คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5726/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คำฟ้องของโจทก์ระบุว่าใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ เอกสารที่จำเลยที่ 2 ทำปลอมขึ้นได้กระทำที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ทั้งสองคันดังกล่าวมาขายให้แก่โจทก์ที่ร้านของโจทก์ที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ร้านของโจทก์ดังกล่าวจึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ถือได้ว่ามูลคดีเกิดขึ้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1)
สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่าขาดอายุความเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด และในวรรคสองที่ว่า แต่ถ้าเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดที่มีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา และมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่า ก็ให้เอาอายุความที่ยาวกว่ามาบังคับนั้น คงใช้บังคับได้แต่ในกรณีการเรียกร้องค่าเสียหายในมูลละเมิดจากตัวผู้กระทำผิดหรือร่วมกระทำผิดโดยเฉพาะเท่านั้น มิได้รวมถึงการเรียกร้องจากผู้อื่นซึ่งมิได้เป็นผู้กระทำผิดหรือร่วมในการกระทำผิดด้วย
จำเลยที่ 4 มิได้เป็นผู้กระทำผิดหรือร่วมในการกระทำผิด เพียงแต่เป็นหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดของจำเลยที่ 2 ซึ่งถูกโจทก์กล่าวหาว่ากระทำการโดยทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ปลอมใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พิพาททำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ซึ่งตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง กำหนดให้หน่วยงานของรัฐดังกล่าวต้องรับผิดทางแพ่งต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยเท่านั้นหาได้บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดร่วมกับเจ้าหน้าที่ของตนซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดดังเช่นในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างไม่ จึงไม่อาจนำกำหนดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 มาใช้บังคับแก่กรณีนั้นได้ แต่เนื่องจากตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มิได้บัญญัติอายุความฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ แม้จำเลยที่ 2 และที่ 4 จะให้การต่อสู้ว่า โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนคือ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2548 แต่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2550 ยังไม่พ้นกำหนดสิบปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 20,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 4 ชำระเงิน 3,525,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้จำเลยที่ 4 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลทั้งสองศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีรวม 10,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้เป็นพับ
โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 4 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่าจำเลยที่ 2 มีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ประกอบธุรกิจซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์มือสอง ใช้ชื่อการค้าว่าร้านวรรณลักษณ์ ออโต้คาร์ เชียงใหม่ จำเลยที่ 4 เป็นนิติบุคคลประเภทกรมในรัฐบาล ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยที่ 4 ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานขนส่ง 7 ทำหน้าที่หัวหน้างานฝ่ายทะเบียน และได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่นายทะเบียนประจำอยู่ที่สำนักงานขนส่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ ยี่ห้อเบนซ์ รุ่น อี 230 สีน้ำเงิน หมายเลขทะเบียน กข 6319 กำแพงเพชร มาขายให้โจทก์ ต่อมาโจทก์ขายรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่นางพรรณิภา นางพรรณิภาแจ้งย้ายรถยนต์ไปใช้ที่จังหวัดลำพูน และเปลี่ยนหมายเลขทะเบียนใหม่เป็น กข 8019 ลำพูน จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ สีเทา รุ่น อี 230 หมายเลขทะเบียน กค 386 สุพรรณบุรี มาขายให้แก่โจทก์ ต่อมานายทะเบียนจังหวัดพระนครศรีอยุธยาประกาศยกเลิกการจดทะเบียนรถยนต์หลายคัน รวมทั้งรถยนต์ทั้งสองคันดังกล่าวตามประกาศนายทะเบียนพระนครศรีอยุธยา หลังจากนั้นเจ้าพนักงานตำรวจยึดรถยนต์ทั้งสองคันไป สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่ได้ฎีกา คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงยุติไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และที่ 4 เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยที่ 2 และที่ 4 ฎีกาว่า คำฟ้องของโจทก์มุ่งเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 1 ร่วมกันชำระหนี้อันมีมูลฐานมาจากการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งสังกัดจำเลยที่ 4 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบร่วมกับจำเลยที่ 1 ปลอมเอกสารใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ทั้งสองคันดังกล่าว แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบจงใจกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างไร ทำการปลอมใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พิพาททั้งสองคันด้วยวิธีการอย่างไร เป็นการปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่บางส่วน จำเลยที่ 2 และที่ 4 สมคบกับจำเลยที่ 1 นำมาขายให้แก่โจทก์อย่างไร จึงถือว่าคำฟ้องของโจทก์มิได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และที่ 4 จึงเคลือบคลุมนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งรับราชการอยู่ที่สำนักงานขนส่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่ในสังกัดของจำเลยที่ 4 โดยทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงปลอมเอกสารราชการใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ทั้งสองคันดังกล่าว โดยคันแรกจำเลยที่ 2 นำทะเบียนรถยนต์หมายเลข ภฉ 7387 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของนายสุวิทย์ ยี่ห้อเบนซ์ สีเขียว หมายเลขตัวรถ ดับเบิลยู ดี บี 2100376 เอ 294422 หมายเลขเครื่องยนต์ 11197062057045 มาสวมเป็นทะเบียนรถยนต์ ยี่ห้อเบนซ์ สีน้ำเงิน หมายเลขตัวรถ ดับเบิลยู ดี บี 2100372 เอ 240863 หมายเลขเครื่องยนต์ 11197022050730 และคันที่สองจำเลยที่ 2 นำทะเบียนรถยนต์หมายเลข ภค 224 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของนางเล็กกี่ ยี่ห้อเบนซ์ สีเทา หมายเลขตัวรถดับเบิลยู ดี บี 2100372 เอ 290062 หมายเลขเครื่องยนต์ 11197022059027 มาสวมเป็นทะเบียนรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ สีเทา หมายเลขตัวรถดับเบิลยู ดี บี 2100372 เอ 173809 หมายเลขเครื่องยนต์ 11197002037969 ต่อมาจำเลยที่ 1 นำรถยนต์ทั้งสองคันดังกล่าวมาขายให้แก่โจทก์ เจ้าพนักงานตำรวจยึดรถยนต์ทั้งสองคันคืน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 และที่ 4 ชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย ถือได้ว่าฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ส่วนที่จำเลยที่ 2 จงใจกระทำละเมิดหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างไร ปลอมใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ด้วยวิธีการอย่างไร เป็นการปลอมทั้งฉบับหรือแต่เพียงบางส่วน จำเลยที่ 2 และที่ 4 สมคบกับจำเลยที่ 1 นำมาขายให้แก่โจทก์อย่างไร หาใช่ข้อสาระสำคัญที่ต้องกล่าวไว้ในฟ้อง แต่เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และที่ 4 จึงไม่เคลือบคลุม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ประการต่อไปว่าโจทก์มีอำนาจเสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นได้หรือไม่ จำเลยที่ 2 และที่ 4 ฎีกาว่า เอกสารที่จำเลยที่ 2 ทำปลอมขึ้นได้กระทำที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มูลคดีจึงเกิดขึ้นในเขตศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา การที่จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ทั้งสองคันมาขายให้แก่โจทก์ที่จังหวัดเชียงใหม่ จึงมิใช่ต้นเหตุอันเป็นที่มาของการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ มูลคดีจึงไม่ได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจศาลชั้นต้น โจทก์จึงเสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นหาได้ไม่ เห็นว่า แม้ตามคำฟ้องของโจทก์ระบุว่าเอกสารที่จำเลยที่ 2 ทำปลอมขึ้นได้กระทำที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาแต่จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ทั้งสองคันดังกล่าวมาขายให้แก่โจทก์ที่ร้านของโจทก์ที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ร้านของโจทก์ดังกล่าวจึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ถือได้ว่ามูลคดีเกิดขึ้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 (1) ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ต่อไปว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่าขาดอายุความเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด และในวรรคสองที่ว่า แต่ถ้าเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดที่มีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา และมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่า ก็ให้เอาอายุความที่ยาวกว่ามาบังคับนั้น คงใช้บังคับได้แต่ในกรณีการเรียกร้องค่าเสียหายในมูลละเมิดจากตัวผู้กระทำผิดหรือร่วมกระทำผิดโดยเฉพาะเท่านั้น มิได้รวมถึงการเรียกร้องจากผู้อื่นซึ่งมิได้เป็นผู้กระทำผิดหรือร่วมในการกระทำผิดด้วย จำเลยที่ 4 ในคดีนี้มิได้เป็นผู้กระทำผิดหรือร่วมในการกระทำผิด เพียงแต่เป็นหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดของจำเลยที่ 2 ซึ่งถูกโจทก์กล่าวหาว่ากระทำการโดยทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ปลอมใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พิพาททำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ซึ่งตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง กำหนดให้หน่วยงานของรัฐดังกล่าวต้องรับผิดทางแพ่งต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยเท่านั้นหาได้บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดร่วมกับเจ้าหน้าที่ของตนซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดดังเช่นในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างไม่ จึงไม่อาจนำกำหนดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 มาใช้บังคับแก่กรณีนั้นได้ แต่เนื่องจากตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มิได้บัญญัติอายุความฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/30 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ แม้จำเลยที่ 2 และที่ 4 จะให้การต่อสู้ว่า โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนคือ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2548 แต่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2550 ยังไม่พ้นกำหนดสิบปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นชอบด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ประการต่อไปว่า จำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์และจำเลยที่ 4 ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ ปัญหาในข้อนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้วว่า พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 4 นำสืบยังมีข้อพิรุธว่า จำเลยที่ 2 ได้ดำเนินการตรวจสอบเอกสารการจดทะเบียนรถยนต์พิพาทไปตามหน้าที่ของตนแล้วหรือไม่ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 4 ซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย กรณีไม่มีเหตุจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขดุลพินิจในส่วนนี้ของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และฎีกาจำเลยที่ 4 ประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด สำหรับความเสียหายต่อรถยนต์พิพาททั้งสองคัน นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยไว้โดยละเอียดและชอบแล้ว ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ส่วนความเสียหายจากการเสื่อมเสียชื่อเสียงต้องปิดกิจการนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าโจทก์ได้ปิดกิจการซื้อ ขาย แลกเปลี่ยนรถยนต์มือสอง แต่ทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ปิดกิจการก่อนหรือหลังถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดรถยนต์พิพาททั้งสองคัน คงได้ความแต่เพียงจากที่โจทก์เบิกความเป็นพยานตอบทนายจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ถามค้านว่า โจทก์ปิดกิจการเมื่อปี 2547 อันเป็นปีเดียวกันกับที่เจ้าพนักงานตำรวจได้ยึดรถยนต์พิพาททั้งสองคันคืนเท่านั้น นอกจากนี้พยานโจทก์ปากนายธนภัทร เจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เบิกความเป็นพยานว่า โจทก์ได้มายื่นคำร้องขอกู้ยืมเงินจากธนาคารดังกล่าวเมื่อปี 2548 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ได้ปิดกิจการเมื่อปี 2547 ไปแล้ว ฉะนั้น การปิดกิจการของโจทก์จึงไม่น่าจะมีสาเหตุเพราะโจทก์ขาดสภาพคล่องทางการเงินเนื่องจากโจทก์ไม่ได้รับอนุมัติเงินกู้จากธนาคารดังกล่าวแต่อย่างใด แต่การปิดกิจการของโจทก์อาจมาจากสาเหตุประการอื่น ๆ เช่น สภาวะตลาดของธุรกิจซื้อ ขาย แลกเปลี่ยนรถยนต์มือสอง หรือการขาดการดูแลเอาใจใส่ในการประกอบธุรกิจของโจทก์เอง ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ต้องขาดทุนจากการขายที่ดินเพื่อใช้หนี้ให้แก่ธนาคารนั้น เห็นว่า หนี้ที่โจทก์มีต่อธนาคารเป็นหนี้ที่โจทก์กู้ยืมเงินมาเพื่อใช้หมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยนรถยนต์มือสองซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่เป็นผลต่อเนื่องผูกพันจากการประกอบธุรกิจซึ่งโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าการที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดรถยนต์พิพาททั้งสองคันไปส่งผลกระทบต่อยอดหนี้ที่โจทก์มีต่อธนาคารอย่างไร พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังไม่อาจรับฟังว่า โจทก์ต้องปิดกิจการซื้อ ขาย แลกเปลี่ยนรถยนต์มือสองไปเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจยึดรถยนต์พิพาทในคดีนี้ไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้โจทก์จำนวน 600,000 บาท นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 4 ในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 4 ชำระเงิน 2,925,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 10 มกราคม 2550) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 4 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลทั้งสามศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา โดยกำหนดค่าทนายความรวม 30,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ

Share