แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำฟ้องและออกหมายเรียกเป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยากซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 196 วรรคสอง ที่ใช้บังคับในขณะนั้น บัญญัติว่า “ถ้าศาลเห็นว่าคดีนั้นปรากฏในเบื้องต้นว่าเป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยาก ไม่ว่าโจทก์จะได้ยื่นคำขอตามวรรคหนึ่งหรือไม่ ก็ให้ศาลมีคำสั่งให้นำบทบัญญัติในหมวดนี้ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีมโนสาเร่เว้นแต่มาตรา 190 จัตวา มาใช้บังคับแก่คดีเช่นว่านั้นได้ภายในบังคับต่อไปนี้ (1) ให้ศาลออกหมายเรียกไปยังจำเลยแสดงจำนวนเงินที่เรียกร้องและเหตุแห่งการเรียกร้องและให้จำเลยมาศาลและให้การในวันใดวันหนึ่งตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดโดยมิให้เป็นการเสียหายแก่การต่อสู้คดี” จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ในคดีไม่มีข้อยุ่งยาก กฎหมายกำหนดให้ศาลออกหมายเรียกให้จำเลยมาศาลและให้การในวันใดวันหนึ่งตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนด หมายเรียกคดีนี้กำหนดให้จำเลยทั้งสองมาศาลและให้การแก้ข้อหาแห่งคดีในวันที่ 5 กรกฎาคม 2549 เวลา 9 นาฬิกา ถูกต้องตามบทบัญญัติดังกล่าว แต่ก่อนถึงวันนัด 2 วัน จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2549 ขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การแก้ข้อหาแห่งคดีและนัดพิจารณาคดีออกไป 60 วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การภายในวันที่ 3 สิงหาคม 2549 ส่วนวันนัดพิจารณาคดีศาลชั้นต้นไม่ได้สั่งให้เลื่อน จึงถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้ใช้ดุลพินิจกำหนดระยะเวลาให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การใหม่ได้จนถึงวันที่ 3 สิงหาคม 2549 โดยมิให้เป็นการเสียหายแก่การต่อสู้คดีของจำเลยทั้งสองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 196 วรรคสอง (1) แล้ว เมื่อถึงวันนัดคู่ความมาศาล ศาลชั้นต้นสอบถามคู่ความแล้วแถลงว่าประสงค์จะเจรจาตกลงกัน ขอให้นำคดีเข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ย ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้นำคดีเข้าสู่ระบบการไกล่เกลี่ยของศาล โดยนัดไกล่เกลี่ยวันที่ 18 สิงหาคม 2549 จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กำหนด แม้คดีจะอยู่ในระหว่างการไกล่เกลี่ยก็ไม่ทำให้ระยะเวลาในการยื่นคำให้การต้องขยายออกไป นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาความในวรรคสอง (2) และ (3) แล้ว เจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งประสงค์ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาคดีไม่มีข้อยุ่งยากโดยเร็วเท่าที่พึงกระทำได้ โดยห้ามมิให้ศาลอนุญาตตามคำขอของจำเลยเพื่อเลื่อนเวลายื่นคำให้การหรือเพื่อเลื่อนคดี เว้นแต่จำเลยจะแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่า คำขอของตนมีเหตุผลดีและสันนิษฐานได้เบื้องต้นว่า จำเลยมีข้อต่อสู้คดีอันสมควร การที่จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การและฟ้องแย้งในวันที่ 11 สิงหาคม 2549 เป็นการยื่นคำให้การเกินกำหนด ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองชอบแล้วและโดยเหตุที่คดีไม่มีข้อยุ่งยากกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้นมิได้กำหนดให้ศาลต้องสอบถามคำให้การของจำเลยเหมือนดั่งคดีมโนสาเร่ ทั้งจำเลยทั้งสองก็ขาดนัดยื่นคำให้การไปก่อนแล้ว ศาลชั้นต้นจึงไม่มีหน้าที่ต้องสอบถามคำให้การจำเลยทั้งสองในวันที่ 10 สิงหาคม 2550 ที่มีการสืบพยานโจทก์ การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 889,732.39 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 479,902.92 บาท และอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 10,274.14 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระ ให้บังคับเอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด ถ้าได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การและฟ้องแย้งพ้นกำหนดระยะเวลาที่ศาลอนุญาต ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 889,732.39 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.75 ต่อปี ของต้นเงิน 479,902.92 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 28 เมษายน 2549) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 20365 ตำบลอ่างศิลา อำเภอเมืองชลบุรี (เมือง) จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาด ถ้าได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 8,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกคำพิพากษาและคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นรับคำให้การและฟ้องแย้งจำเลยทั้งสองเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องแล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องและออกหมายเรียกเป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยากให้จำเลยทั้งสองมาศาลและให้การแก้ข้อหาแห่งคดีในวันที่ 5 กรกฎาคม 2549 เวลา 9 นาฬิกา วันที่ 3 กรกฎาคม 2549 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การภายในวันที่ 3 สิงหาคม 2549 เมื่อถึงวันนัด คู่ความมาศาลแถลงว่าประสงค์จะเจรจาตกลงกัน ขอให้นำคดีเข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นำคดีเข้าสู่ระบบการไกล่เกลี่ยโดยนัดไกล่เกลี่ยวันที่ 18 สิงหาคม 2549 เวลา 9 นาฬิกา ครั้นวันที่ 11 สิงหาคม 2549 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องว่า จำเลยทั้งสองประมาทเลินเล่อที่ไม่ได้ตรวจสอบคำสั่งศาลว่า ศาลอนุญาตให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การถึงวันที่เท่าใด จำเลยทั้งสองประสงค์จะต่อสู้คดีโจทก์ ไม่มีเจตนาที่จะขาดนัดยื่นคำให้การขออนุญาตให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การและนัดสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไป กับยื่นคำให้การและฟ้องแย้งในวันเดียวกัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องและไม่รับคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง หลังจากนั้นคู่ความมาศาลเพื่อไกล่เกลี่ยในวันที่ 18 สิงหาคม 2549 วันที่ 27 กันยายน 2549 วันที่ 7 พฤศจิกายน 2549 และวันที่ 8 ธันวาคม 2549 รวม 4 ครั้ง แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ ศาลชั้นต้นจึงสืบพยานโจทก์ในวันที่ 10 สิงหาคม 2550 เวลา 9 นาฬิกา และมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2550
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า แม้หมายเรียกคดีไม่มีข้อยุ่งยากไม่มีข้อความให้จำเลยทั้งสองมาศาลเพื่อการไกล่เกลี่ย แต่ศาลชั้นต้นก็ได้ดำเนินการไกล่เกลี่ยคู่ความมาตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2549 ถือว่าศาลชั้นต้นได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 193 วรรคสอง แล้ว และตามคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การลงวันที่ 11 สิงหาคม 2549 จำเลยทั้งสองยอมรับว่า จำเลยทั้งสองประมาทเลินเล่อที่ไม่ได้ตรวจสอบคำสั่งศาลว่า ศาลอนุญาตให้จำเลยทั้งสองขยายระยะเวลายื่นคำให้การถึงวันที่เท่าใด ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองจึงชอบแล้ว ทั้งต่อมาจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องลงวันที่ 14 กันยายน 2549 ขอให้ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์โดยอ้างว่า โจทก์ไม่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่ระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลงและเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง จำเลยทั้งสองก็มิได้คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้น จึงถือว่าจำเลยทั้งสองยอมรับว่า จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 193 วรรคสี่ แล้ว ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นไม่ได้สอบถามคำให้การจำเลยทั้งสองก่อนมีการสืบพยานโจทก์ในวันที่ 10 สิงหาคม 2550 จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 193 วรรคสาม แล้ว เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำฟ้องและออกหมายเรียกเป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยาก ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 196 วรรคสอง ที่ใช้บังคับในขณะนั้น บัญญัติว่า “ถ้าศาลเห็นว่าคดีนั้นปรากฏในเบื้องต้นว่าเป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยาก ไม่ว่าโจทก์จะได้ยื่นคำขอตามวรรคหนึ่งหรือไม่ ก็ให้ศาลมีคำสั่งให้นำบทบัญญัติในหมวดนี้ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีมโนสาเร่ เว้นแต่มาตรา 190 จัตวา มาใช้บังคับแก่คดีเช่นว่านั้นได้ภายในบังคับต่อไปนี้ (1) ให้ศาลออกหมายเรียกไปยังจำเลยแสดงจำนวนเงินที่เรียกร้องและเหตุแห่งการเรียกร้องและให้จำเลยมาศาลและให้การในวันใดวันหนึ่งตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดโดยมิให้เป็นการเสียหายแก่การต่อสู้คดี” จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ในคดีไม่มีข้อยุ่งยากกฎหมายกำหนดให้ศาลออกหมายเรียกให้จำเลยมาศาลและให้การในวันใดวันหนึ่งตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนด ซึ่งในหมายเรียกคดีไม่มีข้อยุ่งยากที่ศาลออกไปยังจำเลยทั้งสองนั้น ได้กำหนดให้จำเลยทั้งสองมาศาลและให้การแก้ข้อหาแห่งคดีในวันที่ 5 กรกฎาคม 2549 เวลา 9 นาฬิกา ถูกต้องตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว แต่ก่อนถึงวันนัด 2 วัน จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2549 ขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การแก้ข้อหาแห่งคดีและนัดพิจารณาคดีออกไป 60 วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การภายในวันที่ 3 สิงหาคม 2549 ส่วนวันนัดพิจารณาคดีศาลชั้นต้นไม่ได้สั่งให้เลื่อนการพิจารณาคดีแต่อย่างใด จึงถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้ใช้ดุลพินิจกำหนดระยะเวลาให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การใหม่ได้จนถึงวันที่ 3 สิงหาคม 2549 โดยมิให้เป็นการเสียหายแก่การต่อสู้คดีของจำเลยทั้งสอง ตามความมุ่งหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 196 วรรคสอง (1) แล้ว เมื่อถึงวันนัด คู่ความมาศาล ศาลชั้นต้นก็ได้สอบถามคู่ความแล้วแถลงว่า ประสงค์จะเจรจาตกลงกัน ขอให้นำคดีเข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ย ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้นำคดีเข้าสู่ระบบการไกล่เกลี่ยของศาล โดยนัดไกล่เกลี่ยวันที่ 18 สิงหาคม 2549 จำเลยทั้งสองซึ่งได้รับอนุญาตให้ยื่นคำให้การภายในวันที่ 3 สิงหาคม 2549 จึงมีหน้าที่ต้องยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กำหนด แม้คดีจะอยู่ในระหว่างการไกล่เกลี่ยก็ไม่ทำให้ระยะเวลาในการยื่นคำให้การของจำเลยทั้งสองที่ได้รับอนุญาตจากศาลต้องขยายออกไป นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาความในวรรคสอง (2) และ (3) ของบทบัญญัติดังกล่าวประกอบกันแล้ว ยิ่งแสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งประสงค์ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาคดีไม่มีข้อยุ่งยากโดยเร็วเท่าที่พึงกระทำได้ โดยห้ามมิให้ศาลอนุญาตตามคำขอของจำเลยเพื่อเลื่อนเวลายื่นคำให้การหรือเพื่อเลื่อนคดี เว้นแต่จำเลยจะแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่า คำขอของตนมีเหตุผลดีและสันนิษฐานได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยมีข้อต่อสู้คดีอันสมควร ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นได้ใช้ดุลพินิจอนุญาตให้จำเลยทั้งสองเลื่อนเวลายื่นคำให้การออกไปจนถึงวันที่ 3 สิงหาคม 2549 แล้ว จำเลยทั้งสองจึงต้องยื่นคำให้การภายในระยะเวลาตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ การที่จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การและฟ้องแย้งในวันที่ 11 สิงหาคม 2549 จึงเป็นการยื่นคำให้การเกินกำหนด ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองชอบแล้ว และโดยเหตุที่คดีไม่มีข้อยุ่งยากนี้กฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้นมิได้กำหนดให้ศาลต้องสอบถามคำให้การของจำเลยเหมือนดั่งคดีมโนสาเร่ อีกทั้งจำเลยทั้งสองก็ขาดนัดยื่นคำให้การไปก่อนแล้ว ศาลชั้นต้นจึงไม่มีหน้าที่ต้องสอบถามคำให้การจำเลยทั้งสองในวันที่ 10 สิงหาคม 2550 ที่มีการสืบพยานโจทก์ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองเป็นการไม่ชอบและพิพากษายกคำพิพากษาและคำสั่งศาลชั้นต้นนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 888,640.79 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้หักเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระระหว่างวันที่ 31 มีนาคม 2531 ถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2541 รวม 117 ครั้ง ออกจากจำนวนหนี้ในวันที่มีการชำระแต่ละครั้ง โดยหักชำระดอกเบี้ยก่อน หากมีเหลือให้หักชำระต้นเงิน เมื่อหักชำระแล้วต้นเงิน ณ วันที่ 28 เมษายน 2549 ต้องไม่เกิน 479,902.92 บาท ตามที่โจทก์ฟ้อง หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 20365 ตำบลอ่างศิลา อำเภอเมืองชลบุรี (เมือง) จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาด ถ้าได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ คำขอให้ชำระค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยให้ยก กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี