คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9273/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22 ประกอบพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญา ในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมกล่าวแต่เพียงว่า พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมมีน้ำหนักพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องเท่านั้น เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว
ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22 ทวิ แสดงว่าผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่มีอำนาจอนุญาตให้คดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลสูงได้นั้นจะต้องบันทึกข้อความลงไว้ให้ครบหลักเกณฑ์ทั้งสองประการตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายโดยชัดเจนว่า ข้อความที่ตัดสินไปเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์ และตนอนุญาตให้อุทธรณ์ได้ดังนั้น การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีนี้ในศาลชั้นต้นสั่งในอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมว่า รับเป็นอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมเช่นนี้ จึงถือไม่ได้ว่ามีการอนุญาตให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงโดยชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัทคูณรัตนศิริ จำกัดผู้เสียหายได้รับมอบเงินของผู้เสียหายไว้ในครอบครองเพื่อนำไปฝากเข้าบัญชีเงินฝากของผู้เสียหายที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาชัยภูมิแต่จำเลยมิได้นำเงินไปฝากธนาคารดังกล่าว โดยเมื่อวันที่ 16กันยายน 2538 ผู้เสียหายตรวจพบว่าจำเลยได้เบียดบังยักยอกเอาเงินที่ได้รับมอบจากผู้เสียหายดังกล่าวเป็นของตนเองหรือบุคคลที่สามโดยทุจริตรวม 58 ครั้ง รวมเป็นเงินที่จำเลยยักยอกทั้งสิ้น 2,400,285บาท เหตุเกิดที่ตำบลในเมือง และตำบลรอบเมือง อำเภอเมืองชัยภูมิจังหวัดชัยภูมิ เกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352, 91 และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 2,400,285บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา บริษัทคูณรัตนศิริ จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์ร่วมอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม

โจทก์ร่วมฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่าศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมชอบหรือไม่ที่โจทก์ร่วมฎีกาว่า โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายว่าคดีนี้หากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแล้วจะต้องเรียงกระทงลงโทษทุกกรรม แต่ศาลชั้นต้นมีเหตุสงสัยเพียงกรรมเดียว แล้วยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยทุกกรรมจึงเป็นการไม่ชอบและหากพิจารณาได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นการลักทรัพย์ของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายจ้าง ความผิดดังกล่าวก็มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงด้วยนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22 ประกอบพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง มาใช้บังคับในศาลจังหวัดพ.ศ. 2520 มาตรา 3 อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมกล่าวแต่เพียงว่าพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมมีน้ำหนักพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องเท่านั้นเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว ส่วนที่โจทก์ร่วมฎีกาว่า การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม เท่ากับเป็นการอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22 ทวิ บัญญัติว่า “ในคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 22 ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษา หรือทำความเห็นแย้งในศาลแขวง พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์… ก็ให้รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาต่อไป” จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวแสดงว่าผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่มีอำนาจอนุญาตให้คดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลสูงได้นั้นจะต้องบันทึกข้อความลงไว้ให้ครบหลักเกณฑ์ทั้งสองประการตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายโดยชัดเจน คือ จะต้องบันทึกความเห็นของตนให้ได้ความว่าข้อความที่ตัดสินไปเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์ประการหนึ่งและอีกประการหนึ่งจะต้องบันทึกยืนยันด้วยว่าตนอนุญาตให้อุทธรณ์ได้ดังนั้น การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีนี้ในศาลชั้นต้นสั่งในอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมว่า “…รับเป็นอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม…” เช่นนี้ จึงถือไม่ได้ว่ามีการอนุญาตให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมโดยให้เหตุผลว่าเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share