คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9296/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 135(พ.ศ. 2539)เรื่อง ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ.2522 ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2539 บัญชีท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135(พ.ศ. 2539) ลำดับที่ 20 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา อันเป็นการแสดงมาในฟ้องแล้วว่าประกาศดังกล่าวมีอยู่จริง แม้โจทก์จะไม่ได้แนบประกาศมาท้ายฟ้องก็ไม่ใช่สาระสำคัญอันจะทำให้ฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์ คำฟ้องของโจทก์จึงสมบูรณ์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)
จำเลยทราบประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135(พ.ศ. 2539) เรื่องระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 แล้วหรือไม่เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ฎีกาของจำเลยในปัญหาดังกล่าวจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แก้ไขบทลงโทษและโทษจำคุกที่ลงแก่จำเลย แต่การแก้ไขบทลงโทษเป็นการปรับบทลงโทษบทเดิมตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงเป็นเพียงการแก้ไขเล็กน้อย และต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2533 เวลากลางวันจำเลยกับพวกอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นเยาวชนและได้แยกไปดำเนินคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครราชสีมาได้ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 59 เม็ด น้ำหนัก5.69 กรัม ไว้ในครอบครอง อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายเหตุเกิดที่ตำบลห้วยบง อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยกับพวกได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวจึงยึดไว้เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 67, 102 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32, 83 ริบของกลาง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง 67 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุก4 ปี ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลงโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 2 ปี8 เดือน ริบของกลาง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 67 (ที่แก้ไขใหม่) ให้จำคุก 2 ปีลดโทษให้หนึ่งในสามแล้ว คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 โดยอาศัยประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 เป็นองค์ประกอบความผิด แต่ประกาศดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงเมื่อโจทก์ไม่ได้แสดงมาในฟ้องว่า ประกาศมีอยู่จริงหรือไม่ โดยโจทก์ไม่ได้แนบประกาศมาท้ายฟ้อง ถือว่าคำฟ้องของโจทก์ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้น เห็นว่าฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539) เรื่องระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2539 บัญชีท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539) ลำดับที่ 20 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจำเลยกับพวกได้ทราบข้อความในประกาศฉบับดังกล่าวแล้ว อันเป็นการแสดงมาในฟ้องแล้วว่าประกาศดังกล่าวมีอยู่จริง แม้โจทก์จะไม่ได้แนบประกาศมาท้ายฟ้องด้วยก็ไม่ใช่สาระสำคัญอันจะทำให้ฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์ คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่สมบูรณ์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ประกาศกระทรวงสาธารณะสุขฉบับดังกล่าวไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์มีหน้าที่นำสืบว่าจำเลยได้ทราบประกาศฉบับนี้แล้ว เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบว่าจำเลยได้ทราบประกาศแล้วจึงลงโทษจำเลยไม่ได้นั้น เห็นว่าจำเลยได้ทราบประกาศฉบับดังกล่าวแล้วหรือไม่เป็นปัญหาข้อเท็จจริงมิใช่ข้อกฎหมายดังที่จำเลยอ้าง ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แก้ไขบทลงโทษและโทษจำคุกที่ลงแก่จำเลย แต่การแก้ไขบทลงโทษเป็นการปรับบทลงโทษบทเดิมตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่แต่ก็ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงเป็นเพียงการแก้ไขเล็กน้อย ต้องห้ามให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย แต่อย่างไรก็ดีขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 18 ปี ยังเป็นนักเรียน ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งคดีและความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของจำเลยแล้วที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี 4เดือน โดยไม่รอการลงโทษให้จำเลยนั้นหนักเกินไป ยังไม่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยสักครั้ง เพื่อให้โอกาสจำเลยได้กลับตัวเป็นพลเมืองดีและศึกษาเล่าเรียนต่อไป ซึ่งน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมมากกว่าที่จะจำคุกจำเลยไปเสียทีเดียว แต่เพื่อให้จำเลยเข็ดหลาบเห็นสมควรลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งและกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยไว้ด้วย แต่โทษปรับที่จะลงแก่จำเลยนั้นตามกฎหมายเดิมมาตรา 67 เป็นคุณมากกว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดอันเป็นกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 67 (เดิมและที่แก้ไขใหม่) โดยปรับจำเลย 30,000 บาท อีกสถานหนึ่งเมื่อลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสามแล้ว คงปรับจำเลย20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี และคุมความประพฤติของจำเลยไว้ 2 ปีนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิด และให้จำเลยละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 30 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่)นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3”

Share