คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 943/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันสืบพยานน้อยกว่าสามวันโดยมิได้ทำคำร้องแสดงว่าเหตุใดจึงยื่นภายในกำหนดเวลาไม่ได้. เพื่อให้ศาลได้มีโอกาสพิจารณาเหตุผลของโจทก์ว่าสมควรจะรับบัญชีระบุพยานไว้หรือไม่. ดังนี้ ศาลจะสั่งรับบัญชีระบุพยานของโจทก์โดยเหตุผลเพียงว่าโจทก์ไม่มีเจตนาจงใจ. และไม่ทำให้คู่ความอีกฝ่ายเสียเปรียบหาได้ไม่. เพราะข้อได้เปรียบเสียเปรียบในเชิงคดีมีอยู่อย่างชัดแจ้ง.
ผู้ร้องร้องขัดทรัพย์ว่า รถยนต์ที่โจทก์นำยึดเป็นสินบริคณห์ระหว่างผู้ร้องกับเจ้ามรดก. ขณะโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ศาลได้ถอดถอนจำเลยแล้ว จำเลยไม่มีอำนาจทำนิติกรรมใดๆ ในฐานะผู้จัดการมรดกได้ต่อไป. สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์จำเลยไม่ผูกพันกองมรดก. โจทก์มิได้กล่าวแก้ข้ออ้างของผู้ร้องดังกล่าวแต่ประการใด. เมื่อโจทก์ไม่ปฏิเสธ. ย่อมถือได้ว่าโจทก์ยอมรับ. จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า โจทก์เข้าทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 831,1720 หรือไม่.

ย่อยาว

เดิมโจทก์ฟ้องว่า จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเกษมณรงค์ฤทธิ ได้จำนำรถยนต์ไว้กับโจทก์เป็นประกันเงินที่กู้ไป 20,000บาท ครบกำหนดแล้วไม่ไถ่ โจทก์จึงฟ้อง จำเลยทำยอมใช้เงินให้โจทก์แต่ไม่ชำระ โจทก์จึงนำยึดรถยนต์เพื่อขายทอดตลาด ผู้ร้องร้องขัดทรัพย์ว่า ผู้ร้องเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของนายเกษมตามคำสั่งศาล รถยนต์ที่ยึดเป็นสินบริคณห์ระหว่างผู้ร้องกับนายเกษม จำเลยไม่มีสิทธิในรถยนต์คันนี้ ผู้ร้องและทายาทอื่นไม่มีส่วนรู้เห็นยินยอมในการจำนำ เป็นการสมยอมกันเพื่อให้กองมรดกเสียหายและเพื่อประโยชน์ของจำเลยแต่ผู้เดียว จำเลยเคยได้รับแต่งตั้งจากศาลให้เป็นผู้จัดการมรดกของนายเกษม แต่ศาลสั่งถอดถอนแล้วก่อนที่โจทก์จำเลยจะทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์จำเลยจึงไม่ผูกพันกองมรดกของนายเกษม ขอให้ปล่อยรถยนต์ที่ยึด โจทก์ให้การว่า ที่จำเลยจำนำรถยนต์ไว้กับโจทก์ ผู้ร้องทราบเรื่องดีแล้วไม่ได้คัดค้าน เพราะมีส่วนร่วมใช้เงินที่ได้รับไปจากโจทก์ด้วย หนี้สินรายนี้จำเลยอ้างว่านำไปใช้จ่ายในครอบครัวและจัดการทรัพย์สินของกองมรดก จึงผูกพันกองมรดก และได้เกิดขึ้นระหว่างจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล แม้ศาลจะถอดถอนจำเลย ก็ไม่ทำให้สัญญาที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ต้องเสื่อมเสียแต่อย่างใด วันนัดชี้สองสถาน โจทก์รับว่า ในวันยึด รถยนต์อยู่ในความครอบครองของผู้ร้อง ศาลชั้นต้นจึงกำหนดให้โจทก์เป็นฝ่ายนำสืบก่อนโดยนัดสืบพยานในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2510 โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานในวันที่ 31 ตุลาคม 2510 ศาลชั้นต้นไม่รับเพราะยื่นไม่ครบ 3 วันก่อนวันสืบพยาน ถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นสั่งว่า โจทก์ไม่มีพยานมาสืบเมื่อโจทก์มีหน้าที่นำสืบก่อน แล้วไม่มีพยานมาสืบ ก็ไม่จำเป็นต้องสืบพยานผู้ร้อง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยถูกถอนอำนาจจัดการมรดกแล้ว การยอมความไม่ผูกพันกองมรดก ไม่ปรากฏว่าโจทก์ต่อสู้ว่าทรัพย์พิพาทเป็นของจำเลย จึงไม่มีประเด็นจะสืบ ทั้งไม่มีพยานสนับสนุนข้ออ้าง พิพากษาให้ปล่อยรถยนต์ที่ยึด โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่จำเลยจำนำรถยนต์อันเป็นทรัพย์สินในกองมรดกของนายเกษมนั้น ถ้าฟังได้ดังโจทก์อ้างว่า เพื่อประโยชน์ในการจัดการมรดกสัญญาจำนำก็อาจมีผลผูกพันทรัพย์สินในกองมรดกได้ส่วนการที่จำเลยจำนำรถยนต์ไว้แล้วทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ภายหลังจากจำเลยถูกศาลถอดถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกแล้วนั้นเป็นเรื่องความผูกพันระหว่างจำเลยกับโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1720, 831 จะถือเด็ดขาดทีเดียวไม่ได้ว่า สัญญาประนีประนอมนั้นไม่มีผลผูกพันทรัพย์สินในกองมรดก เว้นแต่โจทก์จะได้รับจำนำรถยนต์ไว้โดยไม่สุจริตซึ่งปัญหาเหล่านี้จะต้องฟังพยานหลักฐานที่คู่กรณีจะนำสืบกันต่อไปที่ศาลชั้นต้นไม่รับบัญชีระบุพยานของโจทก์เพราะยื่นช้าไปนั้นศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ไม่มีเจตนาจงใจโดยมีเล่ห์เหลี่ยมประการใดผู้ร้องเสียเปรียบ ควรรับบัญชีระบุพยานโจทก์ไว้ได้ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้พิจารณาพิพากษาใหม่ ผู้ร้องขัดทรัพย์ฎีกา มีปัญหาข้อแรกว่า จะควรรับบัญชีระบุพยานของโจทก์ และให้โจทก์นำพยานเข้าสืบได้หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ทราบวันนัดสืบพยานโจทก์แล้ว ไม่ยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันสืบพยานอย่างน้อย 3 วัน จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคแรก นอกจากนั้นเมื่อโจทก์ยื่นบัญชีระบุพยาน ก็ไม่ได้ทำคำร้องแสดงว่า เหตุใดจึงยื่นภายในกำหนดเวลาไม่ได้ เพื่อให้ศาลได้มีโอกาสพิจารณาเหตุผลของโจทก์ว่าสมควรจะรับบัญชีระบุพยานไว้หรือไม่ตามมาตรา 88 วรรคสามฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์รับบัญชีระบุพยานของโจทก์ โดยเหตุผลเพียงว่าโจทก์ไม่มีเจตนาจงใจและไม่ทำให้ผู้ร้องขัดทรัพย์เสียเปรียบนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะข้อได้เปรียบเสียเปรียบในเชิงคดีมีอยู่อย่างชัดแจ้ง จะว่าผู้ร้องขัดทรัพย์ไม่เสียเปรียบฟังไม่ได้ มีปัญหาต่อไปว่า ศาลจะต้องฟังพยานหลักฐานของฝ่ายผู้ร้องขัดทรัพย์หรือไม่เพราะผู้ร้องขัดทรัพย์กล่าวอ้างว่า รถยนต์ที่โจทก์นำยึดเป็นสินบริคณห์ระหว่างผู้ร้องขัดทรัพย์กับนายเกษม ขณะโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ศาลได้ถอดถอนจำเลยแล้ว จำเลยไม่มีอำนาจทำนิติกรรมใด ๆ ในฐานะผู้จัดการทรัพย์มรดกได้ต่อไป สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์จำเลยไม่ผูกพันกองมรดกของนายเกษมข้ออ้างของผู้ร้องดังนี้ โจทก์มิได้กล่าวแก้ประการใด เมื่อโจทก์มิได้ให้การปฏิเสธ ก็ย่อมถือได้ว่าโจทก์ยอมรับ จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า โจทก์เข้าทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 831 และ 1720 หรือไม่เมื่อเป็นเช่นนี้โจทก์ก็ต้องแพ้คดีโดยไม่ต้องฟังพยานหลักฐานของผู้ร้องขัดทรัพย์ เพราะจำเลยไม่มีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ให้เป็นการผูกพันกองมรดกของนายเกษม โจทก์หามีอำนาจนำยึดรถยนต์รายพิพาทไม่ พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share