลงดังกล่าว รวม 4 ครั้ง ปรากฏว่า ได้เนื้อที่ 882 ไร่ 3 งาน 55 ตารางวา ลดลงจากที่ระบุในประกาศอำเภอปักธงชัย จำนวน 33 ไร่ 55 ตารางวา จำเลยที่ 3 เข้าปักหลักคอนกรีต 25 หลัก และหลักเขตที่สาธารณะ 4 หลัก ซึ่งรวมเข้าไปถึงที่ดินของโจทก์ทั้ง 16 แปลง และที่ดินของชาวบ้านอื่นด้วย โจทก์และบุคคลอื่นรวม 10 คน คัดค้านการรังวัด จำเลยที่ 3 ทำรายงานการรังวัดและแผนผังบริเวณที่รังวัดไว้ แต่จนกระทั่งถึงวันฟ้องยังมิได้มีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงให้แก่ที่ทำเลเลี้ยงสัตว์โคกสูง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฝ่ายจำเลยกระทำละเมิดตามฟ้อง เพราะโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินจำนวน 16 แปลง ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) และตามใบ ภ.บ.ท. 5 หรือไม่ โดยโจทก์อ้างเป็นข้อฎีกาสำคัญว่า ที่ดินทั้ง 16 แปลง ของโจทก์มิใช่ที่ทำเลเลี้ยงสัตว์โคกสูงไม่ใช่ที่สาธารณประโยชน์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (1) (2) เบื้องแรกเห็นว่า ในส่วนที่ดินที่โจทก์มีหลักฐานเป็นใบ ภ.บ.ท. 5 ทั้งเจ็ดแปลงนั้น ล้วนเป็นที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ แต่โจทก์อาจมีสิทธิครอบครองได้โดยการครอบครองมาก่อนหรือรับโอนการครอบครองจากผู้ที่ครอบครองมาก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับตามมาตรา 4 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งบัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 6 บุคคลใดได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินนี้ใช้บังคับ ให้มีสิทธิครอบครองสืบไปและให้คุ้มครองตลอดถึงผู้รับโอนด้วย” โดยประมวลกฎหมายที่ดินเริ่มใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2497 เมื่อโจทก์กล่าวมาในฟ้องว่า โจทก์ซื้อที่ดินเหล่านั้นมาจากราษฎรซึ่งมีหลักฐานดังกล่าวท้ายคำฟ้อง โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความว่าผู้ซึ่งมีใบ ภ.บ.ท. 5 เหล่านี้ ได้ครอบครองที่ดินเหล่านั้นมาก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ แต่พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาไม่ปรากฏจากคำเบิกความของพยานโจทก์ปากใดเลยว่า ราษฎรเหล่านั้นได้ครอบครองที่ดินตามหลักฐานใบ ภ.บ.ท. 5 มาก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ ดังนั้น โจทก์จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามบทกฎหมายดังกล่าว และต้องถือว่าที่ดินตามหลักฐานใบ ภ.บ.ท. 5 เป็นของรัฐ การเข้ายึดถือครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่แม้จะเสียภาษีบำรุงท้องที่ก็ตาม เป็นการต้องห้ามตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิอ้างการครอบครองที่ผิดกฎหมายยันรัฐได้ คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐเพื่อมิให้จัดทำแผนที่ตามรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดินที่มีใบ ภ.ท.บ. 5 จึงมีผลเท่ากับโจทก์อ้างการครอบครองที่ผิดกฎหมายยันรัฐ ซึ่งไม่อาจกระทำได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องโดยอ้างสิทธิครอบครองตามหลักฐานใบ ภ.บ.ท. 5 เหล่านี้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)
สำหรับที่ดินอีก 9 แปลง ที่โจทก์มีหลักฐานถือสิทธิครอบครองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ซึ่งจัดทำจากข้อมูลระวางรูปถ่ายทางอากาศ ชื่อ บ้านสุขัง หมายเลข 5338? แผ่นที่ 12 มาแสดงเป็นหลักฐานเพื่อยืนยันการละเมิดของฝ่ายจำเลยตามฟ้องนั้น เห็นว่า แม้ทางราชการจะเคยออกหลักฐานดังกล่าวไว้ในปี 2518 และยังมิได้ถูกเพิกถอน แต่หากปรากฏว่าที่ดินแปลงเหล่านี้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกันอยู่ก่อนหน้าเวลาดังกล่าวแล้ว ก็ย่อมทำให้หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ไม่อาจถือเป็นหลักฐานแสดงสิทธิในที่ดินที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อปรากฏแจ้งชัดตามหนังสือว่า เคยมีกฎกระทรวงฉบับที่ 342 (พ.ศ.2511) ลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2511 ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ประกอบแผนที่ต่อท้ายกฎกระทรวงดังกล่าว กำหนดให้ป่าสูงเนิน ในท้องที่หลายตำบล ซึ่งรวมทั้งตำบลตะคุ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตลอดมา ตราบจนกระทั่งในปี 2527 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเปลี่ยนแปลงมติเดิม (ปี 2506) ในการจำแนกประเภทที่ดินเฉพาะแห่งในท้องที่จังหวัดนครราชสีมา คือ จำแนกป่าไม้ถาวรของชาติซึ่งอยู่นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 15 ป่า อันรวมทั้งป่าดงอีจานใหญ่ (ส่วนหนึ่งของป่าสูงเนินตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวงข้างต้น) เปลี่ยนเป็นอยู่นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติ ให้เป็นที่ทำกินของราษฎรหรือเพื่อใช้ประโยชน์อย่างอื่นโดยมอบหมายให้กรมที่ดินรับไปดำเนินการ จึงบ่งชี้แสดงชัดว่าขณะในปี 2518 ที่ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) นั้น ที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ยังมิได้มีมติคณะรัฐมนตรีเปลี่ยนแปลงเป็นอยู่นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติ การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) จึงเป็นไปโดยไม่ถูกต้อง และโจทก์เองก็ทราบดีขณะรับโอนมาดังเห็นได้จากรายละเอียดในบันทึกถ้อยคำของคู่กรณีผู้ขายและโจทก์ผู้ซื้อในปี 2533 ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ก็ได้แจ้งให้คู่กรณีทราบแล้วว่า ที่ดินเหล่านี้อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งตามกฎหมายอาจมีการยกเลิกเพิกถอนหรือแก้ไขในภายหลัง สำหรับในปัญหาที่ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของที่ทำเลเลี้ยงสัตว์โคกสูงซึ่งราษฎรนำสัตว์มาเลี้ยงร่วมกันอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (2) หรือไม่ ดังข้อฎีกาของโจทก์นั้น ปรากฏหลักฐานเบื้องต้นตามเอกสารที่โจทก์เสนอแสดงเอง ว่าตั้งแต่ปี 2524 นายอำเภอปักธงชัยซึ่งให้เจ้าหน้าที่ออกไปสำรวจตรวจสอบแล้ว ได้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2457 ประกาศว่า ที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ “โคกสูง” บ้านหมู่ที่ 5 ที่ 6 และที่ 13 ตำบลตะคุ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่โดยประมาณ 916 ไร่ เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยจักได้นำขึ้นทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์ไว้เป็นหลักฐานทางราชการต่อไป นอกจากนั้นยังได้ความตามทางนำสืบของจำเลยว่า หลังจากปลายปี 2530 ที่นายสมบูรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมาในสมัยนั้น ซึ่งได้รับหนังสือร้องเรียนจากชาวบ้านตำบลตะคุ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ว่ามีนายทุนบุกรุกที่ทำเลเลี้ยงสัตว์โคกสูงโดยทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ให้โดยมิชอบ และนายสมบูรณ์แจ้งต่อกระทรวงมหาดไทยให้พิจารณา กระทรวงมหาดไทยได้แจ้งกรมที่ดินไปดำเนินการ ซึ่งกรมที่ดินให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาตรวจสอบ ต่อมาในปี 2531 นายอำเภอปักธงชัยซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาให้ดำเนินการตรวจสอบ มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ว่าที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และมีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ให้ที่ดินบางแปลงไปโดยผิดหลงเต็มทั้งระวาง เพราะขณะที่เจ้าหน้าที่ทำการเดินสำรวจนั้นยังไม่ได้มีการขีดเส้นแนวเขตป่าสงวนลงในระวางแผนที่รูปถ่ายทางอากาศชื่อบ้านสุขัง หมายเลข 5338 ? แผ่นที่ 12 ตามหนังสือลงวันที่ 6 และวันที่ 26 พฤษภาคม ตามลำดับ หลังจากนั้นเมื่อล่วงปีถัดมา สำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาปักธงชัย ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีราษฎรร้องเรียนว่า มีนายทุนร่วมกับเจ้าหน้าที่บางคนของอำเภอปักธงชัย นำที่ทำเลเลี้ยงสัตว์โคกสูงซึ่งสงวนไว้สำหรับราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกันไปจัดขาย คณะกรรมการสอบสวนสอบปากคำราษฎรสูงอายุปรากฏต่างให้การว่า เห็นชาวบ้านนำสัตว์ไปเลี้ยงร่วมกันมานานตั้งแต่แต่ละคนยังเป็นเด็ก ตามบันทึกถ้อยคำ สอดคล้องกับข้อเท็จจริงตามบันทึกถ้อยคำของนายไชยา ถ้อยคำของนายไชยาและผู้ให้การในบันทึกถ้อยคำ ชั้นการสอบสวนในปี 2532 จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือและนำมาประกอบการรับฟังได้ว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ซึ่งโจทก์ถือครอง เป็นส่วนหนึ่งของที่ทำเลเลี้ยงสัตว์โคกสูง ที่ราษฎรนำสัตว์มาเลี้ยงร่วมกันตั้งแต่ปี 2473 ก่อนประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติในปี 2511 จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (2) โดยสภาพ แม้นายอำเภอปักธงชัยจะเพิ่งออกประกาศว่าที่ดินดังกล่าวเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินในปี 2524 ภายหลังเวลาที่มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ให้แก่ราษฎรผู้มีชื่อในปี 2518 ก็ไม่มีผลทำให้ที่ดินดังกล่าวไม่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอย่างใด เพราะการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันนั้น แม้ทางราชการไม่ได้ทำหลักฐานขึ้นทะเบียนไว้ ก็ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามกฎหมาย การทำหลักฐานหรือขึ้นทะเบียนซึ่งอาจต้องขออนุญาตผู้มีหน้าที่ดูแลเขตป่าไม้ตามข้อฎีกาของโจทก์นั้น เป็นเพียงวิธีการเพื่อให้ทราบแนวเขต ที่ตั้ง จำนวนเนื้อที่ และการใช้ประโยชน์ในที่ดินเท่านั้น ที่โจทก์มีนายน้อย นายอาจ ผู้ขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) มาเบิกความเป็นพยาน ก็ได้ความเพียงว่า ครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวมาก่อนเบิกความประมาณ 30 ปี ซึ่งก็คือประมาณปี 2515 โดยอ้างว่าเป็นที่ดินตกทอดกันมาแต่ชั้นปู่ย่าตายาย แต่ก็ไม่ปรากฏว่าปู่ย่าตายายเริ่มครอบครองเมื่อใด คำเบิกความจึงมีน้ำหนักน้อย ที่โจทก์ฎีกาโต้แย้งด้วยว่าตามบันทึกถ้อยคำ (ซึ่งเจ้าหน้าที่ทำขึ้นคราวเดียวกับบันทึกถ้อยคำที่จำเลยอ้างถึงถ้อยคำนายไชยา) ของนายลิ ผู้ที่ขณะให้ถ้อยคำในปี 2532 อายุ 73 ปี นายลิยืนยันว่า เป็นผู้เกิดและเติบโตอยู่อาศัยในหมู่ที่ 6 ตำบลตะคุตลอดมา ไม่เคยทราบเรื่องที่สาธารณะโคกสูง แต่นายลิทำนาอยู่ในที่ดินบริเวณที่ชาวบ้านเรียกว่า “โคกสูง” โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1297 อันเป็นหลักฐานสนับสนุนข้ออ้างของโจทก์ว่า ที่พิพาทมิใช่ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันที่พึงนำมาวินิจฉัยแก่คดีของโจทก์นั้น ก็เห็นได้ว่า หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1297 ที่นายลิถือครองก็คือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ที่นายบุญร่วม ผู้คัดค้านอีกรายหนึ่งอ้างเป็นหลักฐานคัดค้านในการที่ฝ่ายจำเลยเข้าไปทำการรังวัดออกหนังสือรับรองสำคัญสำหรับที่หลวงในปี 2542 โดยเฉพาะแปลงที่ดินดังกล่าวยังติดต่อเนื่องกับแปลงที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1318 ของโจทก์เอง ต้องถือว่ามิใช่คนกลาง แต่เป็นผู้มีส่วนประโยชน์ส่วนได้เสีย ถ้อยคำของนายลิจึงไม่มีน้ำหนักสนับสนุนคดีโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มาโดยวินิจฉัยว่า ที่ดินดังกล่าวของโจทก์เป็นส่วนหนึ่งของที่ทำเลเลี้ยงสัตว์โคกสูงซึ่งราษฎรนำสัตว์เลี้ยงมาเลี้ยงร่วมกัน อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (2) ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ