คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9204/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรพ.ศ. 2517 มาตรา 20 และมาตรา 22 แสดงว่า คณะกรรมการมีอำนาจ หน้าที่ในการวางนโยบายทั่วไปขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกร โจทก์เท่านั้น ส่วนการบริหารกิจการเป็นอำนาจหน้าที่ของ ผู้อำนวยการ การฟ้องคดีเป็นกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ซึ่งผู้อำนวยการเป็นตัวแทนของโจทก์ จึงเป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดี แทนโจทก์ได้ ตามสัญญาเช่าฉางเอกชนพิพาท นอกจากเป็นสัญญาเช่าทรัพย์แล้วยังมีข้อกำหนดให้จำเลยมีหน้าที่เก็บรักษาข้าวเปลือกและดูแลมิให้เกิดความเสียหายแก่ข้าวเปลือกที่เก็บรักษาไว้ในฉางด้วยหากเกิดความเสียหายขึ้น จำเลยต้องรับผิดชอบใช้ราคาข้าวเปลือกที่ขาดจำนวนไปให้แก่โจทก์ ซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญาฝากทรัพย์รวมอยู่ในตัวด้วย ฉะนั้นจำเลยในฐานะผู้รับฝากทรัพย์เมื่อทรัพย์ที่รับฝากสูญหายไป จำเลยจึงต้องใช้ราคาทรัพย์ที่รับฝากไว้แทนตัวทรัพย์ การฟ้องให้ใช้ราคาทรัพย์ในกรณีเช่นนี้ไม่ใช่เรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับการฝากทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 671และไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตามมาตรา 164(เดิม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. 2496 จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร พ.ศ. 2517 มีผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรเป็นผู้บริหารกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกให้ผู้อำนวยการเป็นตัวแทน โดยมีร้อยตรีประจวบ บุรพรัตน์ เป็นผู้อำนวยการเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2523 โจทก์ทำสัญญาเช่าฉางกับจำเลย 1 ฉาง เพื่อเป็นสถานที่เก็บรักษาข้าวเปลือกของโจทก์มีกำหนดเวลา 12 เดือน นับแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2523ถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2524 จำเลยผู้ให้เช่ารับรองว่าจะเก็บรักษาข้าวเปลือกตามชนิดจำนวนน้ำหนัก มิให้เปลี่ยนแปลงหรือผิดไปจากสภาพเดิม ถ้าเกิดความเสียหายหรือสูญหายขึ้นจำเลยจะต้องรับผิดชอบและยินยอมรับผิดใช้ราคาข้าวเปลือกที่ผิดชนิดหรือขาดจำนวนไปไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ยกเว้นข้าวเปลือกที่ยุบตัวตามสภาพไม่เกินร้อยละ 2 ของจำนวนทั้งหมดหรือเกิดจากเหตุสุดวิสัย ต่อมาระหว่างวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2523 ถึงวันที่ 21 มีนาคม 2523โจทก์ส่งมอบข้าวเปลือกรวมทั้งสิ้น 1,425,635.20 กิโลกรัมคิดเป็นเงิน 4,196,786 บาท ฝากให้จำเลยเป็นผู้รักษาไว้ในฉางของจำเลย ต่อมาปลายปี 2524 โจทก์ตรวจพบว่าไม่มีข้าวเปลือกอยู่ในฉางนั้นเลย จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ราคาข้าวเปลือกให้แก่โจทก์ตามสัญญา เมื่อหักการยุบตัวตามสภาพของข้าวเปลือกร้อยละ 2 ของจำนวนข้าวเปลือกทั้งหมดออกแล้วจำเลยต้องใช้เงินค่าข้าวเปลือกให้แก่โจทก์ 4,110,459.07 บาท แต่เนื่องจากจำเลยมีสิทธิได้ค่าเช่าฉางงวดที่สองจากโจทก์ 68,750 บาทค่าแรงกรรมกรขนข้าวเปลือกขึ้นฉาง 31,363.97 บาท หักภาษีณ ที่จ่ายออก 1,001.04 บาท แล้ว เหลือเงินที่จำเลยมีสิทธิได้รับจากโจทก์ 99,112.83 บาท เมื่อหักกลบลบหนี้แล้ว จำเลยต้องชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งหมด 4,011,346.24 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 4,011,346.24 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ร้อยตรีประจวบไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์โจทก์บรรยายฟ้องสับสนไม่อาจเข้าใจได้ว่าฟ้องในมูลเช่าทรัพย์หรือมูลละเมิด เป็นฟ้องเคลือบคลุมโจทก์เช่าฉางจากจำเลยมีกำหนดเวลา 12 เดือน ตามฟ้องและชำระค่าเช่างวดแรกให้แก่จำเลยแล้ว ส่วนค่าเช่างวดที่สองโจทก์ไม่ได้ชำระให้แก่จำเลยตามกำหนด จำเลยได้บอกเลิกสัญญาเช่าแก่โจทก์และให้โจทก์ขนย้ายข้าวเปลือกออกไป หลังจากบอกเลิกสัญญาแล้วจำเลยไม่มีหน้าที่รักษาข้าวเปลือกให้โจทก์อีก และโจทก์ไม่เคยแจ้งให้จำเลยทราบว่าข้าวเปลือกของโจทก์หายไป จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ อนึ่งโจทก์ไม่ได้ฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้ว่าข้าวเปลือกหายไปจากฉาง และภายใน 5 ปีนับแต่วันที่สัญญาเช่าสิ้นสุดลง คดีของโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องโจทก์จึงต้องชำระค่าเช่างวดที่สอง 68,750 บาท และค่าแรงกรรมกรขนข้าวเปลือกขึ้นฉางอีก 31,363.97 บาท ให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้องโจทก์ และบังคับโจทก์ชำระเงิน 100,113.97 บาท แก่จำเลยพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ฟ้องแย้งของจำเลยขาดอายุความแล้วขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 4,011,346.24 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์ทำสัญญาเช่าฉางตามฟ้องจากจำเลยเพื่อเก็บข้าวเปลือกของโจทก์ หลังจากทำสัญญาแล้วโจทก์นำข้าวเปลือกมาเก็บไว้ในฉาง และชำระค่าเช่างวดแรกให้แก่จำเลย ส่วนค่าเช่างวดที่สอง 68,750 บาท และค่าแรงกรรมกรขนข้าวเปลือกขึ้นฉางอีก 31,363.97 บาท ยังไม่ได้ชำระให้แก่จำเลย
ปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ จำเลยฎีกาว่าคณะกรรมการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรเป็นผู้แทนโจทก์ ผู้อำนวยการเป็นเพียงกรรมการผู้หนึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร พ.ศ. 2517 มาตรา 20, 21 และ 22 ซึ่งไม่ได้ระบุให้เป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร พ.ศ. 2517 มาตรา 20 บัญญัติว่า “ผู้อำนวยการเป็นผู้บริหารกิจการของ อ.ต.ก. ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ข้อบังคับ ระเบียบและนโยบายที่คณะกรรมการกำหนด” และมาตรา 22 บัญญัติว่า “ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกให้ผู้อำนวยการเป็นตัวแทนของ อ.ต.ก. เพื่อการนี้ผู้อำนวยการจะมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกระทำแทนตนเฉพาะในกิจการใดก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนดไว้” จากบทกฎหมายดังกล่าวมาแสดงว่า คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ในการวางนโยบายทั่วไปเท่านั้น ส่วนการบริหารกิจการเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการโจทก์ การฟ้องคดีเป็นกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกซึ่งผู้อำนวยการโจทก์เป็นตัวแทนของโจทก์ เมื่อได้ความว่าร้อยตรีประจวบ บุรพรัตน์ เป็นผู้อำนวยการโจทก์ตามสำเนาคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เอกสารหมาย จ.2 ร้อยตรีประจวบ ผู้อำนวยการโจทก์จึงเป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ได้ โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้
ปัญหาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 671 และว่าเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ เมื่อโจทก์เห็นว่าจำเลยผู้ให้เช่าผิดสัญญาทำให้โจทก์เสียหายจะให้จำเลยใช้ค่าเสียหายก็ต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายใน 5 ปี นับแต่วันที่สัญญาเช่าสิ้นสุดลง คดีโจทก์จึงขาดอายุความ เห็นว่าตามสัญญาเช่าฉางเอกชน เอกสารหมาย จ.6 นอกจากเป็นสัญญาเช่าทรัพย์แล้ว ยังมีข้อกำหนดให้จำเลยมีหน้าที่เก็บรักษาข้าวเปลือกและดูแลมิให้เกิดความเสียหายแก่ข้าวเปลือกที่เก็บรักษาไว้ในฉางด้วยหากเกิดความเสียหายหรือสูญหายขึ้น จำเลยต้องรับผิดชอบใช้ราคาข้าวเปลือกที่ขาดจำนวนไปให้แก่โจทก์ ซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญาฝากทรัพย์รวมอยู่ในตัวด้วย ฉะนั้นจำเลยในฐานะผู้รับฝากทรัพย์ ซึ่งจะต้องคืนทรัพย์ที่รับฝากไว้ให้แก่โจทก์ เมื่อทรัพย์ที่รับฝากสูญหายไป จำเลยจึงต้องใช้ราคาทรัพย์ที่รับฝากไว้แทนตัวทรัพย์ การฟ้องให้ใช้ราคาทรัพย์ในกรณีเช่นนี้ไม่ใช่เรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 671 และไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความดังที่จำเลยฎีกา”
พิพากษายืน

Share