แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ตามสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านกับสำเนาทะเบียนนักเรียนระบุว่า ล. เป็นบิดาโจทก์ ทั้งปรากฏว่าโจทก์ไม่เคยใช้นามสกุลของผู้ตายก็ตาม แต่การที่ผู้ตายรับโจทก์มาอยู่กับผู้ตายที่บ้านและจำเลยที่ 3 ระบุในบัญชีเครือญาติว่าโจทก์เป็นบุตรเจ้ามรดกต่างมารดาเท่ากับยอมรับว่าโจทก์เป็นบุตรของผู้ตาย เมื่อได้ความว่าผู้ตายได้อุปการะเลี้ยงดูและให้โจทก์เรียนตัดเย็บเสี้อผ้า ทั้งผู้ตายยังเป็นเจ้าภาพแต่งงานให้โจทก์ด้วย พฤติการณ์ดังกล่าวที่ผู้ตายแสดงต่อโจทก์ให้เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าโจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมายของผู้ตายที่ผู้ตายได้รับรองแล้ว โจทก์จึงเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลของผู้ตายได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4), 28 (2)
โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำผิดในฐานที่เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งคดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีมูลความผิดตาม ป.อ. มาตรา 354 ประกอบมาตรา 83 แต่มีมูลความผิดตามมาตรา 352 ประกอบมาตรา 83 และเมื่อคดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีมูลความผิดตามมาตรา 352, 83 แล้ว ในการกระทำอันเดียวกันนั้น ย่อมไม่มีมูลความผิดตามมาตรา 354 ประกอบ 86 อีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตาม ป.อ. มาตรา 352, 354, 59, 83 และ 86
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้ตามสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านกับสำเนาทะเบียนนักเรียนระบุว่า นายเลี่ยงฮวดเป็นบิดาโจทก์ ทั้งปรากฏว่าโจทก์ไม่เคยใช้นามสกุลของผู้ตายก็ตาม แต่การที่ผู้ตายรับโจทก์มาอยู่กับผู้ตายที่บ้าน หากโจทก์มิใช่บุตรผู้ตายอันเกิดกับนางยิ่ง มารดาโจทก์แล้ว นางจันทรบุตรคนหนึ่งของผู้ตายกับจำเลยที่ 3 คงไม่เบิกความเป็นประโยชน์ต่อโจทก์ดังกล่าว ข้อเท็จจริงได้ความต่อไปว่าหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยที่ 3 ภริยาผู้ตายได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ตั้งจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยจำเลยที่ 3 ระบุในคำร้องว่าผู้ตายกับจำเลยที่ 3 มีบุตรด้วยกัน 12 คน เป็นชาย 9 คน หญิง 3 คน และมีบุตรสาวต่างมารดา 1 คน กับบุตรบุญธรรม 1 คน ทั้งจำเลยที่ 3 ยังระบุในบัญชีเครือญาติว่าโจทก์เป็นบุตรเจ้ามรดกต่างมารดา เช่นนี้ เห็นได้ว่า จำเลยที่ 3 เองยังยอมรับว่าโจทก์เป็นบุตรผู้ตาย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมายของผู้ตาย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ผู้ตายได้รับรองโจทก์ว่าเป็นบุตรแล้วหรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า หลังจากผู้ตายรับโจทก์มาอยู่ที่บ้านผู้ตายแล้ว ผู้ตายได้อุปการะเลี้ยงดูและให้โจทก์เรียนตัดเย็บเสื้อผ้า ทั้งผู้ตายยังเป็นเจ้าภาพแต่งงานให้โจทก์ด้วย และเมื่อพิเคราะห์ภาพถ่ายครอบครัวผู้ตายเห็นได้ว่าบุคคลในภาพถ่ายเป็นบุคคลในครอบครัวเดียวกัน ไม่มีบุคคลอื่นมาร่วมถ่ายด้วย กล่าวคือนอกจากมีผู้ตายและจำเลยที่ 3 ภริยาผู้ตายแล้วก็มีแต่บุตรผู้ตายทั้งหมด เช่น นายบุญส่ง บุตรบุญธรรม นอกนั้นเป็นบุตรผู้ตายเกิดกับจำเลยที่ 3 โจทก์ยังยืนยันอีกว่า ก่อนตายผู้ตายเขียนหนังสือสัญญาพินัยกรรม พ.ศ. 2536 มีข้อความสรุปได้ว่าผู้ตายมีบุตรชาย 9 คน บุตรสาว 4 คน ข้อเท็จจริงได้ความด้วยว่าหลังจากจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันจัดการมรดกของผู้ตายโดยระบุในบัญชีรายชื่อทายาทผู้ตายมีจำนวน 15 คน รวมทั้งโจทก์ ทั้งยังระบุไว้ชัดแจ้งว่าโจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกด้วย เห็นได้ว่าตามพฤติการณ์ต่าง ๆ ดังกล่าว ผู้ตายแสดงต่อโจทก์ให้เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าโจทก์เป็นบุตรด้วยคนหนึ่ง จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ย่อมทราบดี จึงร่วมกันจัดทำเอกสารการจัดการมรดกของผู้ตายดังกล่าวขึ้น คดีฟังได้ว่า โจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมายของผู้ตายที่ผู้ตายได้รับรองแล้ว โจทก์จึงเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 ดังนั้นโจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4), 28 (2)
ที่โจทก์ฎีกาต่อมาว่า คดีโจทก์มีมูลว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องนั้น เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังมิได้วินิจฉัย แต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในสำนวนพอแก่การวินิจฉัยข้อกฎหมายได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยใหม่ ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนางจันทร พยานโจทก์ว่า เมื่อปี 2533 ผู้ตายเคยบอกว่าซื้อที่ดินทั้ง 3 แปลงตามฟ้อง แต่ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไว้แทน เนื่องจากผู้ตายมีที่ดินจำนวนมากอาจถูกสำนักงานปฏิรูปที่ดินยึดคืนไป ซึ่งคำเบิกความดังกล่าวสอดคล้องกับข้อความในหนังสือสัญญาพินัยกรรม พ.ศ. 2536 ที่ว่า ผู้ตายเป็นผู้ออกเงินซื้อที่ดินทั้ง 3 แปลงดังกล่าวและใส่ชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 แทน นอกจากนี้โจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมดังกล่าวด้วย เห็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมดังกล่าวเช่นนี้ย่อมทราบข้อความดังกล่าวดี การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มิได้นำที่ดินทั้ง 3 แปลงตามที่ระบุไว้ไปเป็นมรดกของผู้ตายโดยมิได้ระบุในรายการทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้าง เอกสารการจัดการมรดกของผู้ตาย การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จึงมีมูลความผิดฐานยักยอกตามฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นเพียงผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลชั้นต้น จำเลยที่ 4 และที่ 5 มิได้เป็นทายาทของผู้ตายและมิได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมดังกล่าว เมื่อที่ดินทั้ง 3 แปลงดังกล่าวมีชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ จำเลยที่ 4 และที่ 5 ย่อมเชื่อว่าที่ดินทั้ง 3 แปลง ดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมิได้นำมาระบุไว้เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย ทั้งโจทก์ก็มิได้นำสืบให้เห็นว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5 รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเพียงผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้ง 3 แปลง แทนผู้ตายหรือจำเลยที่ 4 และที่ 5 รู้เห็นในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อย่างไร คดีเฉพาะจำเลยที่ 4 และที่ 5 ไม่มีมูลอันเป็นความผิดตามฟ้อง
อนึ่ง เมื่อได้ความตามทางไต่สวนมูลฟ้องว่า เฉพาะจำเลยที่ 3 เท่านั้นซึ่งคดีมีมูลว่าได้กระทำผิดในฐานที่เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ตาม ป.อ. มาตรา 354 ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 แม้ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 3 ด้วยก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามคำฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำผิดในฐานที่เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล คดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีมูลความผิดตาม ป.อ. มาตาม 354 ประกอบด้วยมาตรา 83 แต่มีมูลความผิดตามมาตรา 352 ประกอบด้วยมาตรา 83 และเมื่อคดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีมูลความผิดตามมาตรา 352, 83 แล้ว ในการกระทำอันเดียวกันนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมไม่มีมูลเป็นความผิดตามมาตรา 354 ประกอบมาตรา 86 อีก
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ประทับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาตาม ป.อ. มาตรา 352 ประกอบด้วยมาตรา 83 ส่วนจำเลยที่ 3 ให้ประทับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาตาม ป.อ. มาตรา 352, 354 ประกอบด้วยมาตรา 83 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1.