คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9389/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโดยบิดามารดาโจทก์ยกให้ แต่มิได้จดทะเบียนการให้ จำเลยยึดถือโฉนดที่ดินพิพาทไว้ ไม่ยอมส่งมอบให้โจทก์ ในฐานะผู้จัดการมรดกตามคำสั่งของศาลชั้นต้น ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทนั้น เป็นการบรรยายสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นโดยชัดแจ้งแล้ว คำฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
โจทก์ฟ้องอ้างสิทธิในการเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท โดยบิดามารดายกให้และในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกที่ดินพิพาทด้วย แต่จำเลยยึดถือโฉนดที่ดินพิพาทไว้ โดยมิได้ส่งมอบคืนให้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดก เมื่อโจทก์ทวงถามการกระทำของจำเลยจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในฐานะเจ้าของที่ดินและในฐานะผู้จัดการมรดก โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อ 3 ว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้องโดยการยกให้จากเจ้าของที่ดินหรือไม่ และประเด็นข้อ 4 ว่า จำเลยได้ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่นั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การยกให้ที่ดินพิพาทโดยไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมไม่สมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 โจทก์จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และจำเลยครอบครองที่ดินพิพาท โดยโจทก์โต้แย้งตลอดมา ถือไม่ได้ว่าเป็นการครอบครองโดยสงบ จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองในประเด็นข้อ 3 โจทก์มิได้อุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์ ประเด็นจึงยุติ ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย
จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของต่อจากบิดาจำเลยเกินสิบปี จำเลยย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง แต่ศาลอุทธรณ์กำหนดประเด็นเพื่อวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลย จึงไม่ตรงกับประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ในชั้นชี้สองสถานและที่จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ เท่ากับศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยประเด็นที่จำเลยอุทธรณ์ขึ้นมา เนื่องจากโจทก์จำเลยสืบพยานกันมาจนสิ้นกระบวนพิจารณาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่
ข้อเท็จจริงได้ความว่า ตลอดระยะเวลาที่จำเลยอ้างว่าบิดาจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทและจำเลยครอบครองต่อจากบิดาจำเลย โจทก์ได้โต้แย้งจำเลยตลอดมา การครอบครองดังกล่าวนั้นย่อมไม่ใช่การครอบครองโดยสงบ ประเด็นข้อนี้ ภาระการพิสูจน์ตกอยู่แก่จำเลย เมื่อจำเลยพิสูจน์ไม่ได้จำเลยย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง

Share