แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ค่าสินไหมทดแทนนั้น ได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิดหรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้นรวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย การคำนวณราคาทรัพย์เพื่อชดใช้แทนนั้นต้องคิดฐานที่ตั้งจากราคาในขณะเกิดเหตุละเมิด ไม่ใช่คิดจากราคาซื้อเดิม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน ๓,๙๖๗,๔๗๕.๙๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงิน ๓,๖๑๑,๕๕๑ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน ๑,๘๑๒,๔๓๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๓๕ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ ๓๐,๐๐๐ บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน ๑,๘๑๒,๔๓๗.๑๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๓๕ จนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์มีอำนาจหน้าที่จัดให้มีการฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เครื่องบินแบบไปเปอร์ วาริเออร์ ทู เครื่องหมายสัญชาติและทะเบียน เอชเอส – ทีซีซี สัญชาติไทย ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นนักเรียนการบินของโจทก์หลักสูตรนักบินส่วนบุคคล รุ่นที่ ๒๐ เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๓๕ เวลา ๑๓.๒๐ นาฬิกา จำเลยกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง นำเครื่องบินลำดังกล่าวขึ้นฝึกบินที่สนามฝึกบินบ่อฝ้ายโดยพลการ เป็นเวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง เกิดเครื่องยนต์ดังเนื่องจากน้ำมันเชื้อเพลิงหมด เครื่องบินตกที่บริเวณตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เครื่องบินได้รับความเสียหายไม่สามารถซ่อมใช้งานได้ มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า โจทก์สมควรได้รับค่าเสียหายตามจำนวนที่ฟ้องหรือไม่ เพียงใด ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๓๘ วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า ค่าสินไหมทดแทนนั้น ได้แก่ การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย สำหรับการคำนวณราคาทรัพย์เพื่อชดใช้แทนนั้น เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคาได้แก่เวลาขณะเกิดเหตุละเมิด แม้โจทก์ซื้อเครื่องบินลำเกิดเหตุมาเมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๓๓ ในราคา ๓,๘๙๙,๐๘๗ บาท แต่ขณะเกิดเหตุเมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ โจทก์อ้างว่าเครื่องบินเช่นลำเกิดเหตุมีราคาลำละ ๔,๗๑๗,๘๙๘ บาท โดยจำเลยไม่นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่น แสดงว่าเครื่องบินซึ่งเป็นทรัพย์สินของโจทก์ย่อมมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย แต่เนื่องจากเครื่องบินเป็นทรัพย์สินที่เสื่อมราคาเพราะการใช้ ช่วงเวลา ๑ ปี ๙ เดือน ของการใช้งาน คำนวณค่าเสื่อมราคาได้ ๑,๑๐๖,๓๔๗ บาท ฉะนั้นการคำนวณราคาจึงต้องคิดฐานที่ตั้งจากราคา ๔,๗๑๗,๘๙๘ บาท ซึ่งเป็นราคาในขณะเกิดเหตุละเมิดไม่ใช่คิดจากราคาซื้อเดิม ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย เมื่อเครื่องบินลำเกิดเหตุมีราคาขณะเกิดเหตุ ๔,๗๑๗,๘๙๘ บาท เมื่อหักค่าเสื่อมราคา ๑,๑๐๖,๓๔๗ บาท ค่าเสียหายจึงเท่ากับ ๓,๖๑๑,๕๕๑ บาท โจทก์สมควรได้รับชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าว ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๓,๖๑๑,๕๕๑ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๓๕ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยนับแต่วันละเมิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน ๓๕๕,๙๒๔.๙๒ บาท เมื่อจำเลยชำระเงินเสร็จสิ้นแล้วให้จำเลยมีสิทธิรับซากเครื่องบินทั้งหมดคืนจากโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๗ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.