คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8658/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สิทธิในการได้รับค่าขาดไร้อุปการะที่โจทก์ร่วมซึ่งเป็นมารดาผู้ตายกับเด็กหญิง ธ. และเด็กชาย อ. บุตรทั้งสองของผู้ตายจะเรียกจากผู้ทำละเมิดเป็นสิทธิเฉพาะตัวของแต่ละคน โจทก์ร่วมเป็นย่ามิใช่ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้แทนเฉพาะคดีของบุตรทั้งสองของผู้ตายอันจะถือได้ว่ามีสิทธิยื่นคำร้องในนามบุตรของผู้ตายได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 ประกอบกับ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ทั้งมารดาของบุตรทั้งสองของผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ โจทก์ร่วมย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะแทนบุตรทั้งสองของผู้ตายได้ คงมีสิทธิเฉพาะในส่วนของตนเท่านั้น ที่ศาลชั้นต้นรับคำร้องของโจทก์ร่วมในส่วนที่โจทก์ร่วมขอให้จำเลยทั้งสามชำระค่าขาดไร้อุปการะแทนบุตรทั้งสองของผู้ตายด้วย จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 80, 83, 91, 92, 288, 289 (4), 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบอาวุธปืนพก 1 กระบอก และหัวกระสุนปืน 2 ลูก ของกลาง และเพิ่มโทษจำเลยทั้งสามหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 และนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2870/2555 ของศาลจังหวัดนครราชสีมา และต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1644/2556 ของศาลชั้นต้น และนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2870/2555 ของศาลจังหวัดนครราชสีมา และนับโทษจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1677/2555 ของศาลจังหวัดนครราชสีมา
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
จำเลยที่ 3 ให้การรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา นางสมควรมารดานายธันยากร ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และโจทก์ร่วมยื่นคำร้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพและค่ารักษาพยาบาลผู้ตายเป็นเงิน 124,300 บาท และค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ร่วมและบุตรผู้ตายสองคน อายุ 9 ปี และ 4 ปี เป็นเงิน 1,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,124,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันยื่นคำร้องจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80, 83 และมาตรา 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ให้จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 1 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 6 เดือน ส่วนที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษนั้น เมื่อลงโทษจำคุกคนละประหารชีวิต แล้วจึงไม่อาจเพิ่มโทษได้อีก ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 และที่ 3 และคำให้การรับสารภาพฐานมีและพาอาวุธปืนของจำเลยที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) คงให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำคุกตลอดชีวิต ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 8 เดือน และฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 4 เดือน เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) และให้นับโทษจำเลยที่ 1 คดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1644/2556 ของศาลชั้นต้น ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2870/2555 ของศาลจังหวัดนครราชสีมา และนับโทษจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1677/2555 ของศาลจังหวัดนครราชสีมานั้น เนื่องจากคดีทั้งสองดังกล่าวจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถูกจำคุกจนพ้นโทษแล้วจึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ยกคำขอในส่วนนี้ ริบอาวุธปืนพก 1 กระบอก และหัวกระสุนปืน 2 ลูก ของกลาง และให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 1,124,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันยื่นคำร้องวันที่ 30 กรกฎาคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 288 ประกอบมาตรา 80, 83 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกตลอดชีวิต ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกคนละ 33 ปี 4 เดือน เมื่อรวมกับโทษฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นจำคุกคนละ 33 ปี 16 เดือน ไม่เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ขับรถกระบะยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน บว 5467 ระยอง มีนายอธิพงษ์นั่งที่เบาะหน้า จำเลยที่ 2 และนางสาวจริยาหรือแนนนั่งในแคปเบาะหลัง ส่วนจำเลยที่ 3 นั่งที่กระบะตอนท้ายเข้าไปที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท. หนองกระพ้อ ริมถนนสุขุมวิท หมู่ที่ 6 ตำบลทุ่งควายกิน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุ จากนั้นจำเลยที่ 3 กระโดดลงจากรถใช้อาวุธปืนพก ขนาด .38 ยิงเข้าไปในรถยนต์เก๋งยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน ศร 8521 กรุงเทพมหานคร ที่จอดอยู่บริเวณหน้าร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นหลายนัด กระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่ 1 ที่หน้าอกด้านซ้ายและถูกผู้เสียหายที่ 2 ที่สะบักขวาทะลุไหล่ขวาได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายสาหัส ส่วนนายธันยากรที่นั่งเบาะหลังถูกกระสุนปืนถึงแก่ความตาย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า ผู้เสียหายที่ 1 และจำเลยที่ 2 เคยเป็นคนรักกันมาก่อน ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้เสียหายที่ 1 อย่างรุนแรงจนถึงขนาดเป็นสาเหตุที่จะต้องฆ่ากัน แม้ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 จะโทรศัพท์สอบถามผู้เสียหายที่ 1 ว่าอยู่ที่ไหนก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติของคนที่เคยเป็นคนรักกันจะสอบถามกันได้ ผู้เสียหายที่ 1 เป็นฝ่ายโทรศัพท์ขอยืมเงินจากจำเลยที่ 2 จำนวน 300 บาท เพื่อเติมน้ำมันรถเพราะผู้เสียหายที่ 1 และผู้เสียหายที่ 2 กับผู้ตายต่างไม่มีเงินที่จะเติมน้ำมันรถและนัดพบกับจำเลยที่ 2 ที่บริเวณสถานีบริการน้ำมัน ปตท.ที่เกิดเหตุ ส่วนการที่จำเลยที่ 2 นั่งรถกระบะไปกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 นั้น ก็ได้ความจากนายอธิพงษ์พยานโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านได้ความว่า คืนเกิดเหตุพยานทราบว่าจำเลยที่ 1 จะไปส่งจำเลยที่ 2 ไปรายงานตัวเกี่ยวกับคดีที่ศาลจังหวัดสระแก้วในวันรุ่งขึ้น คนทั้งหมดรวมทั้งพยานจึงเดินทางไปในรถกระบะด้วยกัน นอกจากนี้นายอธิพงษ์ได้ให้การในชั้นสอบสวนว่า นายอธิพงษ์ทราบว่าสาเหตุคดีนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับยาเสพติดที่ผู้เสียหายที่ 1 กับจำเลยที่ 1 เป็นหนี้กันอยู่ อีกทั้งยังได้ความจากผู้เสียหายที่ 2 เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 และที่ 3 ถามค้านว่า ผู้เสียหายที่ 2 ทราบดีว่าผู้เสียหายที่ 1 เกี่ยวข้องโดยเป็นทั้งผู้ขายยาเสพติดและผู้เสพยาเสพติดด้วย ดังนี้ จึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าเหตุคดีนี้เกิดขึ้นเนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับการขายยาเสพติดกัน พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวด้วยแต่อย่างใด คงได้ความเพียงว่าผู้เสียหายที่ 1 โทรศัพท์ขอยืมเงินจากจำเลยที่ 2 เพื่อเติมน้ำมันรถ ส่วนการที่จำเลยที่ 2 มากับรถกระบะของจำเลยที่ 1 ก็เพราะจะให้จำเลยที่ 1 ไปส่งที่ศาลจังหวัดสระแก้วเพื่อรายงานตัวเกี่ยวกับคดีเท่านั้น พยานโจทก์และโจทก์ร่วมยังมีเหตุสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 หรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสองนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 เป็นการกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ตามที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 มิได้ฎีกาโต้เถียงว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นจริง ปัญหาว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 กระทำความผิดโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่นั้น ดังที่ได้วินิจฉัยมาตอนต้นแล้วว่าเหตุคดีนี้เชื่อว่าเกิดจากปัญหาเกี่ยวกับการขายยาเสพติดกัน การที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 มาพบผู้เสียหายที่ 1 และผู้เสียหายที่ 2 กับผู้ตายในสถานีบริการน้ำมัน ปตท.ที่เกิดเหตุก็เพราะผู้เสียหายที่ 1 โทรศัพท์ขอยืมเงินจากจำเลยที่ 2 ซึ่งนั่งอยู่ในรถกระบะของจำเลยที่ 1 ที่กำลังจะพาจำเลยที่ 2 ไปรายงานตัวเกี่ยวกับคดีที่ศาลจังหวัดสระแก้ว จึงได้ขับรถเข้ามาในที่เกิดเหตุและพบกันดังกล่าว พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ได้มีการวางแผนหรือตระเตรียมการเพื่อฆ่าและพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 และผู้ตายกับพวกอย่างไรอันเป็นการบ่งชี้ได้ว่าเป็นการกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ความผิดฐานฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนมีระวางโทษหนักถึงประหารชีวิต เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้อย่างมั่นคง จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยฟังว่าการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 มิใช่เป็นการกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อนนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้เพิ่มโทษแก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ตามฟ้องนั้น เห็นว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ฉบับลงวันที่ 5 สิงหาคม 2556 จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ให้การรับเพียงว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อเท่านั้น มิได้รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษด้วย เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้ฟังได้แน่ชัดตามที่กล่าวมาในฟ้อง จึงไม่อาจเพิ่มโทษแก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้จำเลยทั้งสามรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมายทั้งของโจทก์ร่วมและบุตรทั้งสองของผู้ตาย คือ เด็กหญิง ธ. อายุ 9 ปี และเด็กชาย อ. อายุ 4 ปี รวมเป็นเงิน 1,000,000 บาท ซึ่งศาลล่างทั้งสองกำหนดให้ตามขอนั้น เห็นว่า สิทธิในการได้รับค่าขาดไร้อุปการะที่โจทก์ร่วมซึ่งเป็นมารดาผู้ตายกับเด็กหญิง ธ. และเด็กชาย อ. บุตรทั้งสองของผู้ตายจะเรียกจากผู้ทำละเมิดเป็นสิทธิเฉพาะตัวของแต่ละคน โจทก์ร่วมเป็นย่ามิใช่ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้แทนเฉพาะคดีของบุตรทั้งสองของผู้ตายอันจะถือได้ว่ามีสิทธิยื่นคำร้องในนามบุตรของผู้ตายได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ทั้งข้อเท็จจริงยังได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ร่วมตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านได้ความว่า มารดาของบุตรทั้งสองของผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ โจทก์ร่วมย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะแทนบุตรทั้งสองของผู้ตายได้ คงมีสิทธิเฉพาะในส่วนของตนเท่านั้น ดังนี้ ที่ศาลชั้นต้นรับคำร้องของโจทก์ร่วมในส่วนที่โจทก์ร่วมขอให้จำเลยทั้งสามชำระค่าขาดไร้อุปการะแทนบุตรทั้งสองของผู้ตายด้วย จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ส่วนปัญหาว่าโจทก์ร่วมมีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะเพียงใดนั้น ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ร่วมและบุตรทั้งสองของผู้ตายรวม 1,000,000 บาท โดยมิได้แยกว่าแต่ละคนมีสิทธิได้รับคนละเท่าใด ประกอบกับโจทก์ร่วมสืบพยานในส่วนค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ร่วมมาแล้ว จึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัย เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะผู้ตายมีชีวิตอยู่ได้ส่งเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ร่วมและบุตรทั้งสองของผู้ตายเดือนละ 6,000 บาท ขณะผู้ตายถึงแก่ความตายมีอายุ 26 ปี ส่วนโจทก์ร่วมอายุ 65 ปี ก่อนตายผู้ตายประกอบอาชีพทำสวนอยู่กับโจทก์ร่วม แต่ไม่ปรากฏว่ามีรายได้เท่าไหร่ โจทก์ร่วมน่าจะมีโอกาสได้รับการอุปการะตามกฎหมายได้ไม่น้อยกว่า 10 ปี จึงเห็นควรกำหนดค่าขาดไร้อุปการะให้แก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 300,000 บาท และที่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้สั่งค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนแพ่งมานั้นศาลฎีกาเห็นสมควรสั่งให้ถูกต้อง
สำหรับความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 (เดิม) มีระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท จึงมีอายุความหนึ่งปี นับแต่วันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (5) ปรากฏว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นคดีนี้ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2556 เมื่อนับแต่วันที่ 27 เมษายน 2555 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำความผิดแล้วเป็นเวลาเกินกว่าหนึ่งปี ความผิดฐานนี้จึงขาดอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 (เดิม) จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จะไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ยกคำร้องของโจทก์ร่วมที่ขอให้จำเลยทั้งสามชำระค่าขาดไร้อุปการะในส่วนของบุตรทั้งสองของผู้ตาย ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 300,000 บาท เมื่อรวมกับค่าสินไหมทดแทนอื่นแล้วเป็นเงิน 424,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันยื่นคำร้อง (วันที่ 30 กรกฎาคม 2556) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share