แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นระบุว่า กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งรัฐใด จะยังคงใช้บังคับในการเก็บภาษีอากรจากเงินได้ในรัฐผู้ทำสัญญาแต่ละรัฐ เว้นแต่ในกรณีที่บทของอนุสัญญานี้ได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น การที่บริษัทดังกล่าวจะนำรายจ่ายค่ารับรองและเงินสำรองบำเหน็จพนักงานมาหักเป็นรายจ่ายเพื่อเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย บริษัทดังกล่าวจะต้องปฏิบัติไปตามที่ประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้ด้วย
ผู้เป็นลูกจ้าง หรือผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อในการประกอบกิจการในประเทศไทยอยู่ในขอบข่ายที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้จากการจำหน่ายเงินกำไร หรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไร หรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยด้วย หากเข้าเงื่อนไขตามที่ ป. รัษฎากร มาตรา 70 ทวิ กำหนดไว้ ทั้งนี้เพื่อความเสมอภาคในการเสียภาษีให้แก่รัฐบาลไทยเช่นเดียวกับกรณีที่บริษัทต่างประเทศเข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทยในลักษณะของสำนักงานสาขา ซึ่งหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีตามมาตรา 70 ทวิ ให้จัดเก็บจากจำนวนเงินกำไรที่จำหน่ายออกไปจากประเทศไทย เพื่อประโยชน์ของนิติบุคคลต่างประเทศที่ได้รับเงินได้จากแหล่งเงินได้ในประเทศไทย เมื่อการซื้อขายสินค้าหรือให้บริการระหว่างผู้ซื้อในประเทศไทยกับบริษัท ม. เป็นการทำสัญญาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย การที่โจทก์เข้าไปผูกพันกับบริษัท ม. ในการยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแทน โจทก์ย่อมรู้ข้อมูลเกี่ยวกับรายได้และรายจ่ายของบริษัท ม. เป็นอย่างดี แสดงให้เห็นว่าโจทก์มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบริษัท ม. อย่างมาก มิฉะนั้นโจทก์คงไม่เข้าไปผูกพันกับบริษัท ม. เช่นนั้น ดังนั้น การที่บริษัท ม. มีข้อตกลงให้ลูกค้าในประเทศไทยส่งเงิน หรือจ่ายค่าตอบแทนให้แก่บริษัท ม. ด้วย วิธีการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับธนาคารพาณิชย์ชำระให้แก่บริษัท ม. โดยตรง หรือบริษัท ม. ไปเบิกเงินจากกองทุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจโพ้นทะเลประเทศญี่ปุ่นโดยตรง จึงเป็นเพียงข้อตกลงเกี่ยวกับวิธีการจ่ายเงินชำระค่าสินค้า หรือค่าบริการตามที่โจทก์ตกลงกับบริษัท ม. เท่านั้น โจทก์จะนำความแตกต่างเกี่ยวกับวิธีการจ่ายเงินชำระค่าสินค้าหรือค่าจ้างเพียงเท่านี้ มาเป็นเหตุให้เกิดภาระภาษีที่แตกต่างกันหาได้ไม่ แม้ลูกค้าจะเป็นผู้ส่งเงินค่าสินค้าหรือค่าจ้างให้แก่บริษัท ม. ซึ่งอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นโดยตรงก็ตาม ก็หามีผลผิดแผกแตกต่างไปจากการที่ลูกค้าส่งเงินค่าสินค้าหรือค่าจ้างให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อ แล้วโจทก์จึงส่งเงินค่าสินค้าหรือค่าจ้างดังกล่าวไปให้บริษัท ม. อีกทอดหนึ่ง จึงต้องถือว่าโจทก์ในฐานะผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อเป็นผู้จำหน่ายเงินกำไร หรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย โจทก์จึงต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 70 ทวิ (วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่)
กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย แม้ตามหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย จะแจ้งแก่โจทก์ในฐานะผู้ทำการแทนบริษัท ม. แต่โจทก์ในฐานะสถานประกอบการถาวรของบริษัท ม. ได้จ่ายเงินเดือนให้แก่ผู้เชี่ยวชาญซึ่งเข้ามาควบคุมติดตั้งเครื่องจักรในโครงการต่าง ๆ ที่บริษัท ม. ได้รับอนุญาตให้ทำในประเทศไทย เมื่อโจทก์มีฐานะเป็นผู้จ่ายเงินตาม ป. รัษฎากร มาตรา 50 มิได้หักและนำส่งหรือได้หักและนำเงินส่งแล้วแต่ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้อง ผู้จ่ายเงินคือโจทก์ต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่มิได้หักและนำส่งหรือตามจำนวนที่ขาดไป แล้วแต่กรณี ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 54 โจทก์จึงเป็นผู้ถูกโต้แย้งสิทธิโดยตรงย่อมมีอำนาจฟ้อง
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 6/2548)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ ต.4/1041/2/100258 ถึง 100260 และ 100263 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2536 และให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ที่ ต.4/1041/1/100852 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2536 ของจำเลยที่ 1 และให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ.1 (อธ.3)/196 ถึง 200/2542 ลงวันที่ 27 เมษายน 2542 ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้งดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์แถลงไม่ติดใจในประเด็นเรื่องการคำนวณเงินเพิ่มเกินกว่าภาษีที่ต้องชำระ
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความให้ 20,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า รายจ่ายค่ารับรองและเงินสำรองบำเหน็จพนักงานสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีวันที่ 1 เมษายน 2527 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2528 จำนวน 1,129,214.04 และ 705,483.24 บาท และรอบระยะเวลาบัญชีวันที่ 1 เมษายน 2528 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2529 จำนวน 2,010,741.41 และ 1,105,719.46 บาท เป็นรายจ่ายต้องห้ามตาม ป. รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (1) และ (4) หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ยอมรับตามคำฟ้องว่า การตั้งเงินสำรองบำเหน็จพนักงานเป็นรายจ่ายนั้นเป็นการตั้งตามวิธีการทางบัญชีของบริษัทมิตซูบิชิคอร์ปอเรชั่น จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ที่จัดสรรมาให้โจทก์ในอัตราเฉลี่ยเป็นร้อยละซึ่งเป็นวิธีการทางบัญชีที่ปฏิบัติกันทั่วไปในประเทศญี่ปุ่น อีกทั้งเป็นวิธีการที่กรมสรรพากรประเทศญี่ปุ่นยอมรับเท่านั้น ส่วนรายจ่ายค่ารับรองตามฟ้องโจทก์อ้างว่าบริษัทดังกล่าวได้ใช้จ่ายเงินเป็นค่ารับรองลูกค้าเพื่อประโยชน์ในทางการค้า แต่โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นถึงรายละเอียดว่าเป็นค่ารับรองลูกค้าเพื่อประโยชน์ในทางการค้าของสถานประกอบการถาวรอย่างใด เกี่ยวข้องกับกิจการในประเทศไทยหรือไม่ โจทก์จะนำมาถือเป็นรายจ่ายโดยพิจารณาแต่เพียงว่ามีจำนวนเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับยอดขายของบริษัทดังกล่าวเท่านั้นไม่ได้เพราะตามข้อ 14 วรรคแรก ของอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ ระบุว่ากฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งรัฐใด จะยังคงใช้บังคับในการเก็บภาษีอากรจากเงินได้ในรัฐผู้ทำสัญญาแต่ละรัฐ เว้นแต่ในกรณีที่บทของอนุสัญญานี้ได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น การที่บริษัทดังกล่าวจะนำรายจ่ายค่ารับรองและเงินสำรองบำเหน็จพนักงานมาหักเป็นรายจ่ายเพื่อเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย บริษัทดังกล่าวจะต้องปฏิบัติไปตามที่ประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้ด้วย ที่ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไปมีว่า โจทก์มีหน้าที่ต้องรับผิดชำระภาษีเงินได้จากการจำหน่ายเงินกำไรออกจากประเทศไทยตาม ป. รัษฎากร มาตรา 70 ทวิ แทนบริษัทมิตซูบิชิคอร์ปอเรชั่น จำกัด ประเทศญี่ปุ่นหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า เมื่อโจทก์ยอมรับตามคำฟ้องของโจทก์ว่า โจทก์เป็นผู้ทำการแทนบริษัทดังกล่าวและได้ยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแทนบริษัทดังกล่าวตาม ป. รัษฎากร มาตรา 76 ทวิ ซึ่งตามบทบัญญัติมาตรานี้ให้ถือว่าบริษัทดังกล่าวนั้นประกอบกิจการในประเทศไทยและให้ถือว่าบุคคลผู้เป็นผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อเช่นว่านั้นเป็นตัวแทนของบริษัทซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และให้บุคคลนั้นมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้คือ ส่วนที่ 3 ของหมวด 3 ลักษณะ 2 แห่ง ป. รัษฎากร เฉพาะที่เกี่ยวกับเงินได้หรือผลกำไรที่กล่าวแล้ว ซึ่งการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในกรณีการจำหน่ายเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยตาม ป. รัษฎากร มาตรา 70 ทวิ อยู่ในส่วน 3 ด้วย ดังนั้น ผู้เป็นลูกจ้างหรือผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อในการประกอบกิจการในประเทศไทย จึงอยู่ในขอบข่ายที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้จากการจำหน่ายเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยด้วย หากเข้าเงื่อนไขตามที่ ป. รัษฎากร มาตรา 70 ทวิ กำหนดไว้ ทั้งนี้ เพื่อความเสมอภาคในการเสียภาษีให้แก่รัฐบาลไทยเช่นเดียวกับกรณีที่บริษัทต่างประเทศเข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทยในลักษณะของสำนักงานสาขา ซึ่งหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีจากการจำหน่ายเงินกำไร หรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยนั้น ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 70 ทวิ ให้จัดเก็บจากจำนวนเงินกำไรที่จำหน่ายออกไปจากประเทศไทยเพื่อประโยชน์ของนิติบุคคลต่างประเทศที่ได้รับเงินได้จากแหล่งเงินได้ในประเทศไทย เมื่อการซื้อขายสินค้าหรือให้บริการกรณีนี้ระหว่างผู้ซื้อในประเทศไทยกับบริษัทดังกล่าวเป็นการทำสัญญาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยมีโจทก์เป็นผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อให้แก่บริษัทดังกล่าวในประเทศไทย อีกทั้งโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแทนบริษัทดังกล่าว การที่โจทก์เข้าไปผูกพันกับบริษัทดังกล่าวในการยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแทน โจทก์ย่อมรู้ข้อมูลเกี่ยวกับรายได้และรายจ่ายของบริษัทดังกล่าวเป็นอย่างดี แสดงให้เห็นว่าโจทก์มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบริษัทดังกล่าวอย่างมาก มิฉะนั้น โจทก์คงไม่เข้าไปผูกพันกับบริษัทดังกล่าวเช่นนั้น โจทก์จึงมิใช่เป็นเพียงตัวแทนธรรมดาทั่วไปที่หาลูกค้าให้บริษัทดังกล่าวเท่านั้น ดังนั้นการที่บริษัทดังกล่าวมีข้อตกลงให้ลูกค้าในประเทศไทยส่งเงินหรือจ่ายค่าตอบแทนให้แก่บริษัทดังกล่าวด้วยวิธีการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับธนาคารพาณิชย์ชำระให้แก่บริษัทดังกล่าวโดยตรง หรือบริษัทดังกล่าวไปเบิกเงินจากกองทุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจโพ้นทะเลประเทศญี่ปุ่นโดยตรง จึงเป็นเพียงข้อตกลงเกี่ยวกับวิธีการจ่ายเงินชำระค่าสินค้าหรือค่าบริการตามที่โจทก์ตกลงกับบริษัทดังกล่าวเท่านั้น โจทก์จะนำความแตกต่างเกี่ยวกับวิธีการจ่ายเงินชำระค่าสินค้าหรือค่าจ้างเพียงเท่านี้มาเป็นเหตุให้เกิดภาระภาษีที่แตกต่างกันหาได้ไม่ ด้วยเหตุนี้ แม้ลูกค้าจะเป็นผู้ส่งเงินค่าสินค้าหรือค่าจ้างให้แก่บริษัทดังกล่าวซึ่งอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นโดยตรงก็ตาม ก็หามีผลผิดแผกแตกต่างไปจากการที่ลูกค้าส่งเงินค่าสินค้าหรือค่าจ้างให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อ แล้วโจทก์จึงส่งเงินค่าสินค้าหรือค่าจ้างดังกล่าวไปให้บริษัทดังกล่าวอีกทอดหนึ่ง เพราะไม่ว่าโจทก์ในฐานะผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อจะเป็นผู้ส่งเงินค่าสินค้าหรือค่าจ้างออกไปเองหรือให้ลูกค้าของบริษัทดังกล่าวชำระค่าสินค้าหรือค่าจ้างทั้งหมดให้แก่บริษัทดังกล่าวในต่างประเทศโดยตรงด้วยการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทดังกล่าวไปเบิกเงินค่าสินค้าหรือค่าจ้างจากกองทุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจโพ้นทะเลประเทศญี่ปุ่นโดยตรง ก็ถือได้ว่ามีผลทำให้บริษัทดังกล่าวซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างประเทศที่ถือว่าประกอบกิจการในประเทศไทยได้รับเงินได้จากแหล่งเงินได้ในประเทศไทย และเมื่อเงินที่จำหน่ายออกไปจากประเทศไทยมีส่วนของกำไรหรือถือได้ว่าเป็นกำไรรวมอยู่ด้วยเนื่องจากในการกำหนดราคาขายสินค้าหรือให้บริการ ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการจะต้องคิดค่าสินค้าหรือค่าจ้างรวมเอาส่วนที่เป็นผลกำไรไว้ด้วย เมื่อไม่ปรากฏปัจจัยอื่นที่จะมีผลทำให้กำไรที่คำนวณไว้โดยปกติธรรมดาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่จะทำให้มีการขาดทุน จึงต้องถือว่าโจทก์ในฐานะผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อเป็นผู้จำหน่ายเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย โจทก์จึงต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม ป. รัษฎากร มาตรา 70 ทวิ
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีในฐานะผู้ถูกโต้แย้งสิทธิหรือไม่ เห็นว่า ตามหนังสือแจ้งการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นหนังสือที่จำเลยที่ 1 แจ้งโจทก์ในฐานะผู้ทำการแทนบริษัทมิตซูบิชิคอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทต่างประเทศตาม ป. รัษฎากร มาตรา 76 ทวิ ว่า ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีไม่ถูกต้อง ในกรณีภาษีเงินได้นิติบุคคลโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งการที่จะเรียกให้ผู้ทำการแทนรับผิดตาม ป. รัษฎากร มาตรา 76 ทวิ วรรคแรกนั้น เจ้าพนักงานประเมินจะต้องดำเนินการตามมาตรา 19 และ 20 แห่ง ป. รัษฎากร ก่อน กล่าวคือ จะต้องเรียกบุคคลผู้ต้องรับผิดนั้นมาไต่สวนแล้วแจ้งจำนวนเงินที่จะประเมินไปยังบุคคลผู้ต้องรับผิด เพื่อที่บุคคลนั้นจะได้มีโอกาสอุทธรณ์การประเมินตามความในมาตรา 76 ทวิ วรรคสาม แห่ง ป. รัษฎากร ก่อน ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่าโจทก์เป็นผู้ถูกโต้แย้งสิทธิโดยตรง สำหรับกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย แม้ตามหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย จะแจ้งแก่โจทก์ในฐานะผู้ทำการแทนบริษัทมิตซูบิชิคอร์ปอเรชั่น จำกัด ประเทศญี่ปุ่น แต่ข้อเท็จจริงได้ความตามคำฟ้องของโจทก์ว่า โจทก์ในฐานะสถานประกอบการถาวรของบริษัทดังกล่าวได้จ่ายเงินเดือนให้แก่ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเข้ามาควบคุมติดตั้งเครื่องจักรในโครงการต่าง ๆ ที่บริษัทดังกล่าวได้รับอนุญาตให้ทำในประเทศไทย ดังนั้น เมื่อโจทก์มีฐานะเป็นผู้จ่ายเงินตามมาตรา 50 แห่ง ป. รัษฎากร มิได้หักและนำเงินส่งหรือได้หักและนำเงินส่งแล้วแต่ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้อง ผู้จ่ายเงินคือโจทก์ต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่มิได้หักและนำส่งหรือตามจำนวนที่ขาดไป แล้วแต่กรณี ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 54 ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่าโจทก์เป็นผู้ถูกโต้แย้งสิทธิโดยตรง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง คำแก้อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 20,000 บาท แทนจำเลยทั้งสี่.