คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 708/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ประกาศธนาคารโจทก์ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ซึ่งใช้บังคับขณะทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลย กำหนดให้โจทก์เรียกเก็บดอกเบี้ยและส่วนลดในกรณีลูกค้าเบิกเงินเกินวงเงินหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขในการผ่อนชำระในอัตราไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปี และเรียกจากลูกค้าทั่วไปกรณีอยู่ภายในวงเงินและไม่ผิดเงื่อนไขในการผ่อนชำระในอัตราที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) คืออัตราร้อยละ 13.75 ต่อปี บวกร้อยละ 2 ต่อปี รวมเป็นอัตราร้อยละ 15.75 ต่อปี การที่โจทก์กำหนดดอกเบี้ยที่จะเรียกจากจำเลยที่ 1 ในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไว้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ให้เรียกเก็บกรณีเบิกเงินเกินวงเงินหรือผิดเงื่อนไขในการผ่อนชำระ มิใช่อัตราดอกเบี้ยทั่วไปที่จะเรียกจากลูกค้าได้นับแต่วันทำสัญญาเช่นนี้ จึงเป็นการกำหนดดอกเบี้ยเกินกว่าประกาศของโจทก์ ไม่เป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดไว้ และเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงขัดต่อ พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ฯ มาตรา 14 อันเป็นการต้องห้ามตาม พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 (ก) การกำหนดดอกเบี้ยดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์คงคิดดอกเบี้ยจากหนี้เงินได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เท่านั้น และกรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะฟังว่าจำเลยที่ 1 ได้รับแจ้งรายการบัญชีเดินสะพัดแล้วไม่โต้แย้งความถูกต้องและดอกเบี้ยที่คิดภายหลังทำสัญญาในบางช่วงเวลารวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ขอมาท้ายฟ้องไม่ถึงอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ก็ไม่อาจบังคับได้ตามขอ
สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเป็นข้อตกลงของคู่สัญญาที่จะให้มีสัญญาบัญชีเดินสะพัดต่อกัน การชำระหนี้ย่อมจะต้องปฏิบัติตามวิธีการของสัญญาบัญชีเดินสะพัด คือให้กระทำเมื่อมีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระหนี้คงเหลือ ดังนั้น หากคู่สัญญายังคงให้บัญชีเดินสะพัดอยู่ต่อไป ก็ยังไม่ถือว่ามีการผิดนัดกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีค้ำประกันและจำนอง จำนวน 600,141.71 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี นับจากวันที่ 4 กันยายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้นำที่ดินที่จำนองพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสี่ให้การในทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินและได้รับเงินจำนวน 200,000 บาท ไปจากโจทก์เท่านั้น สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2538 โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นหลังจากวันดังกล่าวอันเป็นการขัดต่อกฎหมายและตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 2 ทำสัญญาจำนองในวงเงิน 30,000 บาท จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันและจำนองในวงเงิน 50,000 บาท และจำเลยที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันในวงเงิน 120,000 บาท จึงไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าวงเงินที่ตกลงไว้และที่จำเลยที่ 1 สามารถชำระหนี้ส่วนที่เกินได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแบบทบต้นในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 มกราคม 2537 ถึงวันที่ 26 มกราคม 2538 และพร้อมดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 กันยายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 บริษัทบริหารสินทรัพย์ เพชรบุรี จำกัด ยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีใหม่ภายในกำหนดอายุความ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามฟ้องหรือไม่เพียงใด เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ข้อ 2 ซึ่งระบุว่า ผู้เบิกเงินเกินบัญชีตกลงให้ดอกเบี้ยแก่ธนาคารสำหรับจำนวนเงินที่เบิกเกินบัญชี อัตราร้อยละ 19 ต่อปี ทบต้นตามประเพณีธนาคารพาณิชย์ และยินยอมให้ธนาคารเรียกดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นได้ในอัตราไม่เกินกว่าอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ปรากฏตามประกาศอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดท้ายคำสั่งของโจทก์ที่ 88/2536 ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2536 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 และใช้บังคับขณะทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าว กำหนดให้โจทก์เรียกเก็บดอกเบี้ยและส่วนลดในกรณีลูกค้าเบิกเงินเกินวงเงินหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขในการผ่อนชำระในอัตราไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปี และเรียกจากลูกค้าทั่วไปกรณีอยู่ภายในวงเงินและไม่ผิดเงื่อนไขในการผ่อนชำระในอัตราที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี(MRR) คืออัตราร้อยละ13.75 ต่อปี บวกร้อยละ 2 ต่อปี รวมเป็นอัตราร้อยละ 15.75 ต่อปี จากประกาศดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี เฉพาะในกรณีจำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินวงเงินหรือผิดเงื่อนไขในการผ่อนชำระ ดังนั้น การที่โจทก์กำหนดดอกเบี้ยที่จะเรียกจากจำเลยที่ 1 ในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไว้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ให้เรียกเก็บกรณีเบิกเงินเกินวงเงินหรือลูกค้าผิดเงื่อนไขในการผ่อนชำระมิใช่อัตราดอกเบี้ยทั่วไปที่จะเรียกจากลูกค้าได้นับตั้งแต่วันทำสัญญาเช่นนี้ จึงเป็นการกำหนดดอกเบี้ยเกินกว่าประกาศของโจทก์ ไม่เป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดไว้ และเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงขัดต่อพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 อันเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พุทธศักราช 2475 มาตรา 3 (ก) การกำหนดดอกเบี้ยดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์คงคิดดอกเบี้ยจากหนี้เงินได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เท่านั้น และกรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะฟังว่าจำเลยที่ 1 ได้รับแจ้งบัญชีรายการเดินสะพัดแล้วไม่โต้แย้งความถูกต้องและดอกเบี้ยที่คิดภายหลังทำสัญญาในบางช่วงเวลารวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ขอมาท้ายฟ้องไม่ถึงอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ก็ไม่อาจบังคับให้ได้ตามขอ ส่วนปัญหาว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดเมื่อใดนั้น เห็นว่า สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเป็นข้อตกลงของคู่สัญญาที่จะให้มีสัญญาบัญชีเดินสะพัดต่อกันการชำระหนี้ย่อมต้องปฏิบัติตามวิธีการของสัญญาบัญชีเดินสะพัด คือให้กระทำเมื่อมีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระหนี้คงเหลือ ดังนั้น หากคู่สัญญายังคงให้บัญชีเดินสะพัดอยู่ต่อไป ก็ยังไม่ถือว่ามีการผิดนัดกัน สัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ข้อ 1 ระบุว่าผู้เบิกเงินเกินบัญชีขอเบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารวงเงิน 80,000 บาท มีกำหนดชำระคืนภายใน 12 เดือน นับแต่วันที่ 26 มกราคม 2537 เป็นต้นไป และมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงวงเงินสินเชื่อประเภทเบิกเงินเกินบัญชีจากวงเงินเดิมดังกล่าวเป็นวงเงิน 200,000 บาท ตามบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีครั้งที่ 1 เท่ากับว่าสัญญาได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดของสัญญาไว้แล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2540 จำนวน 391,560.74 บาท นั้นก็ได้ความจากนายสมชัย เด่นไพบูลย์ พยานผู้รับมอบอำนาจโจทก์ว่า ในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 นำเงินมาชำระหนี้เป็นครั้งสุดท้ายจำนวน 5,000 บาท โจทก์นำไปหักชำระดอกเบี้ย คงเหลือหนี้ค้างชำระเป็นเงินจำนวนดังกล่าว หาใช่เป็นการเบิกเงินไปจากโจทก์ครั้งสุดท้ายในวันดังกล่าวไม่ ส่วนใบแจ้งยอดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน ซึ่งแสดงรายการในระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม 2540 ถึงวันที่ 3 กันยายน 2542 คงปรากฏเพียงรายการคำนวณดอกเบี้ยรายการฝากเงินสดเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ถอนเงินจากบัญชีอีก ทั้งยอดเงินที่ปรากฏในใบแจ้งยอดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันดังกล่าวก็สูงเกินกว่าวงเงินที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันไว้ในสัญญา จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังประสงค์จะเดินสะพัดทางบัญชีระหว่างกันต่อไป เมื่อพยานหลักฐานโจทก์เท่าที่นำสืบมาไม่อาจแสดงให้เห็นว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มีความประสงค์ที่จะเดินสะพัดทางบัญชีต่อกันภายหลังจากวันสิ้นสุดของสัญญาเช่นนี้ สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นอันสิ้นสุดลงในวันที่ 26 มกราคม 2538 อันเป็นวันครบกำหนดชำระเงินคืนตามสัญญาเมื่อจำเลยที่ 1ไม่ชำระหนี้คืนตามกำหนด ถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์จึงมีสิทธิดอกเบี้ยผิดนัดของหนี้เงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 27 มกราคม 2538 เป็นต้นไป แม้โจทก์จะมิได้นำสืบให้เห็นว่ายอดหนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ ณ วันดังกล่าวมีจำนวนเพียงใดดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยมา แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ยอมรับในคำให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้รับเงินจำนวน 200,000 บาท ไปจากโจทก์แล้ว จึงต้องฟังว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้ค้างชำระแก่โจทก์เป็นต้นเงินจำนวนดังกล่าวซึ่งโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในต้นเงินดังกล่าวได้พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ7.5 ต่อปีนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้คืนโจทก์คือวันที่ 27 มกราคม 2538 เป็นต้นไป ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 200,00 บาทพร้อมดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 มกราคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้นำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระให้แก่โจทก์ตามที่ปรากฏในใบแจ้งยอดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.16 ไปหักชำระดอกเบี้ยที่คำนวณได้จากต้นเงินดังกล่าว หากยังเหลือหักชำระต้นเงินให้แก่โจทก์โดยถือว่าเอกสารหมาย จ.16 เป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาฉบับนี้ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้ยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 522, 1351, 510 และ 1126 ตำบลเกาะทวด อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินพอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน

Share