คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5963/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สิทธิในที่ดินที่โจทก์ทั้งสองได้มาในฐานะเป็นผู้ชนะคดีตามคำพิพากษาอันถึงที่สุด และข้อตกลงในชั้นบังคับคดีระหว่างโจทก์ทั้งสองกับผู้แพ้คดีนั้นเป็นการได้สิทธิโดยผลของคำพิพากษา จึงแตกต่างกับสิทธิในที่ดินที่โจทก์ทั้งสองได้มาโดยทางมรดกในฐานะที่เป็นทายาท ซึ่งถือว่าโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินแทนที่เจ้ามรดก แม้การได้สิทธิในที่ดินดังกล่าวตามคำพิพากษาโจทก์ทั้งสองจะอ้างว่าเป็นทายาทของเจ้ามรดกก็หาใช่การได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินโดยทางมรดกโดยทั่วไปอันจะต้องดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามลำดับขั้นตอนตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 81 ประกอบด้วยกฎกระทรวงฉบับที่ 24(พ.ศ. 2516) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 และระเบียบของกรมที่ดินว่าด้วยการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้มาโดยทางมรดก พ.ศ. 2516 ให้เสร็จสิ้นเสียชั้นหนึ่งก่อนไม่ โจทก์ทั้งสองชอบที่จะขอจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมได้ทันที แม้ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องจะเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาก็เห็นสมควรไม่หยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งร่วมกับนายปรีชาโดยผลของคำพิพากษาศาลอันถึงที่สุด และข้อตกลงในชั้นบังคับคดี โดยนายปรีชายอมยกที่ดินส่วนทางด้านทิศใต้ให้เป็นของโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด และจำเลยที่ 3 เป็นหัวหน้าฝ่ายทะเบียนสำนักงานที่ดินซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในบังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ไม่ยอมจัดการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ให้ตามที่โจทก์ทั้งสองขอให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 จัดการให้เป็นไปตามคำพิพากษาและข้อตกลงในชั้นบังคับคดีดังกล่าว จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสามแบ่งแยกที่ดินออกเป็นสองส่วนเท่า ๆ กัน และจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมลงชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของร่วมกันในส่วนทางด้านทิศใต้
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ทั้งสองยังมิได้มีการรับมรดกให้เรียบร้อยตามกฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2516) ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2516 ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ออกระเบียบว่าด้วยการจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้มาโดยทางมรดก พ.ศ. 2516 การที่โจทก์ทั้งสองมาฟ้องขอให้แบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมเป็นกรณียังมิได้มีข้อพิพาทในการโต้แย้งสิทธิกับจำเลยทั้งสามไม่มีเหตุที่จะต้องใช้สิทธิทางศาล ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยทั้งสามจำต้องปฏิบัติตามกฎหมายและรเบียบให้ถูกต้อง จำเลยที่ 3 เพิ่งย้ายมารับราชการที่สำนักงานที่ดินดังกล่าว หลังจากโจทก์ทั้งสองยื่นเรื่องขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมไม่เคยพิจารณาเรื่องดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ดำเนินการแบ่งแยกที่ดินออกเป็นสองส่วนเท่า ๆ กัน แล้วจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนเจ้ามรดกในส่วนทางวด้านทิศใต้เพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 ที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบและมิได้โต้เถียงในชั้นฎีการับฟังเป็นที่ยุติว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 เป็นบุตรและภริยาของนายมานพ ชัยเจริญที่ดินโฉนดเลขที่ 3679 ตำบลดอนมะตอบอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เนื้อที่ 92 ไร่ 28 ตารางวามีชื่อนายมานพและนายปรีชาถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน นายมานพถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2513 ต่อมาวันที่ 7 กันยายน 2522 โจทก์ทั้งสองได้ยื่นฟ้องนายปรีชาต่อศาลจังหวัดราชบุรีขอให้แบ่งแยกที่ดินดังกล่าวครึ่งหนึ่งทางด้านทิศใต้แก่โจทก์ทั้งสอง นายปรีชาต่อสู้อ้างว่าที่ดินทั้งโฉนดตกเป็นกรรมสิทธิ์ของตนโดยการครอบครองปรปักษ์ศาลจังหวัดราชบุรีวินิจฉัยว่า กรรมสิทธิ์ที่ดินในส่วนของนายมานพไม่ตกเป็นของนายปรีชา โจทก์ท้งสองเป็นทายาทย่อมมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาทส่วนของนายมานพพิพากษาให้โจทก์กับนายปรีชาจัดการแบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป้นสองส่วน ๆ ละ 46 ไร่ 14 ตารางวา โดยให้โจทก์ทั้งสองได้ส่วนหนึ่ง หากไม่อาจตกลงกันได้ ให้ประมูลที่ดินระหว่างกันหรือนาที่ดินออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาแบ่งกันแล้วแต่กรณีถ้านายปรีชาไม่ไปจดทะเบียนแบ่งแยกให้ถือคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของนายปรีชานายปรีชาอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า นายปรีชาได้ยกที่ดินพิพาทส่วนหนึ่งจำนวน 2 ไร่ ให้แก่ทางราชการเพื่อตัดถนนแล้ว ฉะนั้นการแบ่งส่วนที่ดินพิพาทจึงชอบที่จะตัดส่วนที่ดิน 2 ไร่ ที่ยกให้แก่ทางราชการออกเสียก่อน พิพากษาแก้เป็นว่าให้โจทก์กับนายปรีชาแบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป็นสองส่วนโดยตัดส่วนที่ยกให้แก่ทางราชการเพื่อตัดถนนจำนวน 2 ไร่ ออกเสียก่อน ให้โจทก์ทั้งสองได้ส่วนหนึ่ง คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษายืน ต่อมาในชั้นบังคับคดี นายปรีชาตกลงยอมแบล่งที่ดินตามคำพิพากษาของศาลให้โจทก์ทั้งสองได้ที่ดินส่วนทางด้านทิศใต้ แต่เมื่อโจทก์ทั้งสองนำคำพิพากษาและข้อตกลงดังกล่าวไปขอให้ทางสำนักงานที่ดินจังหวัดราชบุรีแบ่งแยกโฉนดและจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดิน ทางสำนักงานที่ดินจังหวัดราชบุรีไม่ดำเนินการให้ อ้างว่าโจทก์ทั้งสองได้มาซึ่งที่ดินส่วนของนายมานพทางมรดก จะต้องจดทะเบียนรับมรดกของนายมานพเสียชั้นหนึ่งก่อนจากนั้นจึงจะดำเนินการแบ่งแยกโฉนดในฐานะเจ้าของรวมได้ โจทก์ที่ 2 จึงไม่ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดราชบุรีขอให้มีคำสั่งตั้งโจทก์ที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนายมานพเพื่อจะนำคำสั่งของศาลมาดำเนินการจดทะเบียนรับมรดกที่ดินส่วนของนายมานพ แต่ศาลจังหวัดราชบุรีมีคำสั่งยกคำร้องอ้างว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 3679 ในส่วนของนายมานพตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองแล้ว ไม่เป็นทรัพย์มรดกที่จะต้องมีการจัดการอีกต่อไปหลังจากนั้นโจทก์ทั้งสองได้ขอให้มีการแบ่งแยกโฉนดที่ดินให้เป็นไปตามคำพิพากษาและข้อตกลงในชั้นบังคับคดีอีกครั้งหนึ่งแต่ทางสำนักงานที่ดินจังหวัดราชบุรีไม่ดำเนินการให้คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 ที่ 3 ในประการแรกว่า โจทก์ทั้งสองได้มาซึ่งที่ดินในส่วนของนายมานพโดยทางมรดกจะต้องจดทะเบียนรับโอนมรดกตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 81 ประกอบด้วยกฎกระทรวงฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2516) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 และระเบียบของกรมที่ดินว่าด้วยการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้มาโดยทางมรดก พ.ศ. 2516 ให้เสร็จสิ้นเสียชั้นหนึ่งก่อนจากนั้นจึงจะจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมได้ต่อไปหรือไม่เห็นว่า สิทธิในที่ดินพิพาทที่โจทก์ทั้งสองได้มาในฐานะเป็นผู้ชนะคดีตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดและข้อตกลงในชั้นบังคับคดีระหว่างโจทก์ทั้งสองกับนายปรีชาผู้แพ้คดีนั้น เป็นการได้สิทธิโดยผลของคำพิพากษาอันแตกต่างกับสิทธิในที่ดินที่โจทก์ทั้งสองได้มาโดยทางมรดกในฐานะที่เป็นทายาทของนายมานพ ซึ่งถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินแทนที่นายมานพเจ้ามรดก แม้การได้สิทธิในที่ดินดังกล่าวตามคำพิพากษา โจทก์ทั้งสองจะอ้างว่าเป็นทายาทของนายมานพ ก็หาใช่เป็นการได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินโดยทางมรดกโดยทั่วไปอันจะต้องดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามลำดับขั้นตอนตามกฎหมายกฎกระทรวงและระเบียบของกรมที่ดินดังที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ฎีกาขึ้นมาไม่ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ฎีกาในประการต่อมาว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3942/2525 ไม่ผูกพันจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดราชบุรี ผู้มีอำนาจหน้าที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโดยตรง ขณะโจทก์ยื่นคำร้องขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวม จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้บังคับบัญชาและจำเลยที่ 3 ผู้ใต้บังคับบัญชาย่อมพ้นจากความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 นั้นเห็นว่าข้อกฎหมายดังกล่าวจำเลยที่ 1 ที่ 3 มิได้ให้การต่อสู้ไว้จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น แม้จะเป็นปัญหาในเรื่องอำนาจฟ้องอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาก็เห็นสมควรไม่หยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้
พิพากษายืน.

Share