คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2178/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อ อ. เป็นผู้จัดการของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนิติบุคคลย่อมเป็นผู้เสียหายตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา2(4),5(3) ในอันที่จะดำเนินการร้องทุกข์หรือฟ้องร้องคดีอาญาด้วยตนเองหรือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกระทำแทนได้(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 890/2503)
สำเนาใบเบิกพัสดุที่เป็นเอกสารคู่ฉบับที่ผู้ขอเบิกพัสดุนำมาขอเบิกและรับพัสดุไปจากจำเลยตามรายการที่ขอเบิกและมอบให้จำเลยเก็บรักษาไว้เป็นหลักฐานการที่จำเลยแก้ไขเปลี่ยนแปลงจำนวนรายการของเพิ่มขึ้นนอกเหนือก็เพื่อใช้เอกสารที่ทำปลอมขึ้นนี้เพื่อยักยอกเอาพัสดุของโจทก์ร่วมซึ่งอยู่ในความดูแลรักษารับผิดชอบของจำเลยไปเป็นประโยชน์ของตนหรือผู้อื่นเป็นเพียงแต่การใช้เพื่ออำพรางความผิดของตนหาใช่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา1(9) ไม่ สำเนาใบเบิกพัสดุจึงไม่ใช่เอกสารสิทธิ
ความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354 มีลักษณะของการกระทำความผิดโดยเฉพาะและหนักเป็นกรณีพิเศษเมื่อโจทก์มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษตามมาตรา 354 แล้ว ศาลจะลงโทษตามบทมาตรานี้ไม่ได้
การที่จำเลยปลอมเอกสารและใช้เอกสารที่ทำปลอมขึ้นก็เพื่อใช้ในการยักยอกเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปในคราวเดียวกันย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวกันแต่มีความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา90 แต่เมื่อจำเลยได้ทำปลอมเอกสารและใช้เอกสารที่ปลอมเพื่อใช้ยักยอกทรัพย์ของโจทก์ร่วม 22 ครั้ง มีจำนวนถึง 22 ฉบับการกระทำของจำเลยจึงถือได้ว่าเป็นการกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างของบริษัทเอสโซ่แสตนดาร์ดประเทศไทยจำกัด ในตำแหน่งหัวหน้าคลังพัสดุ ได้บังอาจปลอมใบเบิกพัสดุอันเป็นเอกสารสิทธิของนายจ้างรวม 22 ฉบับ เป็นราคาพัสดุ 6,960.60 บาท และบังอาจยักยอกเอาพัสดุในความดูแลของจำเลยไปรวมราคา 1,776,434.59 บาท และบังอาจลักเอาบัตรคุมพัสดุของผู้เสียหายไปจำนวน 400 ฉบับคิดเป็นเงิน100 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 264, 265,268, 335(11), 352, 353 ให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหาย

บริษัทเอสโซ่แสตนดาร์ดประเทศไทย จำกัด ได้เข้าเป็นโจทก์ร่วม

จำเลยแถลงขอต่อสู้คดีถือว่าจำเลยปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268 อย่างละ 22 กระทง ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามมาตรา 265 เพียงฐานเดียว 22 กระทง ฐานยักยอกตามมาตรา 352, 354 ให้ลงโทษตามมาตรา 354 อีก 22 กระทง จำคุกกระทงละ 3 เดือน

โจทก์ โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ใบเบิกพัสดุไม่ใช่เอกสารสิทธิ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 353 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้วจึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 352 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก ศาลชั้นต้นลงโทษตามมาตรา 354 เป็นการพิพากษาเกินคำขอ พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 268 และฐานยักยอกตามมาตรา 353 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ความผิดทั้งสองฐานมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 264 ประกอบด้วยมาตรา 268 จำคุกกระทงละ 3 เดือน รวม 22 กระทง

โจทก์ร่วมและจำเลยฎีกา โดยจำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ที่จำเลยฎีกาว่าบริษัทโจทก์ร่วม โดยนายเอ็ดเวิร์ด เอส โคเฮน กรรมการผู้จัดการ ไม่มีอำนาจมอบให้บุคคลอื่นร้องทุกข์และดำเนินคดีแทน เพราะเป็นการกระทำที่ขัดต่อข้อบังคับของบริษัทโจทก์ร่วมในข้อที่ว่าการฟ้องร้องก็ดี หรือการเริ่มให้มีการฟ้องร้องก็ดี ย่อมเป็นอำนาจของคณะกรรมการบริษัทเท่านั้นที่จะกระทำได้ การที่ผู้จัดการบริษัทโจทก์ร่วม มอบอำนาจให้บุคคลอื่นร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนก็ดี และการมอบอำนาจให้บุคคลอื่นยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมด้วยพนักงานอัยการก็ดี เป็นการมอบอำนาจที่ไม่ชอบ การสอบสวนของพนักงานสอบสวน จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ พนักงานอัยการย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายเอ็ดเวิร์ด เอส โคเฮน เป็นผู้จัดการบริษัทโจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4), 5(3) ในอันที่จะดำเนินการร้องทุกข์หรือฟ้องร้องคดีอาญาด้วยตนเอง หรือมอบอำนาจให้บุคคลทำการแทนได้ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 890/2503)

ส่วนปัญหาว่าสำเนาใบเบิกพัสดุทั้ง 22 ฉบับ เป็นเอกสารสิทธิหรือไม่เห็นว่า สำเนาใบเบิกพัสดุดังกล่าวเป็นเอกสารคู่ฉบับที่ผู้ขอเบิกพัสดุนำมาขอเบิกและรับพัสดุไปจากจำเลยตามรายการที่ขอเบิก ด้วยการมอบเอกสารสำเนาใบเบิกดังกล่าวให้จำเลยเก็บรักษาไว้เป็นหลักฐานต่อการงานในหน้าที่ของจำเลย การที่จำเลยแก้ไขเปลี่ยนแปลงจำนวนรายการของเพิ่มขึ้นนอกเหนือก็เพื่อใช้เอกสารที่ทำปลอมขึ้นเพื่อยักยอกเอาพัสดุของโจทก์ร่วมซึ่งอยู่ในความดูแลรักษารับผิดชอบของจำเลยไป เพื่อเป็นประโยชน์ตนหรือผู้อื่นเป็นเพียงแต่การเพื่อใช้อำพรางการกระทำผิดของตน หาใช่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอนสงวน หรือระงับซึ่งสิทธิตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(9) ไม่ จึงถือไม่ได้ว่าสำเนาใบเบิกพัสดุดังกล่าวเป็นเอกสารสิทธิ

ที่โจทก์ร่วมฎีกาว่า แม้ตามคำขอท้ายฟ้องจะไม่ได้อ้างมาตรา 354 ศาลก็ย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามมาตราดังกล่าวซึ่งเป็นฐานความผิดที่ถูกต้องได้นั้น เห็นว่าความผิดตามมาตรา 354 ได้บัญญัติลักษณะของการกระทำไว้โดยเฉพาะและหนักเป็นกรณีพิเศษ เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษตามมาตรา 354 แล้ว ศาลจะพิพากษาลงโทษตามบทมาตรานี้ไม่ได้ เป็นการเกินคำขอ

ที่โจทก์ร่วมฎีกาว่า การทำเอกสารปลอมก็ดี การใช้เอกสารปลอมก็ดีและการยักยอกพัสดุไปก็ดี เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน และจำเลยฎีกาว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดเพียงกระทงเดียวนั้นเห็นว่า การปลอมเอกสารและใช้เอกสารที่ทำปลอมขึ้นก็เพื่อใช้ในการยักยอกเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปในคราวเดียวกัน ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวแต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ซึ่งให้ใช้กฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดเป็นบทลงโทษ แต่เมื่อจำเลยได้ทำปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม เพื่อใช้ยักยอกทรัพย์ของโจทก์ร่วม22 ครั้ง มีจำนวนถึง 22 ฉบับ การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นการกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ตามมาตรา 91 ซึ่งให้ลงโทษผู้กระทำความผิดนั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป

พิพากษายืน

Share