แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การกระทำอนาจารอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 280 นั้น จะต้องได้ความว่าผลของความตายของผู้ถูกกระทำอนาจารเกิดจากการกระทำอนาจาร แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้ตายถูกจำเลยทั้งสองขับรถจักรยานยนต์แซงเบียดจนรถจักรยานยนต์ของผู้ตายล้มลง เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตายจากการติดเชื้อในกระแสโลหิตจากภาวะแทรกซ้อน ความตายของผู้ตายย่อมมิใช่ผลโดยตรงอันเกิดจากการที่จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำอนาจารผู้ตาย จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันกระทำอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 278 เท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 276, 277 ทวิ, 278, 280, 290
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นาย จ. และนาง ส. บิดามารดาของผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ก่อนสืบพยาน โจทก์ร่วมทั้งสองยื่นคำร้องในคดีส่วนแพ่งขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นค่าปลงศพ 94,000 บาท ค่ารักษาพยาบาล 100,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะ 400,000 บาท ค่าขาดแรงงาน 11,400 บาท ค่าเสียหายอันมิใช่ตัวเงิน 20,000 บาท ค่าขาดรายได้ระหว่างไปดูแลผู้ตาย 150,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปดูแลผู้ตาย 83,000 บาท รวมเป็นเงิน 858,400 บาท แก่โจทก์ร่วมทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การในคดีส่วนแพ่งว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำผิด จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วมทั้งสอง และค่าสินไหมทดแทนที่เรียกมาสูงเกินไป ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และยกคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278, 280 (2), 290 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันกระทำอนาจารเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละตลอดชีวิต คำรับของจำเลยทั้งสองในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกคนละ 33 ปี 4 เดือน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 611,400 บาท แก่โจทก์ร่วมทั้งสอง ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลเป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติได้เบื้องต้นว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง ขณะที่นางสาว ช. ผู้ตาย อายุ 15 ปีเศษ ขับรถจักรยานยนต์ผ่านหมู่บ้านสกร็อมเพื่อไปหานาย น. มีคนร้ายขับรถจักรยานยนต์ไล่ตามและเบียดจนรถจักรยานยนต์ของผู้ตายล้มลงข้างถนนเป็นเหตุให้ผู้ตายหมดสติ แล้วคนร้ายถอดกางเกงผู้ตายลงมาถึงหัวเข่า ขณะเกิดเหตุผู้ตายโทรศัพท์บอกให้นาย น. ทราบว่ามีคนร้ายขับรถจักรยานยนต์ไล่ตามมา แล้วผู้ตายส่งเสียงกรีดร้องและเสียงสัญญานโทรศัพท์ของผู้ตายขาดหายไป นาย น. กับพวกจึงออกติดตามหาผู้ตายจนกระทั่งไปพบผู้ตายนอนหมดสติอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ ผู้ตายถูกส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลสุรินทร์ ผู้ตายมีบาดแผลถลอกตามลำตัว บาดแผลที่ศีรษะ กะโหลกศีรษะแตกร้าว และมีภาวะแท้งลูกจากยาที่ใช้รักษาอาการทางสมอง ผู้ตายรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตลอดมา จนกระทั่งวันที่ 1 มีนาคม 2558 จึงได้ถึงแก่ความตายเนื่องจากการติดเชื้อในกระแสโลหิตจากภาวะแทรกซ้อน หลังเกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจตรวจสถานที่เกิดเหตุพบใบเสร็จรับเงินค่าขายข้าวเปลือกของบริษัทโรงสีทรัพย์อนันต์ จำกัด ตกอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ และคืนเกิดเหตุ จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมวงดื่มสุราที่บ้านของนาย ส. ที่หมู่บ้านสกร็อม นาย พ. และนาย ก. ซึ่งนั่งร่วมวงดื่มสุรากับจำเลยทั้งสองให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่า ช่วงเวลาเกิดเหตุ จำเลยทั้งสองใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะออกไปด้วยกันประมาณ 20 นาที จึงกลับมา
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือไม่ เห็นว่า หลังจากเกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจทำการสืบสวนทราบว่า ในช่วงเวลาใกล้กับเวลาเกิดเหตุ จำเลยทั้งสองกับพวกนั่งร่วมวงดื่มสุราอยู่ที่บ้านของนาย ส. ซึ่งเป็นเส้นทางที่ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ผ่านมา จึงสอบถามเหตุการณ์จากนาย ก. และนาย พ. ได้ความว่าช่วงเวลาเกิดเหตุจำเลยทั้งสอง ขับรถจักรยานยนต์ออกจากบ้านของนาย ส. ไปประมาณ 20 นาที ตอนแรกจำเลยทั้งสองปฏิเสธว่าไม่รู้เรื่อง แต่เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจนำใบเสร็จรับเงินค่าขายข้าวเปลือก ซึ่งตรวจยึดได้จากที่เกิดเหตุและภาพจากกล้องวงจรปิดขณะจำเลยนำข้าวเปลือกไปขายที่โรงสีทรัพย์อนันต์ให้จำเลยทั้งสองดู จำเลยทั้งสองจึงยอมรับว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยทั้งสองเห็นผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ผ่านหน้าบ้านของนาย ส. ตามลำพัง จำเลยที่ 2 จึงชวนจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ไล่ติดตามไปเพื่อจะข่มขืนกระทำชำเราและเบียดแซงจนรถจักรยานยนต์ของผู้ตายล้มลง แล้วลงจากรถไปถอดกางเกงผู้ตาย แต่มีรถจักรยานยนต์คันอื่นผ่านมา จำเลยทั้งสองจึงรีบขับรถจักรยานยนต์กลับไปยังกลุ่มเพื่อนที่นั่งดื่มสุรา การให้ถ้อยคำรับสารภาพจึงเกิดขึ้นก่อนที่จำเลยทั้งสองจะถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า การที่จำเลยทั้งสองให้ถ้อยคำรับสารภาพแก่เจ้าพนักงานตำรวจ เป็นการกระทำก่อนที่เจ้าพนักงานตำรวจจะจับกุมจำเลยทั้งสองเป็นผู้ต้องหา ซึ่งในกรณีที่มีความผิดอาญาเกิดขึ้นย่อมเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจที่จะดำเนินการสืบสวนเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานในการหาตัวคนร้าย การที่จำเลยทั้งสองให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานตำรวจจึงหาใช่เป็นการให้ถ้อยคำในฐานะผู้ถูกจับไม่ จึงไม่จำเป็นต้องมีการแจ้งสิทธิแก่จำเลยทั้งสองก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคท้าย และสามารถนำมารับฟังประกอบพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองได้นั้นจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างว่าคำรับสารภาพดังกล่าวเกิดจากเจ้าพนักงานตำรวจข่มขู่ทำร้ายเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้เช่นกัน ดังนั้น แม้โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองไม่มีประจักษ์พยานที่รู้เห็นเหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุมายืนยันว่าจำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายที่ขับรถจักรยานยนต์ไล่ตามและกระทำอนาจารผู้ตาย แต่เมื่อข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ซึ่งจำเลยทั้งสองมิได้โต้เถียงรับฟังเป็นยุติได้ว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยทั้งสองนำข้าวเปลือกไปขายที่โรงสีทรัพย์อนันต์ หลังเกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจตรวจสถานที่เกิดเหตุพบใบเสร็จรับเงินค่าขายข้าวเปลือกซึ่งทางโรงสีออกให้แก่จำเลยที่ 1 ตกอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ ประกอบกับโจทก์มีนาย ก. และนาย พ. เป็นพยานแวดล้อมเบิกความสอดคล้องกันว่า ช่วงเวลาเกิดเหตุจำเลยทั้งสองขับรถจักรยานยนต์ออกจากบ้านนาย ส. ไปประมาณ 20 นาที แล้วจึงขับรถกลับมา สอดคล้องกับข้อเท็จจริงตามคำรับสารภาพของจำเลยทั้งสอง แม้พนักงานสอบสวนมิได้จัดให้มีการตรวจพิสูจน์คราบอสุจิและน้ำอสุจิที่พบในช่องคลอดของผู้ตายเป็นของบุคคลใด แต่เมื่อนำเอาคำรับสารภาพของจำเลยทั้งสองมารับฟังประกอบกับพยานแวดล้อมกรณีดังกล่าวแล้ว เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองมีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอที่จะรับฟังได้อย่างแน่ชัดว่าจำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายรายนี้ ส่วนฎีกาของจำเลยทั้งสองประการอื่น ๆ ล้วนแต่เป็นเรื่องรายละเอียดที่ไม่ทำให้คำวินิจฉัยข้างต้นเปลี่ยนแปลงไปได้ จึงไม่ต้องวินิจฉัยต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายโดยไม่มีเจตนาฆ่า และร่วมกันกระทำอนาจารผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้าย และให้ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมทั้งสองมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 280 (2) อันเป็นบทหนักในความผิดฐานกระทำอนาจารจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตายนั้น เห็นว่า การกระทำอนาจารอันเป็นความผิดและถูกลงโทษตามมาตรา 280 นั้น จะต้องได้ความว่าผลของความตายของผู้ถูกกระทำอนาจารเกิดจากการกระทำอนาจาร แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่า ผู้ตายถูกจำเลยทั้งสองขับรถจักรยานยนต์แซงเบียดจนรถจักรยานยนต์ของผู้ตายล้มลงจนเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตายจากการติดเชื้อในกระแสโลหิตจากภาวะแทรกซ้อน ความตายของผู้ตายย่อมมิใช่ผลโดยตรงอันเกิดจากการที่จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำอนาจารผู้ตาย จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันกระทำอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 เท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 280 (2) จึงเป็นการไม่ชอบ แม้จำเลยทั้งสองมิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างในฎีกาของจำเลยทั้งสอง แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยซึ่งศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 จึงเห็นสมควรปรับบทลงโทษเสียใหม่ให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 280 (2) และให้ลงโทษในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายโดยไม่มีเจตนาฆ่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 15 ปี เมื่อลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 10 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3