คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6532/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

บทบัญญัติประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 31 มีเจตนาจะปกป้องราษฎรผู้ได้สิทธิในที่ดินให้มีที่ดินไว้ทำกินเป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปี และภายในระยะเวลาดังกล่าวทางราชการยังควบคุมที่ดินนั้นอยู่ มิได้ปล่อยให้เป็นสิทธิเด็ดขาดแก่ผู้ครอบครองจนกว่าจะพ้นระยะเวลาที่อยู่ในบังคับห้ามโอน ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจสละหรือโอนสิทธิครอบครองหรือทำนิติกรรมสัญญาประการใดอันมีผลหรือมีลักษณะไปในทางที่สละหรือโอนหรืออาจต้องถูกบังคับให้มีการโอนสิทธิครอบครองดังกล่าวได้ เมื่อโจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทภายในระยะเวลาห้ามโอน แม้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจะกำหนดรับโอนสิทธิครอบครองกันในวันที่พ้นระยะเวลาห้ามโอนแล้วก็ตาม ก็เป็นการจงใจหลีกเลี่ยงข้อกำหนดห้ามโอนตามกฎหมาย เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ส่วนสัญญาจำนองเป็นประกันเห็นได้ชัดว่า โจทก์และจำเลยจำนองเป็นประกันในวงเงินเท่ากับราคาที่ซื้อขายกัน ส่วนสัญญาก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดินก็ทำในวันเดียวกับสัญญาจะซื้อจะขาย เห็นได้ว่าสัญญาจำนองเป็นประกันและสัญญาก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดินเป็นเพียงนิติกรรมอำพรางสัญญาจะซื้อจะขายโดยคู่สัญญาไม่มีเจตนาผูกพันในเรื่องจำนองและสิทธิเหนือพื้นดิน สัญญาดังกล่าวจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155
โจทก์ไม่มีสิทธิสละหรือโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยภายในระยะเวลาห้ามโอนรวมถึงการเข้าแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทในช่วงเวลานี้ก็ทำไม่ได้ดังนั้น การยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยจึงถือได้ว่าจำเลยครอบครองไว้แทนโจทก์ ไม่ถือว่าจำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ กรณีไม่ใช่ฟ้องร้องเอาคืนซึ่งการครอบครองที่จะต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง
เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท สัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันและสัญญาก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดิน เป็นนิติกรรมที่เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 และมาตรา 155 โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียชอบที่จะยกข้อสัญญาที่เป็นโมฆะขึ้นกล่าวอ้างได้การที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลวินิจฉัยว่าสัญญาต่าง ๆ ดังกล่าวเป็นโมฆะจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่าสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลย สัญญาก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดินในที่ดินพิพาทและสัญญาจำนองเป็นประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยฉบับลงวันที่ 25 มีนาคม2531 ตกเป็นโมฆะให้จำเลยไปจดทะเบียนเพิกถอนสิทธิเหนือพื้นดิน และนิติกรรมจำนองเป็นประกันให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย โดยให้จำเลยเป็นผู้รับผิดชอบในค่าใช้จ่ายทั้งหมด

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยสัญญาก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดินในที่ดินพิพาทและสัญญาจำนองเป็นประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยฉบับลงวันที่ 25 มีนาคม 2531 ตกเป็นโมฆะ ให้จำเลยไปจดทะเบียนเพิกถอนสิทธิเหนือพื้นดินและนิติกรรมจำนองเป็นประกันให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยอุทธรณ์

ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 โจทก์ถึงแก่กรรม นายครรชิตศิริภักดี ทายาทและผู้จัดการมรดกของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนศาลอุทธรณ์ภาค 2 อนุญาต

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 103 ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงรายซึ่งทางราชการออกให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2526 โดยมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปีตามมาตรา 31 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน นับตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2526 ตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เอกสารหมาย จ.1 เมื่อปี 2528 โจทก์ขายที่ดินพิพาทให้แก่นางสุวิมล ต่ายใหญ่เที่ยง และนางวสุธาพร อุทัยวรวิทย์ แต่เนื่องจากอยู่ในระยะเวลาห้ามโอน โจทก์จึงจำนองเป็นประกันและจดทะเบียนก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดินในที่ดินพิพาทให้แก่นางสุวิมลและนางวสุธาพร ต่อมาวันที่ 25 มีนาคม2531 โจทก์ไถ่ถอนจำนองและจดทะเบียนเลิกสิทธิเหนือพื้นดินในที่ดินพิพาทจากนางสุวิมลและนางวสุธาพร ในวันเดียวกันนั้นโจทก์จำนองเป็นประกันและจดทะเบียนก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดินในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยมีกำหนด30 ปี ตามสำเนาหนังสือสัญญาจำนองเป็นประกันและหนังสือก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดินเอกสารหมาย จ.13 และ จ.15 นอกจากนั้นโจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย โดยกำหนดโอนสิทธิครอบครองกันภายในวันที่ 6 กันยายน 2536 ตามสำเนาหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเอกสารหมาย จ.16 และโจทก์ได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยกับโจทก์ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยนับตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2531 ต่อมาโจทก์ปฏิเสธความผูกพันตามสัญญาต่าง ๆ ที่ได้ทำไว้กับจำเลย

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่าสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท สัญญาจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันและสัญญาก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดินในที่ดินพิพาทเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)ซึ่งออกให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2526 โดยมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปีตามมาตรา 31 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน นับตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2526 ซึ่งบทบัญญัติของมาตรานี้เห็นเจตนาได้ว่าประสงค์จะปกป้องราษฎรผู้ได้สิทธิในที่ดินให้มีที่ดินไว้ทำกินเป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปีและภายในระยะเวลาดังกล่าวทางราชการยังควบคุมที่ดินนั้นอยู่ มิได้ปล่อยให้เป็นสิทธิเด็ดขาดแก่ผู้ครอบครองจนกว่าจะพ้นระยะเวลาที่อยู่ในบังคับห้ามโอน ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจสละหรือโอนสิทธิครอบครองหรือทำนิติกรรมสัญญาประการใดอันมีผลหรือมีลักษณะไปในทางที่สละหรือโอนหรืออาจต้องถูกบังคับให้มีการโอนสิทธิครอบครองดังกล่าวได้ เมื่อโจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2531 ซึ่งอยู่ในระยะเวลาห้ามโอน แม้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจะกำหนดรับโอนสิทธิครอบครองกันภายในวันที่ 6 กันยายน 2536 ซึ่งพ้นระยะเวลาห้ามโอนแล้วก็ตาม ก็เป็นการจงใจหลีกเลี่ยงข้อกำหนดห้ามโอนตามกฎหมาย เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ส่วนสัญญาจำนองเป็นประกันเห็นได้ชัดว่า โจทก์และจำเลยจำนองเป็นประกันในวงเงินเท่ากับราคาที่ซื้อขายกัน ส่วนสัญญาก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดินก็ทำในวันเดียวกับสัญญาจะซื้อจะขาย เห็นได้ว่าสัญญาจำนองเป็นประกันและสัญญาก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดินเป็นเพียงนิติกรรมอำพรางสัญญาจะซื้อจะขายโดยคู่สัญญาไม่มีเจตนาผูกพันในเรื่องจำนองและสิทธิเหนือพื้นดิน สัญญาดังกล่าวจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สองว่าโจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองเกินกว่า 1 ปี อันจะทำให้หมดสิทธิฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 หรือไม่จำเลยฎีกาว่า จำเลยเข้าครอบครองที่ดิน ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2531โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2535 จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิสละหรือโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยภายในระยะเวลาห้ามโอนรวมถึงการเข้าแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทในช่วงเวลานี้ก็ทำไม่ได้ ดังนั้น การยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2531 จึงถือได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทไว้แทนโจทก์ ไม่ถือว่าจำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ กรณีไม่ใช่ฟ้องร้องเอาคืนซึ่งการครอบครองที่จะต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสองที่ศาลล่างทั้งสองพิพาทต้องกันมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า โจทก์ฟ้องคดีโดยใช้สิทธิไม่สุจริตหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท สัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันและสัญญาก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดิน เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและเป็นนิติกรรมอำพรางตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 และมาตรา 155 โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียชอบที่จะยกข้อสัญญาที่เป็นโมฆะขึ้นกล่าวอ้างได้ การที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลวินิจฉัยว่า สัญญาต่าง ๆดังกล่าวเป็นโมฆะ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษายืน

Share