แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยซึ่งมีข้อความว่า ที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยค้างชำระค่าจ้างรับเหมาก่อสร้าง 2 งวด กับค่าก่อสร้างเพิ่มเติมนั้น ไม่เป็นความจริง หากจำเลยได้เข้ามาสู้คดีกับโจทก์ จำเลยมีทางชนะคดีโจทก์ได้แน่นอน แล้ว ต่อจากนั้นจำเลยก็ได้บรรยายมาในคำขอโดยละเอียดถึงสาเหตุที่จำเลยไม่จ่ายเงินค่าจ้างรับเหมาและค่าก่อสร้างเพิ่มเติมดังกล่าวเช่นนี้ ถือได้ว่า จำเลยได้คัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลโดยชัดแจ้งแล้ว
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญาจ้างเหมาให้โจทก์ก่อสร้างอาคารตึก 1 หลัง กำหนดจ่ายเงินค่าจ้างเป็นงวด ๆ รวม 8 งวด นอกจากนั้นจำเลยยังได้ว่าจ้างให้โจทก์เปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติมงานก่อสร้างนอกเหนือไปจากสัญญา เป็นการตกลงด้วยวาจารวม 10 รายการคิดเป็นเงิน 35,570 บาท สำหรับงานก่อสร้างตามสัญญานั้นจำเลยค้างชำระโจทก์อยู่ 2 งวด คือ งวดที่ 7 และที่ 8 เป็นเงิน 125,000 บาท โจทก์ได้ทวงถามหลายครั้ง จำเลยกลับอ้างเหตุต่าง ๆ แล้วบอกเลิกสัญญา โจทก์ทำงานแล้วเสร็จไปประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ขอให้จำเลยชำระเงินค่าก่อสร้างที่ค้าง 2 งวด กับค่าก่อสร้างเพิ่มเติม รวม160,570 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ยให้โจทก์
เนื่องจากการส่งหมายเรียกให้จำเลย ณ ภูมิลำเนาไม่อาจทำได้ศาลชั้นต้นจึงประกาศเรียกจำเลยทางหนังสือพิมพ์ โดยกำหนดวันให้จำเลยยื่นคำให้การ และวันนัดสืบพยานโจทก์ไปด้วย จำเลยไม่ยื่นคำให้การและไม่มาศาลตามกำหนด ศาลชั้นต้นจึงสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ดำเนินการสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินโจทก์ 144,513 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่อ้างเหตุว่าจำเลยมิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา จำเลยไม่ทราบว่าโจทก์ฟ้องจำเลย
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของจำเลยแล้ว มีคำสั่งว่า ตามคำร้องของจำเลยนั้น ข้อ 2, 3 และ 4 ได้กล่าวถึงเหตุที่จำเลยขาดนัดส่วนคำร้องข้อ 5 เป็นการกล่าวโต้แย้งคำฟ้องของโจทก์ ดังนั้นคำร้องของจำเลยจึงไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 วรรค 2 เพราะไม่มีข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาล
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำขอของจำเลยมีข้อความตรงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นสั่งคำขอของจำเลยใหม่
โจทก์ฎีกา
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยคงมีว่า คำร้องของจำเลยที่ขอให้พิจารณาใหม่นั้น มีข้อความคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลชั้นต้นโดยชัดแจ้งหรือไม่ ศาลฎีกาได้ตรวจคำร้องดังกล่าวของจำเลย โดยเฉพาะความในข้อ 5 จำเลยกล่าวว่า “ด้วยความเคารพต่อศาลแพ่ง ตามฟ้องโจทก์อ้างว่าจำเลยเป็นหนี้ค่ารับเหมาก่อสร้างงวดที่ 7 และงวดที่ 8 กับค่าก่อสร้างเพิ่มเติมรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 160,576 บาท นั้นไม่เป็นความจริงหากจำเลยได้เข้ามาต่อสู้คดีกับโจทก์ จำเลยมีทางชนะคดีโจทก์ได้แน่นอน เพราะโจทก์ไม่มีสิทธิจะเรียกเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยได้ ดังเหตุผลที่จำเลยจะกราบเรียนต่อไปนี้” ต่อจากนั้นจำเลยได้บรรยายรายละเอียดว่า ที่จำเลยไม่จ่ายเงินค่าก่อสร้างงวดที่ 7 และที่ 8 เพราะโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาก่อสร้างหลายประการจำเลยได้ขอร้องให้โจทก์แก้ไขสิ่งบกพร่องหลายครั้ง แต่โจทก์กลับประวิงการทำงานให้ช้าลง จำเลยจึงบอกเลิกสัญญากับโจทก์ โจทก์ยังมิได้ลงมือทำงานในงวดที่ 7 และที่ 8 จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างจากจำเลย สำหรับค่าก่อสร้างเพิ่มเติมที่โจทก์อ้างมา 10 รายการนั้นคงมีแต่รายการที่ 4 และที่ 8 เท่านั้นที่จำเลยได้จ้างให้โจทก์ทำเพิ่มขึ้น
ศาลฎีกาเห็นว่าคำร้องของจำเลยดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยได้คัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลโดยชัดแจ้งแล้ว ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 442/2510 และที่ 960/2511
พิพากษายืน