คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3198/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม มิได้บังคับให้จำเลยฟ้องแย้งมาในคำให้การแต่ให้จำเลยเลือกฟ้องแย้งมาในคำให้การหรือจะฟ้องเป็นคดีใหม่ก็ได้ การฟ้องคดีของโจทก์ที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงจนกว่าคดีจะได้วินิจฉัยถึงที่สุดหรือเสร็จไปโดยประการอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(2) เป็นผลเฉพาะโจทก์ไม่เป็นคุณแก่จำเลยผู้ฟ้องแย้งด้วย เมื่อจำเลยฟ้องแย้งพ้นเวลา 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยรู้ถึงเหตุแห่งการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงขาดอายุความ
อุทธรณ์ของจำเลยมีทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์เฉพาะเรื่องอายุความซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมาย จำเลยมิได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์ข้อเท็จจริง จึงยุติไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น และมีปัญหาชั้นอุทธรณ์เพียงว่าฟ้องแย้งขาดอายุความหรือไม่เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2540 จำเลยขับรถคันหมายเลขทะเบียน 3 ช – 7340 กรุงเทพมหานคร จากถนนตรีเพชรเลี้ยวขวาเข้ามาในถนนจักรเพชรโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนกับรถคันหมายเลขทะเบียน 4 ฎ – 8318 กรุงเทพมหานคร เสียหายเป็นเงิน 9,500 บาท โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าซ่อมรถคันดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าซ่อมรถจำนวนดังกล่าวพร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินให้แก่โจทก์แล้วเสร็จ

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยมิได้ขับรถชนรถที่โจทก์รับประกันภัย แต่เนื่องจากที่เกิดเหตุเป็นทางโค้งรถคันที่โจทก์รับประกันภัยแล่นมาด้วยความเร็วสูงและเสียหลัก จึงแฉลบเข้ามาชนรถจำเลยซึ่งจอดรอเลี้ยวขวาอยู่ เป็นเหตุให้รถจำเลยได้รับความเสียหายเป็นเงิน 12,000 บาท ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยพร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับวันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระแล้วเสร็จ

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า นายสมาน มะโหรี ผู้ขับรถคันที่โจทก์รับประกันภัยมิได้ประมาท และจำเลยยอมรับว่าขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหายโดยยอมเสียค่าปรับให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ฟ้องแย้งของจำเลยขาดอายุความ เนื่องจากฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่วันเกิดเหตุ ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ 8,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้อง (30 มีนาคม 2541) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องแย้ง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาตามฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายมีว่า ฟ้องแย้งขาดอายุความฟ้องร้องหรือไม่ คดีนี้ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันไม่เกินห้าหมื่นบาท คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์และฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง และมาตรา 248 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายซึ่งในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องถือข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน เมื่อเหตุละเมิดเกิดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2540 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2541 จำเลยให้การแก้คดีและฟ้องแย้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2541 ตามบทวิเคราะห์ศัพท์ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(3) บัญญัติว่า “คำฟ้อง” หมายความว่า กระบวนพิจารณาใด ๆ ที่โจทก์ได้เสนอข้อหาต่อศาล ไม่ว่าจะได้เสนอด้วยวาจาหรือทำเป็นหนังสือ ไม่ว่าจะได้เสนอต่อศาลชั้นต้นหรือชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา ไม่ว่าจะได้เสนอในขณะที่เริ่มคดีโดยคำฟ้องหรือคำร้องขอ หรือเสนอในภายหลังโดยคำฟ้องเพิ่มเติมหรือแก้ไขหรือฟ้องแย้ง ดังนั้น ฟ้องแย้งก็เป็นฟ้องอย่างหนึ่งที่จะต้องเข้าลักษณะทั่วไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 คือ ตามฟ้องนั้นมีสิทธิและหน้าที่ของบุคคลตามกฎหมายแพ่งโต้แย้งกันอยู่พร้อมบริบูรณ์แล้วจึงจะฟ้องร้องกันได้ เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม ที่บัญญัติให้จำเลยฟ้องแย้งมาในคำให้การได้นั้น มิได้บังคับให้จำเลยฟ้องแย้งมาในคำให้การ แต่เป็นบทบัญญัติให้จำเลยเลือกฟ้องแย้งมาในคำให้การก็ได้หรือจะฟ้องเป็นคดีใหม่ก็ได้ตามแต่จำเลยจะเห็นสมควร แต่การที่จำเลยฟ้องแย้งโจทก์โดยกล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นผู้กระทำละเมิด ขอให้ชดใช้ค่าเสียหายจำเลยจึงเป็นเจ้าหนี้ โจทก์กลายเป็นลูกหนี้ ซึ่งเป็นคนละฝ่ายกับคดีที่โจทก์ฟ้อง ดังนั้น การฟ้องคดีของโจทก์ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงจนกว่าคดีจะได้วินิจฉัยถึงที่สุดหรือเสร็จไปโดยประการอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/14(2) ก็เป็นผลเฉพาะโจทก์เท่านั้น ไม่เป็นคุณแก่จำเลยผู้ฟ้องแย้งด้วย เมื่อจำเลยฟ้องแย้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2541 จึงพ้นระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยรู้ถึงเหตุแห่งการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ฟ้องแย้งของจำเลยจึงขาดอายุความแล้วที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงให้จำเลยเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น เห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยมีทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์เฉพาะปัญหาเรื่องอายุความซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายเท่านั้น จำเลยก็มิได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ข้อเท็จจริงแต่ประการใด จึงต้องยุติไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น และมีปัญหาชั้นอุทธรณ์เพียงว่าฟ้องแย้งขาดอายุความหรือไม่ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเฉพาะข้อกฎหมายดังกล่าว โดยไม่วินิจฉัยข้อเท็จจริงเป็นการชอบด้วยพิจารณาความตามกฎหมายแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน”

พิพากษายืน

Share