คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 135/2547

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยลงข่าวประกาศทางหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นความเท็จโดยทุจริต เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 ที่ได้อ่านข่าวหลงเชื่อจึงไปติดต่อและมอบเงินให้จำเลย จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน
ความผิดฐานฉ้อโกงผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 7 และความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนต่อผู้เสียหายที่ 2 เป็นการกระทำต่างวันเวลาและต่างบุคคลกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม 2537 ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2539 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันตลอดมาจำเลยกับพวกได้ร่วมกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงอันควรบอกให้แจ้งโดยการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ประกาศแพร่ข่าวชักชวนต่อประชาชนตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปว่า บริษัทดาต้า จำกัด ซึ่งจำเลยกับพวกได้ร่วมกันก่อตั้งมีความต้องการรับสมัครพนักงานหลายตำแหน่งเพื่อร่วมประกอบธุรกิจเป็นตัวแทนในการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้ากับตลาดในประเทศญี่ปุ่นและประเทศฟิลิปปินส์โดยชักชวนให้ผู้สมัครงานหรือผู้สนใจลงทุนนำเงินมาลงทุนหรือหาลูกค้านำเงินมาลงทุนจะได้รับกำไรดี ซึ่งความจริงแล้วบริษัทดาต้า จำกัด ไม่ได้ประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและไม่ได้เป็นตัวแทนซื้อขายสินค้ากับตลาดในประเทศญี่ปุ่นหรือประเทศฟิลิปปินส์ดังที่จำเลยกับพวกร่วมกันกล่าวอ้างแต่อย่างใด เพียงแต่เจตนาทุจริตหลอกลวงให้ประชาชนมาร่วมลงทุนหรือมาสมัครงานเพื่อฉ้อโกงเงินเป็นเหตุให้นางสาวรวิวรรณ อำพันทอง ผู้เสียหายที่ 1 หลงเชื่อถูกหลอกลวงเงินไปจำนวน 960,000 บาท นายสุทธิชัย เอื้ออารีย์พิชิต ผู้เสียหายที่ 2 ถูกหลอกลวงเงินไปจำนวน 746,500 บาท นางสาวแก้วตา ลักษณะ ผู้เสียหายที่ 3 ถูกหลอกลวงไปเป็นเงิน 500,000 บาท นางสาววิจิตรา หรีดอุไร ผู้เสียหายที่ 4 ถูกหลอกลวงเงินไปจำนวน 920,000 บาท นางสาวศิริพร สุจริต ผู้เสียหายที่ 5 ถูกหลอกลวงเงินไปจำนวน 200,000 บาท นางสาวอังคณา สุเมธาคุณ ผู้เสียหายที่ 6 ถูกหลอกลวงเงินไปจำนวน 122,000 บาท และนางสาวนิภา ลี้ปิยะสกุลชัย ผู้เสียหายที่ 7 ถูกหลอกลวงเงินไปจำนวน 800,000 บาท รวมแล้วเป็นเงินที่ผู้เสียหายทั้งเจ็ดถูกหลอกลวงเงินไปทั้งสิ้น4,248,500 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343, 83, 91 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 4,248,500 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งเจ็ด และนับโทษจำเลยต่อจากโทษคดีดังกล่าว

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีอาญาที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 434วรรคแรก (ที่ถูก 343 วรรคแรก) ให้จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 7 กระทง จำคุก 35 ปี แต่โทษจำคุกแต่ละกระทงอย่างสูงเกิน 3 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี ตามมาตรา 91 คงให้จำคุกจำเลยมีกำหนด 20 ปี ให้จำเลยคืนเงินให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 844,620 บาท ให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 746,500 บาท ให้แก่ผู้เสียหายที่ 3 จำนวน 498,600 บาท ให้แก่ผู้เสียหายที่ 4 จำนวน 920,000 บาท ให้แก่ผู้เสียหายที่ 5 จำนวน 200,000 บาท ให้แก่ผู้เสียหายที่ 6 จำนวน 122,000 บาท และให้แก่ผู้เสียหายที่ 7 จำนวน 800,000 บาท กับให้นับโทษจำคุกของจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 9161/2543 ของศาลชั้นต้น

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 343 (ที่ถูก 343 วรรคแรก), 83 ฐานฉ้อโกงเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระให้จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 6 กระทง ฐานฉ้อโกงประชาชนจำคุก 5 ปี รวมแล้วคงจำคุก20 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งฟังได้ว่า จำเลยและนายโสภณ จ่างผล กับพวก กระทำหนังสือบริคณห์สนธิเพื่อตั้งบริษัทดาต้า จำกัด ขึ้นเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2537 มีสำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 21/7 อาคาร ที อาร์ เอส หมู่ที่ 14 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม2537 ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2539 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน บริษัทดาต้า จำกัด ได้โฆษณาทางหนังสือพิมพ์ประกาศแพร่ข่าวชักชวนประชาชนว่าบริษัทดาต้า จำกัดเป็นบริษัทที่มั่นคง ประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ต้องการรับสมัครพนักงานหรือบุคลากรเพิ่มหลายตำแหน่ง เช่น เจ้าหน้าที่การเงิน การบัญชี เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์หน้าที่อื่น ๆ และโฆษณาชักชวนให้บุคคลทั่วไปนำเงินมาลงทุนในธุรกิจรูปแบบใหม่กับบริษัทซึ่งให้ผลตอบแทนสูง เมื่อมีผู้สนใจมาลงทุนหรือสมัครงาน จำเลยกับพวกจะรับไว้แล้วจัดอบรมวิธีการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าโดยบอกว่า บริษัทประกอบธุรกิจเป็นตัวแทนในการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้ากับตลาดโตเกียวในประเทศญี่ปุ่นและประเทศฟิลิปปินส์ กับชักชวนให้ผู้สมัครงานหรือผู้สนใจลงทุนนำเงินทุนมาลงทุนหรือหาลูกค้านำเงินมาลงทุนกับบริษัทหากผู้สมัครสามารถหาลูกค้ามาเปิดบัญชีลงทุนกับบริษัทจะได้รับค่านายหน้าหรือค่าคอมมิชชันยูนิตละ 300 บาท ในการลงทุนจะต้องเปิดบัญชีไว้อย่างน้อย 5 ยูนิต เป็นเงิน 80,000 บาท เมื่อมีการสั่งซื้อสั่งขายสินค้า ทางบริษัทจะส่งคำสั่งซื้อหรือสั่งขายไปที่ตลาดในประเทศญี่ปุ่นหรือประเทศฟิลิปปินส์ หากได้รับผลกำไรบริษัทจะนำเงินเข้าบัญชีให้ ซึ่งความจริงแล้วบริษัทดาต้า จำกัด ไม่ได้ประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและไม่ได้เป็นตัวแทนซื้อขายสินค้าที่ประเทศญี่ปุ่นหรือประเทศฟิลิปปินส์จากการหลอกลวงทำให้ผู้เสียหายทั้งเจ็ดมอบเงินให้แก่บริษัทดาต้า จำกัด มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาประการแรกว่าจำเลยได้ร่วมกระทำผิดกับนายโสภณกับพวกต่อผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 7 ตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายที่ 3 ถึงที่ 7 และนางสาวดรัลพร อมรโมฬี เบิกความว่า จำเลยร่วมกับนายโสภณและพวกของจำเลยได้อบรมบุคคลที่สมัครงาน โดยเฉพาะจำเลยเป็นผู้โทรศัพท์ชักชวนผู้เสียหายที่ 6 ให้ร่วมลงทุนถึง 3 ครั้ง เมื่อผู้เสียหายที่ 6 มาลงทุนตามคำชักชวนของจำเลย จำเลยเป็นผู้รับเงินจำนวน 100,000 บาท ไว้จากผู้เสียหายที่ 6 และยังเป็นผู้แนะนำผู้เสียหายที่ 5 ให้สั่งซื้อสินค้าเกษตรบางรายการด้วย ส่วนจำเลยนำสืบโดยเบิกความเป็นพยานตนเองว่า จำเลยเป็นพนักงานของบริษัทดาต้า จำกัด เท่านั้น จำเลยทำงานได้ประมาณ4 เดือน ก็ลาออกไปเปิดบริษัทใหม่ ซึ่งทำธุรกิจเช่นเดียวกับบริษัทดาต้า จำกัด เห็นว่า พยานโจทก์ต่างเบิกความสอดคล้องกัน โดยเฉพาะนางสาวดรัลพรก็เป็นพนักงานของบริษัทดาต้า จำกัด มิใช่ผู้เสียหายคำเบิกความของพยานดังกล่าวเชื่อว่าเป็นความจริง จำเลยเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทดาต้า จำกัด โดยเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทดาต้า จำกัด ที่มีนายโสภณเป็นกรรมการ การที่จำเลยเข้าไปร่วมทำงานโดยอบรมพนักงานของบริษัท ชักชวนให้มีการร่วมลงทุนกับบริษัทเพื่อซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ทั้ง ๆ ที่บริษัทดาต้าจำกัด มิได้ดำเนินกิจการดังกล่าว พฤติการณ์ดังกล่าวเห็นได้ว่าจำเลยร่วมกับนายโสภณกับพวกตั้งบริษัทดาต้า จำกัด เพื่อฉ้อโกงบุคคลอื่น ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าจำเลยร่วมกระทำความผิดฐานฉ้อโกงผู้เสียหายร่วมกับนายโสภณกับพวกด้วย ข้ออ้างจำเลยที่ว่าเป็นเพียงพนักงานของบริษัทดาต้า จำกัด ฟังไม่ขึ้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการต่อไปในปัญหาข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยต่อผู้เสียหายที่ 2 นั้นถือเป็นการฉ้อโกงประชาชนหรือไม่ เห็นว่า การลงข่าวประกาศทางหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจซึ่งเป็นความเท็จ โดยทุจริตของบริษัทดาต้า จำกัด เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 ที่ได้อ่านข่าวหลงเชื่อจึงไปติดต่อและมอบเงินให้จำเลยกับพวก การกระทำของจำเลยกับพวกสำหรับผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามจำเลยฎีกาประการต่อไปว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานฉ้อโกงผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 7 และความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนต่อผู้เสียหายที่ 2 นั้น เป็นการกระทำต่างวันเวลาและต่างบุคคลกันเป็นความผิดหลายกรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 มิใช่ความผิดกรรมเดียวตามที่จำเลยฎีกา จำเลยฎีกาประการสุดท้ายว่า ขอให้ลงโทษจำเลยสถานเบา เห็นว่า คดีส่วนที่เกี่ยวกับผู้เสียหายที่ 2ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จึงไม่รับวินิจฉัย”

พิพากษายืน

Share