คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 412/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นได้สอบถามจำเลยแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อหาจึงได้บันทึกคำฟ้อง คำรับสารภาพและพิพากษาลงโทษจำเลยจนเสร็จการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยไม่ได้ยกเหตุที่จำเลยไม่สมควรต้องรับโทษเพราะเหตุจิตบกพร่องตาม ป.อ. มาตรา 65ขึ้นกล่าวอ้างเลย จำเลยเพิ่งยกเหตุดังกล่าวขึ้นมาอ้างในชั้นอุทธรณ์เมื่อข้อเท็จจริงนี้จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นการรับวินิจฉัยปัญหาที่จำเลยฎีกาจึงเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ.มาตรา 249 ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 ลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุก 1 ปี6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยข้อแรกว่า จำเลยจะยกเหตุว่าจำเลยกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่องโรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือนขึ้นมาอ้างภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นได้พิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยแล้วได้หรือไม่ เห็นว่าศาลชั้นต้นได้สอบถามจำเลยแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อหา จึงได้บันทึกคำฟ้อง คำรับสารภาพและพิพากษาลงโทษจำเลยจนเสร็จการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยไม่ได้ยกเหตุที่จำเลยไม่สมควรต้องรับโทษเพราะเหตุจิตบกพร่องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 ขึ้นกล่าวอ้างเลย จำเลยพึ่งยกเหตุดังกล่าวขึ้นมาอ้างในชั้นอุทธรณ์ เมื่อข้อเท็จจริงนี้จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น การรับวินิจฉัยปัญหาที่จำเลยฎีกาจึงเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อนี้…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share