คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14689/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การนับอายุความให้เริ่มนับตั้งแต่วันกระทำความผิด การที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 กับพวกออกไปตรวจพิสูจน์ที่ดินแล้วสรุปข้อเท็จจริงผลการตรวจพิสูจน์เป็นเท็จว่าที่ดินไม่ได้อยู่ในเขตป่าพร้อมความเห็นเสนอนายอำเภอ หากเป็นการสรุปความเห็นที่เกิดจากการกระทำปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยราชการ หรือเกิดจากการกระทำโดยทุจริตก็เป็นความผิดทันทีที่เสนอความเห็นต่อนายอำเภอ ส่วนนายอำเภอจะลงนามในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เมื่อใดเป็นแต่เพียงผลที่เกิดจากการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 4 กับพวก มิฉะนั้นแล้วจะกลายเป็นว่า หากนายอำเภอไม่เห็นด้วยกับความเห็นของจำเลยที่ 1 และที่ 4 กับพวกโดยไม่ลงนามในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ก็จะทำให้การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 4 กับพวกไม่เป็นความผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 157 ให้นับโทษจำเลยทั้งสี่ในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยทั้งสี่ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4548/2545 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 159 (ที่ถูก มาตรา 157), 83 จำคุกคนละ 3 ปี และปรับคนละ 10,000 บาท จำเลยทั้งสี่รับราชการจนเกษียณอายุราชการนับว่ามีคุณงามความดีมาก่อนเห็นควรให้จำเลยทั้งสี่กลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ส่วนที่โจทก์มีคำขอให้นับโทษคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยทั้งสี่ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4548/2545 และหมายเลขแดงที่ 3889/2548 ของศาลชั้นต้น เนื่องจากคดีดังกล่าว ศาลมิได้ลงโทษจำคุก ไม่อาจนับโทษต่อได้ จึงให้ยกคำขอในส่วนนี้
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ระหว่างศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา บุตรของจำเลยที่ 2 แถลงว่า จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2555 และญาติของจำเลยที่ 3 แถลงว่า จำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2553 ตามสำเนาใบมรณบัตรและโจทก์รับว่าเป็นความจริง พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า บุตรของจำเลยที่ 2 และญาติของจำเลยที่ 3 แจ้งว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ถึงแก่ความตาย โดยมีสำเนาใบมรณบัตรมาแสดงและโจทก์รับว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ถึงแก่ความตายจริง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) จึงให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 และที่ 3 เสียจากสารบบความ คงมีคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 4
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีข้อวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ออกไปตรวจพิสูจน์ที่ดินของนายสยามแล้วสรุปข้อเท็จจริงพร้อมความเห็นเสนอนายอำเภอยังไม่เป็นความผิดสำเร็จ ความผิดดังกล่าวยังเป็นผลต่อเนื่องจนกระทั่งนายอำเภอรับรู้และลงนามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เพราะกระทำเพื่อให้นายอำเภอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่นายสยาม อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่นายอำเภอลงนามในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 บัญญัติว่า ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ…(2) สิบห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่ถึงยี่สิบปี จากบทบัญญัติดังกล่าว การนับอายุความให้เริ่มนับตั้งแต่วันกระทำความผิด การที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 สรุปความเห็นเสนอนายอำเภอ หากเป็นการสรุปความเห็นที่เกิดจากการกระทำปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยราชการหรือเกิดจากการกระทำโดยทุจริต ก็เป็นความผิดทันทีที่เสนอความเห็นแก่นายอำเภอ ส่วนนายอำเภอจะลงนามในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เมื่อใดเป็นแต่เพียงผลที่เกิดจากการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 4 มิฉะนั้นแล้วจะกลายเป็นว่า หากนายอำเภอไม่เห็นด้วยกับความเห็นของจำเลยที่ 1 และที่ 4 โดยไม่ลงนามในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ก็จะทำให้การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ไม่เป็นความผิดไป ทั้ง ๆ ที่การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ครบองค์ประกอบของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 แล้ว การที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 สรุปข้อเท็จจริงพร้อมความเห็นเสนอนายอำเภอวันที่ 16 ตุลาคม 2530 จึงเป็นความผิดสำเร็จแล้ว ซึ่งโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ จึงมีอายุความสิบห้าปี โจทก์จะต้องฟ้องภายในวันที่ 16 ตุลาคม 2545 แต่โจทก์ยื่นฟ้องวันที่ 7 พฤศจิกายน 2545 เป็นการยื่นฟ้องเกินกำหนดจึงขาดอายุความ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share