คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6986/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์เคยฟ้องจำเลยข้อหาบุกรุก ยึดถือครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์เนื้อที่ 9 ไร่เศษ โดยปลูกบ้านอยู่อาศัยและปลูกต้นไม้ยืนต้น ก่อนวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 ใช้บังคับ คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยยึดถือครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์หลังจากประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับแล้วเป็นการครอบครองสืบเนื่องมาก่อนวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 ใช้บังคับ โดยจำเลยมิได้มีสิทธิครอบครองและมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 แต่ยกคำขอให้จำเลยออกจากที่ดินพิพาท ต่อมาโจทก์ยื่นฟ้องเป็นคดีนี้ว่า จำเลยเข้าไปยึดถือ ครอบครองก่นสร้างที่ดินสาธารณประโยชน์ โดยใช้รถไถเข้าไปไถปรับที่ดินเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ ภายหลังวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 ใช้บังคับแล้ว อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1), 108 ทวิ วรรคสอง การกระทำในคดีนี้จึงต่างกรรมต่างวาระแยกต่างหากจากการกระทำในคดีก่อน และความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 กับมาตรา 108 ทวิ มีองค์ประกอบแตกต่างกัน การกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้กับคดีก่อนจึงไม่ใช่ความผิดกรรมเดียวกัน ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ ให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินแปลงดังกล่าว กับให้ริบรถไถของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9 (1), 108 ทวิ วรรคสอง และวรรคห้า จำคุก 3 เดือน และปรับ 6,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือน และปรับ 4,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ทั้งอยู่ในวัยชรา โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 ริบรถไถของกลาง คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันรับฟังได้ว่า จำเลยเคยถูกฟ้องในคดีก่อนของศาลชั้นต้น โจทก์คดีดังกล่าวฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2512 ถึงวันที่ 18 กรกฎาคม 2512 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยบุกรุกเข้ายึดถือ ครอบครองที่ดินหนองกก ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน เนื้อที่ 9 ไร่ 2 งาน 80 ตารางวา ปลูกบ้านอยู่อาศัยและปลูกต้นไม้ยืนต้นโดยมิได้มีสิทธิครอบครองและมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย พนักงานเจ้าหน้าที่ได้แจ้งและมีคำสั่งเป็นหนังสือให้จำเลยออกจากที่ดินและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่จำเลยเพิกเฉยคงยึดถือ ครอบครองที่ดินดังกล่าวตลอดมา คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2541 เวลากลางวัน จำเลยได้เข้าไปยึดถือ ครอบครอง ก่นสร้างที่ดินเลี้ยงสัตว์หนองกกสาธารณประโยชน์ในท้องที่หมู่ที่ 7 ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันและเป็นที่ดินของรัฐ รวมเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ โดยใช้รถไถเข้าไปไถปรับที่ดินแปลงดังกล่าวเพื่อทำประโยชน์ส่วนตัว ทั้งนี้โดยจำเลยมิได้มีสิทธิครอบครองและมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ เห็นว่า ในคดีก่อนแม้ศาลฎีกาจะพิพากษาให้ยกคำขอที่ขอให้จำเลยออกจากที่ดินพิพาท แต่ก็ฟังข้อเท็จจริงว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ซึ่งจำเลยเข้ายึดถือครอบครองหลังจากประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับแล้ว เป็นการครอบครองสืบเนื่องมาก่อนวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 ใช้บังคับ ทั้งนี้โดยจำเลยมิได้มีสิทธิครอบครองและมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9, 108 ซึ่งแก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 ข้อ 11 ส่วนในคดีนี้การที่จำเลยใช้รถไถเข้าไปไถปรับที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2541 โดยไม่มีสิทธิครอบครองและมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงเป็นความผิดตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9 (1), 108 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นการกระทำหลังจากวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 ข้อ 11 มีผลใช้บังคับ เห็นได้ว่าการกระทำของจำเลยในครั้งหลังจำเลยใช้รถไถเข้าไปก่นสร้างไถปรับที่ดินพิพาท ส่วนในคดีก่อนจำเลยบุกรุกเข้าไปปลูกบ้านอยู่อาศัยและปลูกต้นไม้ยืนต้น การกระทำในคดีนี้จึงต่างกรรมต่างวาระแยกต่างหากจากการกระทำในคดีก่อน และความผิดตาม ป.ที่ดิน มาตรา 108 กับมาตรา 108 ทวิ มีองค์ประกอบแตกต่างกัน การกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้กับคดีก่อนจึงไม่ใช่ความผิดกรรมเดียวกัน ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน.

Share