คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 532/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำสั่งของนายกรัฐมนตรีและคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดที่แนบท้ายฟ้องเป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่โจทก์จะต้องนำสืบถึงความมีอยู่จริงของเอกสารและความถูกต้องแท้จริงของเอกสาร ถือเป็นข้อเท็จจริงประกอบให้ฟ้องสมบูรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) มิใช่ข้อกฎหมายที่โจทก์อ้างมาท้ายฟ้องตามมาตรา 158 (6) ฉะนั้น การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำ ฝ่าฝืนคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด โดยได้แนบคำสั่งของนายกรัฐมนตรีและคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งได้เท้าความอ้างเหตุถึงการมีคำสั่งให้ระงับการเลี้ยงกุ้งกุลาดำในเขตพื้นที่โดยเด็ดขาด แม้ตอนท้ายของคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดจะมิได้ระบุคำว่าความเค็มต่ำตอนท้ายคำว่ากุ้งกุลาดำเอาไว้ แต่ตอนต้นของคำสั่งได้เท้าความอ้างเหตุความเสียหายของการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำไว้ คำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดจึงเป็นคำสั่งที่ออกตามที่ได้รับมอบอำนาจจากนายกรัฐมนตรีตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีโดยถูกต้อง และเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ถือได้ว่าคำฟ้องโจทก์ได้ระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 9, 98
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ได้ 1 ปาก เห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้วจึงให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำสั่งและคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์และจำเลยต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า คำฟ้องโจทก์เป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุมหรือไม่ และคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งที่ 2/2541 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2541 เรื่อง มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีเพื่อมีคำสั่งให้ระงับการเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำ และผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้มีคำสั่งที่ 1649/2541 ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2541 เรื่อง การระงับการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำเพื่อรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาโดยเด็ดขาด โดยโจทก์ได้แนบคำสั่งของนายกรัฐมนตรีตามคำสั่งดังกล่าวของผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้เท้าความอ้างเหตุว่า มีการดำเนินการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำในเขตพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดมลภาวะและความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชนและประเทศชาติโดยรวม ในตอนท้ายคำสั่งมีข้อความว่า จึงมีคำสั่งให้ระงับการเลี้ยงกุ้งกุลาดำในเขตพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาโดยเด็ดขาด แม้ตอนท้ายของคำสั่งจะมิได้ระบุคำว่าระบบความเค็มต่ำตอนท้ายคำว่ากุ้งกุลาดำเอาไว้ แต่ตอนต้นของคำสั่งได้เท้าความอ้างเหตุความเสียหายของการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำเอาไว้ คำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งที่ออกตามที่ได้รับมอบอำนาจจากนายกรัฐมนตรีตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ 2/2541 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2541 โดยถูกต้องและเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น ที่โจทก์บรรยายฟ้องต่อมาว่า เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2541 ถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2542 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ 9 บ่อ อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาย่อมมีความหมายว่า จำเลยเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำซึ่งเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้นเอง คำฟ้องโจทก์ได้ระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้วหาเคลือบคลุมไม่ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า คำสั่งของนายกรัฐมนตรีและคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งเป็นเอกสารท้ายฟ้องโจทก์เป็นเพียงข้อกฎหมายที่โจทก์อ้างตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (6) หาได้อยู่ในส่วนการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามมาตรา 158 (5) จะถือเป็นข้อเท็จจริงประกอบให้ฟ้องสมบูรณ์ได้นั้น เห็นว่า คำสั่งของนายกรัฐมนตรีและคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่แนบท้ายฟ้องเป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่โจทก์จะต้องนำสืบถึงความมีอยู่จริงของเอกสารและความถูกต้องแท้จริงของเอกสาร หาใช่ข้อกฎหมายที่โจทก์อ้างมาท้ายฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (6) ดังที่จำเลยฎีกาไม่ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share