คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9960/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกระทำอันเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์งานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมของผู้อื่นด้วยการทำซ้ำหรือดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 ประกอบมาตรา 27 (1) และการกระทำอันเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นด้วยการนำออกขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานนั้นเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 ประกอบมาตรา 31 (1) และ (2) บุคคลผู้กระทำการเช่นว่านั้นจะต้องรับผิดทางอาญาในความผิดดังกล่าวต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนากระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ โดยผู้กระทำต้องรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดด้วย ตาม ป.อ. มาตรา 17 และมาตรา 59 ผู้ที่จะต้องรับโทษทางอาญาในความผิดดังกล่าวในกรณีการทำซ้ำหรือดัดแปลงนั้นนอกจากผู้กระทำจะต้องรู้ว่างานที่ตนทำซ้ำหรือดัดแปลงเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นแล้ว ผู้กระทำยังต้องรู้ด้วยว่าเป็นการทำซ้ำหรือดัดแปลงซึ่งงานนั้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ส่วนกรณีการนำออกขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นนั้น ผู้กระทำต้องรู้ว่างานดังกล่าวได้ทำขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งนอกจากจะเป็นองค์ประกอบกรณีเจตนาแล้ว ยังเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 ประกอบมาตรา 27 (1) และมาตรา 70 ประกอบมาตรา 31 (1) และ (2) ด้วย โดยผู้กระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์อาจเป็นผู้ลงมือกระทำความผิดนั้นโดยการกระทำทางกายภาพด้วยตนเองโดยมีเจตนากระทำต่องานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือได้ใช้หรือหลอกให้บุคคลอื่นซึ่งไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบแห่งการกระทำความผิดซึ่งไม่มีความรับผิดในทางอาญาดังกล่าวเป็นผู้กระทำการแทนโดยมีเจตนาให้บุคคลอื่นนั้นมีสภาพดังเช่นเครื่องมือในการกระทำความผิดของผู้นั้นเองก็ได้ เมื่อได้ความตามเอกสารว่าจำเลยที่ 1 รับรองว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของสิทธิคาแรกเตอร์อุลตร้าแมนทั้งปวงในทุกอาณาเขตทั่วโลกยกเว้นประเทศญี่ปุ่นแต่เพียงผู้เดียว และรับรองว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ได้รับสิทธิผลิตและจำหน่ายตุ๊กตาที่มีสัญลักษณ์รูปอุลตร้าแมนโดยถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 ในนามบริษัท บ. จึงทำสัญญาอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ใช้สิทธิผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตุ๊กตาอุลตร้าแมน ตามฟ้องรวมห้าแบบจำนวน 425,000 ชิ้น ในเขตประเทศไทย โดยจำเลยที่ 1 ได้รับชำระค่าอนุญาตให้ใช้สิทธิอุลตร้าแมนดังกล่าวจำนวน 818,584 บาท นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังปรากฏตามสินค้าตุ๊กตาอุลตร้าแมนพลังถีบสามล้อประกอบเอกสารอธิบายฉลากสินค้าดังกล่าวว่าฉลากสินค้าที่อยู่ในซองบรรจุสินค้านั้นมีข้อความภาษาอังกฤษระบุไว้ว่า “Ultraman Characters (c) Sompote Saengduenchai All rights reserved Products by KFC” อันแปลความได้ว่าคาแรกเตอร์อุลตร้าแมนเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 สงวนสิทธิต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและผลิตภัณฑ์นี้ทำโดยเคเอฟซี แสดงว่าจำเลยที่ 1 แสดงตนเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์เกี่ยวกับอุลตร้าแมนในขณะนั้นรวมถึงอุลตร้าแมนตามที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้ด้วย นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ด้วยว่า จำเลยที่ 1 ลงโฆษณาประกาศในหนังสือพิมพ์ว่าโจทก์กับตัวแทนของโจทก์แอบอ้างเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนคอสมอส และประกาศจะเผยแพร่สิทธิทางการค้าในผลงานดังกล่าว จำเลยที่ 1 ยังประกาศโฆษณาว่าขอให้โจทก์และตัวแทนของโจทก์ยุติการดำเนินการดังกล่าว มิฉะนั้นจะถูกดำเนินคดี และพยานเคยถูกจำเลยที่ 1 ฟ้องเป็นจำเลยโดยกล่าวหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 อันเป็นข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 แสดงตนเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์เกี่ยวกับอุลตร้าแมนมาโดยตลอด รวมตลอดถึงลิขสิทธิ์ในผลงานสร้างสรรค์ประเภทศิลปกรรมลักษณะงานในอุลตร้าแมนที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ด้วย แม้ในขณะที่โจทก์ตรวจพบสินค้าตุ๊กตาอุลตร้าแมนนั่งปั่นรถสามล้อทั้งห้าแบบตามฟ้อง และยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.459/2543 โดยวินิจฉัยสรุปใจความสำคัญเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานสร้างสรรค์อุลตร้าแมนหรือยอดมนุษย์ว่า โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานสร้างสรรค์อุลตร้าแมนหรือยอดมนุษย์แต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 1 มิใช่ผู้สร้างสรรค์ร่วม สัญญาให้ใช้สิทธิ ฉบับวันที่ 4 มีนาคม 2519 ในคดีดังกล่าวไม่ใช่เอกสารปลอมจึงมีผลผูกพันโจทก์ เฉพาะลิขสิทธิ์ในผลงานภาพยนตร์จำนวน 9 เรื่อง ที่ระบุไว้ในสัญญาดังกล่าวโอนไปยังจำเลยที่ 1 ส่วนภาพยนตร์อุลตร้าแมนตอนใหม่ๆ ที่โจทก์ผลิตขึ้นย่อมเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์เท่านั้น โจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่างฝ่ายต่างอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในปัญหาว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานสร้างสรรค์เกี่ยวกับและเกี่ยวเนื่องกับอุลตร้าแมนทั้งหลายในฐานะผู้สร้างสรรค์ร่วมกับโจทก์หรือนายเอยิหรือไม่ ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ผู้ใดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์เกี่ยวกับและเกี่ยวเนื่องกับอุลตร้าแมนทั้งหลาย โดยมีสาระสำคัญว่าสัญญาให้ใช้สิทธิระหว่างบริษัท ซ. กับจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ และขอบเขตการมีผลบังคับใช้ของสัญญาให้ใช้สิทธิ ในคดีดังกล่าวมีผลครอบคลุมให้จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ที่โจทก์ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานสร้างสรรค์เกี่ยวกับและเกี่ยวเนื่องกับอุลตร้าแมนทั้งหลายภายหลังจากที่มีการทำสัญญาให้ใช้สิทธิ ในคดีดังกล่าวหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อขณะเกิดเหตุคดีนี้ยังไม่มีผลคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยเป็นอย่างอื่น จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวย่อมต้องผูกพันตามผลคำพิพากษาในคดีดังกล่าว และรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า จำเลยที่ 1 ทราบดีว่าตามผลคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในคดีดังกล่าวที่จำเลยที่ 1 อ้างถึงมาโดยตลอดนั้นได้วินิจฉัยถึงสิทธิในความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานสร้างสรรค์เกี่ยวกับคาแรกเตอร์อุลตร้าแมนว่าเป็นของโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 มิได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ร่วมกับโจทก์ในผลงานดังกล่าวในฐานะผู้สร้างสรรค์ร่วมแต่อย่างใด รวมทั้งโดยผลคำพิพากษาของศาลดังกล่าวจำเลยที่ 1 มีลิขสิทธิ์เฉพาะภาพยนตร์จำนวน 9 เรื่อง ตามที่ระบุไว้ในสัญญาให้ใช้สิทธิโดยไม่รวมถึงลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนหรือภาพยนตร์เกี่ยวกับอุลตร้าแมนที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ที่ประเทศญี่ปุ่นหลังจากมีข้อพิพาทเรื่องลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนดังกล่าว ทั้งภายหลังจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาคดีดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ลงประกาศในหนังสือพิมพ์หลายฉบับทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาญี่ปุ่น มีข้อความตอนต้นว่า บริษัท ซ. ซึ่งเป็นบริษัทของจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าคาแรกเตอร์อุลตร้าแมนหรือยอดมนุษย์ทั้งปวงแต่เพียงผู้เดียวทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ โดยได้รับโอนสิทธิจากโจทก์ และบริษัทดังกล่าวได้อนุญาตให้บริษัทต่างๆ จำนวนมากใช้สิทธิซึ่งบริษัทดังกล่าวมีอยู่ แสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์อันเป็นเหตุที่คนทั่วไปย่อมต้องเข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 1 อ้างตนเองเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานสร้างสรรค์เกี่ยวกับและเกี่ยวเนื่องกับอุลตร้าแมนทั้งหลายทั้งที่ในขณะนั้นศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาว่าสัญญาให้ใช้สิทธิมีผลใช้บังคับได้จริง และจำเลยที่ 1 ได้รับโอนสิทธิเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์จำนวน 9 เรื่อง ตามที่ระบุชื่อไว้ในสัญญาดังกล่าวเท่านั้น พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ที่แสดงตนเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานสร้างสรรค์อุลตร้าแมนรวมทั้งสิ้นห้าแบบตามฟ้อง ทั้งที่ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 มิได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานสร้างสรรค์ประเภทศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมในผลงานเกี่ยวกับอุลตร้าแมนทั้งห้าแบบที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นใหม่โดยมิได้รวมอยู่ในข้อพิพาทเรื่องลิขสิทธิ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ก่อนหน้านั้น แล้วจำเลยที่ 1 อนุญาตให้บุคคลอื่นใช้สิทธิในผลงานอุลตร้าแมนทั้งห้าแบบดังกล่าวโดยการทำซ้ำหรือดัดแปลงผลิตเป็นตุ๊กตาออกจำหน่ายจ่ายแจกและโฆษณาเผยแพร่โดยจำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการกระทำดังกล่าว จึงต้องถือว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 เองต่อผลงานอุลตร้าแมนของโจทก์ที่แสดงออกในรูปของงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรม โดยอาศัยผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิจากจำเลยที่ 1 ดังเช่นจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่อยู่ในฐานะผู้กระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์แต่อยู่ในฐานะตัวแทนโดยบริสุทธิ์ (Innocent Agent) ของจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือของจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิด เนื่องจากผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิจากจำเลยที่ 1 เข้าใจโดยสุจริตตามข้อกล่าวอ้างของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนทั้งห้าแบบตามฟ้องได้ จำเลยที่ 1 จึงอยู่ในฐานะเป็นผู้กระทำความผิดเองโดยอ้อม เมื่อพิจารณาสินค้าตุ๊กตาอุลตร้าแมนพลังถีบสามล้อรวมห้าแบบซึ่งดัดแปลงขึ้นโดยอาศัยหนังสือสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ภายหลังจากที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาแล้วพบว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกับอุลตร้าแมนรวมทั้งสิ้นห้าแบบตามฟ้องที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ที่ประเทศญี่ปุ่น และเป็นความคล้ายคลึงกันในส่วนที่เป็นสาระสำคัญเพราะคนทั่วไปเข้าใจได้ว่าสินค้าตุ๊กตาอุลตร้าแมนนั่งปั่นรถสามล้อทั้งห้าแบบตามฟ้องนั้นเป็นอุลตร้าแมนลักษณะเดียวกันกับอุลตร้าแมนรวมทั้งสิ้นห้าแบบที่โจทก์สร้างสรรค์เป็นงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมแล้วดัดแปลงเป็นงานภาพยนตร์ พยานหลักฐานตามที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อควรสงสัยว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนากระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ ในงานอุลตร้าแมนรวมทั้งสิ้นห้าแบบตามที่โจทก์ฟ้อง และสินค้าตุ๊กตาอุลตร้าแมนนั่งปั่นรถสามล้อทั้งห้าแบบตามฟ้องนั้นเป็นการดัดแปลงงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมอุลตร้าแมนอันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์
เมื่อจำเลยที่ 1 อาศัยจำเลยที่ 2 ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ดังกล่าวของโจทก์ จึงเป็นการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เพื่อการค้าอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) และการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานสร้างสรรค์อุลตร้าแมนทั้งห้าแบบดังกล่าวและมีการผลิตสินค้าตุ๊กตาอุลตร้าแมนนั่งปั่นรถสามล้อทั้งห้าแบบตามฟ้องออกจำหน่ายและเพื่อการส่งเสริมการขาย และนำสินค้าตุ๊กตาอุลตร้าแมนนั่งปั่นรถสามล้อทั้งห้าแบบตามฟ้องเผยแพร่โฆษณาเพื่อส่งเสริมการขายทางโทรทัศน์โดยจำเลยที่ 1 รู้ว่าเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ จึงเป็นการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ด้วยการขาย เสนอขาย มีไว้เพื่อขาย และเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่ได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ และเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้าจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) และ (2)
เมื่อจำเลยที่ 1 ทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเพียงครั้งเดียวโดยมีเจตนาประสงค์ต่อผลคือการทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมอุลตร้าแมนทั้งห้าแบบตามฟ้องของโจทก์ และมีเจตนาเล็งเห็นผลได้ว่าผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิซึ่งเชื่อโดยสุจริตว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมอุลตร้าแมนทั้งห้าแบบตามฟ้องนั้นจะทำซ้ำหรือดัดแปลงแล้วนำออกขาย เสนอขาย มีไว้เพื่อขาย และโฆษณาเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่ได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงคาแรกเตอร์อุลตร้าแมนอันเป็นงานจิตรกรรมทั้งห้าแบบตามฟ้องดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกันในการละเมิดลิขสิทธิ์งานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ตามฟ้อง อันเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตาม ป.อ. มาตรา 90

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งยี่สิบตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27, 31 (1) และ (2), 69 วรรคหนึ่งและวรรคสอง, 70 วรรคหนึ่งและวรรคสอง, 74 และ 76 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และบังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 20 หยุดการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ตามฟ้อง กับให้จ่ายค่าปรับซึ่งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 20 ได้ชำระตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์เป็นจำนวนกึ่งหนึ่ง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 1 ให้ประทับฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 20 ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ขอให้ประทับฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 20 ด้วย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัดตามกฎหมายญี่ปุ่น ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายภาพยนตร์สำหรับโรงภาพยนตร์และโทรทัศน์ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2540 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเป็นคดีอาญาและคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.36/2540 หมายเลขแดงที่ อ.459/2553 ในข้อหาร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทภาพยนตร์และศิลปประยุกต์ซึ่งผลงานอุลตร้าแมนหรือยอดมนุษย์แบบต่าง ๆ และแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน กับเรียกค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 กับพวกให้การปฏิเสธและต่อสู้คดีขอให้ยกฟ้องในส่วนแพ่ง โดยจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้สร้างสรรค์ร่วมกันกับนายเอยิ ผู้เริ่มก่อตั้งบริษัทโจทก์ในผลงานสร้างสรรค์อุลตร้าแมนหรือยอดมนุษย์ตั้งแต่แรกเริ่มในปี 2509 ต่อมาวันที่ 4 มีนาคม 2519 บริษัทซึบูราญ่า เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด โดยนายโนโบรุ ประธานกรรมการบริษัทในขณะนั้น ซึ่งเป็นตัวแทนทางการค้าของโจทก์ทำสัญญาโอนให้สิทธิต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและเกี่ยวเนื่องกับผลงานสร้างสรรค์อุลตร้าแมนหรือยอดมนุษย์แบบต่าง ๆ ที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้นดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 ทั้งหมดโดยไม่จำกัดระยะเวลาสิ้นสุด และมีขอบเขตครอบคลุมอาณาเขตทั้งหมดทั่วโลก ยกเว้นประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น โจทก์ให้การต่อสู้คดีขอให้ยกฟ้องแย้งดังกล่าว ต่อมาวันที่ 4 เมษายน 2543 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งคดีส่วนอาญาและคดีส่วนแพ่ง กับให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายตามฟ้องแย้งแก่จำเลยที่ 1 โดยวินิจฉัยสรุปใจความสำคัญเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานสร้างสรรค์อุลตร้าแมนหรือยอดมนุษย์ว่า โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานสร้างสรรค์อุลตร้าแมนหรือยอดมนุษย์แต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 1 มิใช่ผู้สร้างสรรค์ร่วม สัญญาให้ใช้สิทธิ (License Granting Agreement) ฉบับวันที่ 4 มีนาคม 2519 ในคดีดังกล่าว ที่นายโนโบรุทำกับจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เอกสารปลอม เพราะไม่อาจรับฟังได้ว่าลายมือชื่อของนายโนโบรุในสัญญาดังกล่าวเป็นลายมือชื่อปลอม สัญญาดังกล่าวจึงมีผลผูกพันโจทก์ เฉพาะลิขสิทธิ์ในผลงานภาพยนตร์จำนวน 9 เรื่อง ที่ระบุไว้ในสัญญาดังกล่าวเท่านั้นที่มีการโอนไปยังจำเลยที่ 1 ได้แก่ (1) ไจแอนต์กับจัมโบ้เอ (GIANT VS. JAMBO ‘A’) (2) หนุมานพบเจ็ดยอดมนุษย์ (HANUMAN AND THE SEVEN ULTRAMAN) (3) อุลตร้าแมน 1 “อุลตร้าแมนคิว” (ULTRAMAN 1 “ULTRAMAN Q”) (4) อุลตร้าแมน 2 (ULTRAMAN 2) (5) อุลตร้าแมนเซเว่น (ULTRAMAN SEVEN) (6) รีเทิร์นอุลตร้าแมน (RETURN ULTRAMAN) (7) อุลตร้าแมนเอซ (ULTRAMAN ACE) (8) อุลตร้าแมนทาโร่ (ULTRAMAN TARO) และ (9) จัมบอร์กเอซ (JAMBORG ACE) ส่วนภาพยนตร์อุลตร้าแมนตอนใหม่ ๆ ที่โจทก์ผลิตขึ้นย่อมเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์เท่านั้น ตามสัญญาดังกล่าวข้อ 3 ระบุให้เป็นสัญญาโอนสิทธิ โดยให้รวมไปถึงสิทธิในการจำหน่าย สิทธิในการทำขึ้นหรือทำซ้ำ (Reproduction) ลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า สิทธิในการเผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ และสิทธิในการผลิตรูปหุ่นและคาแรกเตอร์ที่ใช้ในการสร้างภาพยนตร์โดยใช้วัสดุใด ในรูปแบบใด ๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในทางการค้า และรวมถึงสิทธิในการโอนสิทธิต่าง ๆ ให้แก่บุคคลที่ 3 อีกด้วย จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิในผลงานอุลตร้าแมนโดยได้รับโอนมาจากโจทก์และมีสิทธิอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้สิทธิในผลงานอุลตร้าแมนดังกล่าวได้ด้วย สัญญาโอนสิทธิในผลงานอุลตร้าแมนดังกล่าวไม่รวมถึงสิทธิในผลงานในอนาคตที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ และไม่ได้มีผลเป็นการจำกัดสิทธิของโจทก์แต่อย่างใดในการที่จะสร้างผลงานอุลตร้าแมนชุดใหม่ ๆ ขึ้นมา หรือพัฒนาปรับปรุงคาแรกเตอร์อุลตร้าแมนตัวใหม่ ๆ ขึ้นอีก ซึ่งจำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิในผลงานที่โจทก์สร้างขึ้นใหม่ดังกล่าว โจทก์และจำเลยที่ 1 กับพวกอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา แต่ก่อนที่ ศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวโจทก์ได้สร้างสรรค์คาแรกเตอร์ตัวละครอุลตร้าแมนภายใต้ชื่อต่าง ๆ กัน ดังนี้ (1) อุลตร้าแมนทิก้า (มัลติ ไทป์) (2) อุลตร้าแมนทิก้า (เพาว์เวอร์ ไทป์) และ (3) อุลตร้าแมนทิก้า (สกาย ไทป์) โดยนำออกฉายหรือเปิดตัวต่อสาธารณชนครั้งแรกในรูปแบบภาพยนตร์และแพร่เสียงแพร่ภาพทางโทรทัศน์ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2539 ต่อมาโจทก์ได้สร้างสรรค์คาแรกเตอร์ตัวละครอุลตร้าแมนภายใต้ชื่อ (4) อุลตร้าแมนไดน่า (แฟลช ไทป์) (5) อุลตร้าแมนไดน่า (มิราเคิล ไทป์) และ (6) อุลตร้าแมนไดน่า (สตรอง ไทป์) โดยนำออกฉายหรือเปิดตัวต่อสาธารณชนครั้งแรกในรูปแบบภาพยนตร์และแพร่เสียงแพร่ภาพทางโทรทัศน์ที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2540 วันที่ 13 กันยายน 2540 และวันที่ 27 กันยายน 2540 ตามลำดับ และโจทก์ยังสร้างสรรค์คาแรกเตอร์ตัวละครอุลตร้าแมนภายใต้ชื่อ (7) อุลตร้าแมนไกญ่า (วี 1) (8) อุลตร้าแมนไกญ่า (วี 2) และ (9) อุลตร้าแมนไกญ่า (สุพรีม เวอร์ชั่น) โดยนำออกฉายหรือเปิดตัวต่อสาธารณชนครั้งแรกในรูปแบบภาพยนตร์และแพร่เสียงแพร่ภาพทางโทรทัศน์ที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2541 วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2542 และวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2542 ตามลำดับ ทั้งโจทก์ยังสร้างสรรค์คาแรกเตอร์ตัวละครอุลตร้าแมนภายใต้ชื่อ (10) อุลตร้าแมนคอสมอส (ลูน่า โหมด) และ (11) อุลตร้าแมนคอสมอส (โคโรน่า โหมด) โดยนำออกฉายหรือเปิดตัวต่อสาธารณชนครั้งแรกในรูปแบบภาพยนตร์และแพร่เสียงแพร่ภาพทางโทรทัศน์ที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2544 และวันที่ 14 กรกฎาคม 2544 ตามลำดับ ซึ่งประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศภาคีแห่งอนุสัญญากรุงเบิร์นว่าด้วยการคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรมซึ่งเป็นอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย ต่อมาวันที่ 30 กันยายน 2547 ระหว่างที่คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 ในนามบริษัทซึบูราญ่า ไชโย จำกัด ทำสัญญาอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ใช้สิทธิในผลงานอุลตร้าแมนทิก้า อุลตร้าแมนไดน่า อุลตร้าแมนไกญ่า และอุลตร้าแมนคอสมอส เพื่อผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตุ๊กตา รวม 5 แบบ จำนวน 425,000 ชิ้น ในเขตประเทศไทย มีกำหนดระยะเวลา 3 เดือน นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2547 ถึงวันที่ 30 มกราคม 2548 และมีการผลิตสินค้าตุ๊กตาอุลตร้าแมนพลังถีบสามล้อ โดยใช้คาแรกเตอร์ตัวละครอุลตร้าแมนทิก้า อุลตร้าแมนไดน่า อุลตร้าแมนไกญ่า และอุลตร้าแมนคอสมอส รวม 5 แบบ จำหน่ายที่ร้านเคเอฟซี และใบปลิวโฆษณาต่อมาปี 2550 ศาลฎีกามีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในคดีดังกล่าวเป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ตามสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7457/2550 โดยวินิจฉัยตอนหนึ่งว่า จำเลยที่ 1 มิใช่ผู้สร้างสรรค์ร่วมในผลงานอุลตร้าแมนหรือยอดมนุษย์แบบต่าง ๆ ตามฟ้องคดีดังกล่าว และสัญญาให้ใช้สิทธิ (License Granting Agreement) ฉบับวันที่ 4 มีนาคม 2519 ในคดีดังกล่าวที่นายโนโบรุทำกับจำเลยที่ 1 เป็นเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิแสวงหาประโยชน์ใด ๆ จากผลงานสร้างสรรค์อุลตร้าแมนตามสัญญาดังกล่าว ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 แต่ในปี 2545 ก่อนที่ศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาคดีดังกล่าว โจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกเป็นจำเลยต่อศาลแพ่งโตเกียวในประเทศญี่ปุ่น กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 กับพวกละเมิดลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนต่าง ๆ ของโจทก์ ต่อมาวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2546 ศาลแพ่งโตเกียวซึ่งเป็นศาลชั้นต้นในประเทศญี่ปุ่นมีคำพิพากษาว่า สัญญาให้ใช้สิทธิ (License Granting Agreement) ฉบับวันที่ 4 มีนาคม 2519 ที่นายโนโบรุทำกับจำเลยที่ 1 เป็นเอกสารที่ถูกต้องแท้จริง แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ต่อมาวันที่ 10 ธันวาคม 2546 ศาลอุทธรณ์แห่งประเทศญี่ปุ่นพิพากษายืน โจทก์ฎีกา และเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2547 ศาลฎีกาแห่งประเทศญี่ปุ่นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของโจทก์
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนทิก้า อุลตร้าแมนไดน่า อุลตร้าแมนไกญ่า และอุลตร้าแมนคอสมอสของโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การกระทำอันเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์งานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมของผู้อื่นด้วยการทำซ้ำหรือดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 ประกอบมาตรา 27 (1) และการกระทำอันเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นด้วยการนำออกขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานนั้นเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 ประกอบมาตรา 31 (1) และ (2) บุคคลผู้กระทำการเช่นว่านั้นจะต้องรับผิดทางอาญาในความผิดดังกล่าวต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนากระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ทั้งนี้โดยผู้กระทำต้องรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดด้วย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17 และมาตรา 59 ดังนี้ ผู้ที่จะต้องรับโทษทางอาญาในความผิดดังกล่าวข้างต้นในกรณีการทำซ้ำหรือดัดแปลงนั้นนอกจากผู้กระทำจะต้องรู้ว่างานที่ตนทำซ้ำหรือดัดแปลงเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นแล้ว ผู้กระทำยังต้องรู้ด้วยว่าเป็นการทำซ้ำหรือดัดแปลงซึ่งงานนั้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ส่วนกรณีการนำออกขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นนั้น ผู้กระทำต้องรู้ว่างานดังกล่าวได้ทำขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งนอกจากจะเป็นองค์ประกอบกรณีเจตนาแล้ว ยังเป็นองค์ประกอบของความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 ประกอบมาตรา 27 (1) และมาตรา 70 ประกอบมาตรา 31 (1) และ (2) ด้วย โดยผู้กระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์อาจเป็นผู้ลงมือกระทำความผิดนั้นโดยการกระทำทางกายภาพด้วยตนเองโดยมีเจตนากระทำต่องานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือได้ใช้หรือหลอกให้บุคคลอื่นซึ่งไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบแห่งการกระทำความผิดซึ่งไม่มีความรับผิดในทางอาญาดังกล่าวเป็นผู้กระทำการแทนโดยมีเจตนาให้บุคคลอื่นนั้นมีสภาพดังเช่นเครื่องมือในการกระทำความผิดของผู้นั้นเองก็ได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามหนังสือรับรองสิทธิ ที่โจทก์นำสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง และโจทก์กับจำเลยที่ 1 แถลงร่วมกันให้ใช้คำเบิกความพยานโจทก์ปากนายสัมโพธิ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาคดีด้วย ได้ความตามเอกสารว่า จำเลยที่ 1 รับรองว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของสิทธิคาแรกเตอร์อุลตร้าแมน (ULTRAMAN) ทั้งปวง ในทุกอาณาเขตทั่วโลกยกเว้นประเทศญี่ปุ่นแต่เพียงผู้เดียว และรับรองว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ได้รับสิทธิผลิตและจำหน่ายตุ๊กตาที่มีสัญลักษณ์รูปอุลตร้าแมนโดยถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 ในนามบริษัทซึบูราญ่า ไชโย จำกัด จึงทำสัญญาอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ใช้สิทธิผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตุ๊กตาอุลตร้าแมนทิก้า อุลตร้าแมนไดน่า อุลตร้าแมนไกญ่า และอุลตร้าแมนคอสมอส รวม 5 แบบ จำนวน 425,000 ชิ้น ในเขตประเทศไทย โดยจำเลยที่ 1 ได้รับชำระค่าอนุญาตให้ใช้สิทธิอุลตร้าแมนทิก้า อุลตร้าแมนไดน่า อุลตร้าแมนไกญ่า และอุลตร้าแมนคอสมอส ดังกล่าวจำนวน 818,584 บาท ตามหนังสืออนุญาตให้ใช้สิทธิ นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงยังปรากฏตามสินค้าตุ๊กตาอุลตร้าแมนพลังถีบสามล้อประกอบเอกสารอธิบายฉลากสินค้าดังกล่าวว่า ฉลากสินค้าที่อยู่ในซองบรรจุสินค้าวัตถุ นั้น มีข้อความภาษาอังกฤษระบุไว้ว่า “Ultraman Characters (c) Sompote Saengduenchai All rights reserved Products by KFC” อันแปลความได้ว่า คาแรกเตอร์อุลตร้าแมนเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของนายสมโพธิ (จำเลยที่ 1) สงวนสิทธิต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และผลิตภัณฑ์นี้ทำโดยเคเอฟซี แสดงว่าจำเลยที่ 1 แสดงตนเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์เกี่ยวกับอุลตร้าแมนในขณะนั้น อันรวมถึงอุลตร้าแมนทิก้า อุลตร้าแมนไดน่า อุลตร้าแมนไกญ่า และอุลตร้าแมนคอสมอสที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้ด้วย นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความชั้นไต่สวนมูลฟ้องของนายสัมโพธิ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องด้วยว่า จำเลยที่ 1 ลงโฆษณาประกาศในหนังสือพิมพ์ว่า โจทก์กับตัวแทนของโจทก์แอบอ้างเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนคอสมอส และประกาศจะเผยแพร่สิทธิทางการค้าในผลงานดังกล่าว จำเลยที่ 1 ยังประกาศโฆษณาว่าขอให้โจทก์และตัวแทนของโจทก์ยุติการดำเนินการดังกล่าว มิฉะนั้นจะถูกดำเนินคดี และพยานเคยถูกจำเลยที่ 1 ฟ้องเป็นจำเลยโดยกล่าวหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงดังกล่าวมาข้างต้นล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 แสดงตนเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์เกี่ยวกับอุลตร้าแมนมาโดยตลอด รวมตลอดถึงลิขสิทธิ์ในผลงานสร้างสรรค์ประเภทศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมในอุลตร้าแมนทิก้า อุลตร้าแมนไดน่า อุลตร้าแมนไกญ่า และอุลตร้าแมนคอสมอสที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ด้วย แม้ในขณะที่โจทก์ตรวจพบสินค้าตุ๊กตาอุลตร้าแมนนั่งปั่นรถสามล้อทั้งห้าแบบและยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.36/2540 หมายเลขแดงที่ อ.459/2543 โดยวินิจฉัยสรุปใจความสำคัญเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานสร้างสรรค์อุลตร้าแมนหรือยอดมนุษย์ว่า โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานสร้างสรรค์อุลตร้าแมนหรือยอดมนุษย์แต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 1 มิใช่ผู้สร้างสรรค์ร่วม สัญญาให้ใช้สิทธิ (License Granting Agreement) ฉบับวันที่ 4 มีนาคม 2519 ในคดีดังกล่าวที่นายโนโบรุทำกับจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เอกสารปลอม จึงมีผลผูกพันโจทก์ เฉพาะลิขสิทธิ์ในผลงานภาพยนตร์จำนวน 9 เรื่อง ที่ระบุไว้ในสัญญาดังกล่าวโอนไปยังจำเลยที่ 1 ได้แก่ (1) ไจแอนต์กับจัมโบ้เอ (GIANT VS. JAMBO ‘A’) (2) หนุมานพบเจ็ดยอดมนุษย์ (HANUMAN AND THE SEVEN ULTRAMAN) (3) อุลตร้าแมน 1 “อุลตร้าแมนคิว” (ULTRAMAN 1 “ULTRAMAN Q”) (4) อุลตร้าแมน 2 (ULTRAMAN 2) (5) อุลตร้าแมนเซเว่น (ULTRAMAN SEVEN) (6) รีเทิร์นอุลตร้าแมน (RETURN ULTRAMAN) (7) อุลตร้าแมนเอซ (ULTRAMAN ACE) (8) อุลตร้าแมนทาโร่ (ULTRAMAN TARO) และ (9) จัมบอร์กเอซ (JAMBORG ACE) ส่วนภาพยนตร์อุลตร้าแมนตอนใหม่ ๆ ที่โจทก์ผลิตขึ้นย่อมเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์เท่านั้น และทั้งโจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่างฝ่ายต่างอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในปัญหาว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานสร้างสรรค์เกี่ยวกับและเกี่ยวเนื่องกับอุลตร้าแมนทั้งหลายในฐานะผู้สร้างสรรค์ร่วมกับโจทก์หรือนายเอยิหรือไม่ ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ผู้ใดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์เกี่ยวกับและเกี่ยวเนื่องกับอุลตร้าแมนทั้งหลาย โดยมีสาระสำคัญว่าสัญญาให้ใช้สิทธิระหว่างบริษัทซึบูราญ่า เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด กับจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ และขอบเขตการมีผลบังคับใช้ของสัญญาให้ใช้สิทธิตามในคดีดังกล่าวมีผลครอบคลุมให้จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ที่โจทก์ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานสร้างสรรค์เกี่ยวกับและเกี่ยวเนื่องกับอุลตร้าแมนทั้งหลายภายหลังจากที่มีการทำสัญญาให้ใช้สิทธิ ในคดีดังกล่าวหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อขณะเกิดเหตุคดีนี้ยังไม่มีผลคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยเป็นอย่างอื่น จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.36/2540 หมายเลขแดงที่ อ.459/2543 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางย่อมต้องผูกพันตามผลคำพิพากษาในคดีดังกล่าว และรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า จำเลยที่ 1 ทราบดีว่า ตามผลคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในคดีดังกล่าวที่จำเลยที่ 1 อ้างถึงมาโดยตลอดนั้นได้วินิจฉัยถึงสิทธิในความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานสร้างสรรค์เกี่ยวกับคาแรกเตอร์อุลตร้าแมนว่าเป็นของโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 มิได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ร่วมกับโจทก์ในผลงานดังกล่าวในฐานะผู้สร้างสรรค์ร่วมแต่อย่างใด รวมทั้งโดยผลคำพิพากษาของศาลดังกล่าวจำเลยที่ 1 มีลิขสิทธิ์เฉพาะภาพยนตร์จำนวน 9 เรื่อง ตามที่ระบุไว้ในสัญญาให้ใช้สิทธิในคดีดังกล่าว โดยไม่รวมถึงลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนหรือภาพยนตร์เกี่ยวกับอุลตร้าแมนที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ที่ประเทศญี่ปุ่นหลังจากมีข้อพิพาทเรื่องลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนดังกล่าว ทั้งภายหลังจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาคดีดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ลงประกาศในหนังสือพิมพ์หลายฉบับทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาญี่ปุ่น ระหว่างเดือนมิถุนายน 2543 ถึงเดือนกรกฎาคม 2543 มีข้อความตอนต้นว่า บริษัทซึบูราญ่า ไชโย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าคาแรกเตอร์อุลตร้าแมนหรือยอดมนุษย์ทั้งปวงแต่เพียงผู้เดียวทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ โดยได้รับโอนสิทธิจากโจทก์ และบริษัทดังกล่าวได้อนุญาตให้บริษัทต่าง ๆ จำนวนมากดังระบุในประกาศดังกล่าวใช้สิทธิซึ่งบริษัทดังกล่าวมีอยู่ ตามข้อเท็จจริงที่กล่าวมานี้แสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์อันเป็นเหตุที่คนทั่วไปย่อมต้องเข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 1 อ้างตนเองเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานสร้างสรรค์เกี่ยวกับและเกี่ยวเนื่องกับอุลตร้าแมนทั้งหลายทั้งที่ในขณะนั้นศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาว่าสัญญาให้ใช้สิทธิ ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.36/2540 หมายเลขแดงที่ อ.459/2543 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัทที่ระบุในสัญญาดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้จริง และจำเลยที่ 1 ได้รับโอนสิทธิเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์จำนวน 9 เรื่อง ตามที่ระบุชื่อไว้ในสัญญาดังกล่าวเท่านั้น พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ที่แสดงตนเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานสร้างสรรค์อุลตร้าแมนทิก้า อุลตร้าแมนไดน่า อุลตร้าแมนไกญ่า และอุลตร้าแมนคอสมอส รวมทั้งสิ้นห้าแบบตามฟ้อง ทั้งที่ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 มิได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานสร้างสรรค์ประเภทศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมในผลงานเกี่ยวกับอุลตร้าแมนทั้งห้าแบบที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นใหม่โดยมิได้รวมอยู่ในข้อพิพาทเรื่องลิขสิทธิ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ก่อนหน้านั้น แล้วจำเลยที่ 1 อนุญาตให้บุคคลอื่นใช้สิทธิในผลงานอุลตร้าแมนทั้งห้าแบบดังกล่าวโดยการทำซ้ำหรือดัดแปลงอุลตร้าแมนทั้งห้าแบบดังกล่าว ผลิตเป็นสินค้าตุ๊กตาออกจำหน่ายจ่ายแจกและโฆษณาเผยแพร่โดยจำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการกระทำดังกล่าว จึงต้องถือว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 เองต่อผลงานอุลตร้าแมนของโจทก์ที่แสดงออกในรูปของงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรม โดยอาศัยผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิจากจำเลยที่ 1 ดังเช่นจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่อยู่ในฐานะผู้กระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์แต่อยู่ในฐานะตัวแทนโดยบริสุทธิ์ (Innocent Agent) ของจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือของจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิด เนื่องจากผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิจากจำเลยที่ 1 เข้าใจโดยสุจริตตามข้อกล่าวอ้างของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนทั้งห้าแบบตามฟ้องได้ จำเลยที่ 1 จึงอยู่ในฐานะเป็นผู้กระทำความผิดเองโดยอ้อม และเมื่อพิจารณาสินค้าตุ๊กตาอุลตร้าแมนพลังถีบสามล้อรวม 5 แบบ ซึ่งดัดแปลงขึ้นโดยอาศัยหนังสือสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิระหว่างจำเลยที่ 1 ในนามบริษัทซึบูราญ่า ไชโย จำกัด กับจำเลยที่ 2 ภายหลังจากที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาแล้วพบว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกับอุลตร้าแมนทิก้า อุลตร้าแมนไดน่า อุลตร้าแมนไกญ่า และอุลตร้าแมนคอสมอสรวมทั้งสิ้นห้าแบบที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ที่ประเทศญี่ปุ่น และเป็นความคล้ายคลึงกันในส่วนที่เป็นสาระสำคัญเพราะทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจได้ว่าสินค้าตุ๊กตาอุลตร้าแมนนั่งปั่นรถสามล้อทั้งห้าแบบตามฟ้อง นั้นเป็นอุลตร้าแมนลักษณะเดียวกันกับอุลตร้าแมนทิก้า อุลตร้าแมนไดน่า อุลตร้าแมนไกญ่า และอุลตร้าแมนคอสมอสรวมทั้งสิ้นห้าแบบที่โจทก์สร้างสรรค์เป็นงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมแล้วดัดแปลงเป็นงานภาพยนตร์ พยานหลักฐานตามที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อควรสงสัยว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนากระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ในงานอุลตร้าแมนทิก้า อุลตร้าแมนไดน่า อุลตร้าแมนไกญ่า และอุลตร้าแมนคอสมอส รวมทั้งสิ้นห้าแบบตามที่โจทก์ฟ้อง และสินค้าตุ๊กตาอุลตร้าแมนนั่งปั่นรถสามล้อทั้งห้าแบบ นั้นเป็นการดัดแปลงงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมอุลตร้าแมนอันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 อาศัยจำเลยที่ 2 ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ดังกล่าวของโจทก์ จึงเป็นการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เพื่อการค้า อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) และการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานสร้างสรรค์อุลตร้าแมนทั้งห้าแบบดังกล่าวและมีการผลิตสินค้าตุ๊กตาอุลตร้าแมนนั่งปั่นรถสามล้อทั้งห้าแบบตามฟ้อง ออกจำหน่ายและเพื่อการส่งเสริมการขายไก่ทอดเคเอฟซีและชิกกี้มิล และนำสินค้าตุ๊กตาอุลตร้าแมนนั่งปั่นรถสามล้อทั้งห้าแบบตามฟ้อง เผยแพร่โฆษณาเพื่อส่งเสริมการขายทางโทรทัศน์ โดยจำเลยที่ 1 รู้ว่าเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ข้างต้น จึงเป็นการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ด้วยการขาย เสนอขาย มีไว้เพื่อขาย และเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่ได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ และเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า จึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) และ (2) แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเพียงครั้งเดียว โดยมีเจตนาประสงค์ต่อผลคือการทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมอุลตร้าแมนทั้งห้าแบบตามฟ้องของโจทก์ และมีเจตนาเล็งเห็นผลได้ว่าผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิซึ่งเชื่อโดยสุจริตว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมอุลตร้าแมนทั้งห้าแบบตามฟ้องนั้นจะทำซ้ำหรือดัดแปลงแล้วนำออกขาย เสนอขาย มีไว้เพื่อขาย หรือโฆษณาเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่ได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงคาแรกเตอร์อุลตร้าแมนอันเป็นงานจิตรกรรมทั้งห้าแบบตามฟ้องดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกันในการละเมิดลิขสิทธิ์งานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ตามฟ้อง อันเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) และมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) และ (2) เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ลงโทษปรับ 300,000 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 (ที่แก้ไขใหม่) โดยหากต้องกักขังแทนค่าปรับ ให้กักขังแทนค่าปรับไม่เกิน 1 ปี ให้จ่ายค่าปรับที่จำเลยที่ 1 ชำระตามคำพิพากษาแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 76

Share