คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 92/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยทั้งสองขับรถจักรยานยนต์หนีโดยมีรถยนต์ของผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจไล่ตามมาติด ๆ เป็นระยะทางหลายกิโลเมตร และจำเลยที่ 2 ขว้างลูกระเบิดไปข้างหลังโดยเล็งเห็นว่าลูกระเบิดที่ขว้างไปดังกล่าวสามารถทำให้ผู้เสียหายและพวกซึ่งอยู่ในรถยนต์ที่ไล่ตามมาอาจถึงแก่ความตายได้หากลูกระเบิดเกิดระเบิดขึ้น จึงเป็นการขว้างโดยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายกับพวก แต่การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่บรรลุผล เพราะลูกระเบิดที่ขว้างไม่เกิดระเบิดเนื่องจากยังไม่ได้ถอดสลักนิรภัยซึ่งอาจเป็นเพราะจำเลยที่ 2 รีบร้อนเกินไป เมื่อปรากฏผลการตรวจพิสูจน์ลูกระเบิดว่าอยู่ในสภาพใช้การได้ หากเกิดระเบิดขึ้นมีอำนาจทำลายสังหารชีวิตมนุษย์ สัตว์ และทรัพย์สินให้เสียหายได้ในรัศมีฉกรรจ์ 10 เมตร จากจุดระเบิดการกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายตาม ป.อ. มาตรา 289 (2) ประกอบด้วยมาตรา 80
การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันมีลูกระเบิดสังหารไว้ในครอบครองแล้วใช้ลูกระเบิดสังหารดังกล่าวไปขว้างพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 289 (2), 80 และ พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน ฯ มาตรา 78 วรรคสาม เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 55, 72, 72 ทวิ, 78 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 80, 83, 91, 289 (2), 371 ริบลูกระเบิดของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานจำเลยทั้งสองขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง, 55, 78 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ประกอบมาตรา 83 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 1 ปี ฐานมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ไม่ได้จำคุกคนละ 10 ปี รวมจำคุกคนละ 12 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 6 ปี ส่วนความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานให้ยก ริบของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (2) ประกอบมาตรา 80 และฐานใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนหรือวัตถุระเบิด นอกจากที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 55 ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ฯ ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 วรรคสาม เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกตลอดชีวิต ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 25 ปี รวมกับโทษจำคุกฐานร่วมกันมีและพาอาวุธปืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุกคนละ 25 ปี 12 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่โต้เถียงว่าในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยทั้งสองกับพวกขับรถจักรยานยนต์มุ่งหน้ามาถึงด่านซึ่งร้อยตำรวจตรีอนุกร ผู้เสียหายกับพวกตั้งจุดสกัด แต่ไม่ยอมหยุดให้ตรวจโดยขับรถจักรยานยนต์หลบหนี ผู้เสียหายกับพวกขับรถยนต์สายตรวจติดตาม เมื่อตามไปถึงที่เกิดเหตุจำเลยที่ 2 ขว้างลูกระเบิดสังหารออกมา 1 ลูก ส่วนจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนพกยิง 1 นัด ลูกระเบิดไม่ระเบิดและกระสุนปืนไม่ถูกผู้ใด จำเลยทั้งสองกับพวกหลบหนีไปได้ หลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจตรวจกู้ลูกระเบิดซึ่งยังไม่ถอดสลักนิรภัยเป็นของกลางแล้วนำของกลางไปตรวจพิสูจน์ที่กองสรรพาวุธ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผลการตรวจเป็นลูกระเบิดขว้างสังหาร แบบเอ็มเค 2 ซึ่งทางราชการทหารและตำรวจเรียกว่าลูกระเบิดขว้างสังหาร แบบ 88 บ.2 ของกลางอยู่ในสภาพใช้การได้ เมื่อเกิดระเบิดขึ้นมีอำนาจทำลายสังหารชีวิตมนุษย์ สัตว์ และทรัพย์สินให้เสียหายได้ในรัศมีฉกรรจ์ 10 เมตร จากจุดระเบิด อันเป็นเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตได้ สำหรับความผิดฐานร่วมกันมีลูกระเบิดอันเป็นเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนและฐานร่วมกันพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวติดตัวไปในหมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวนั้นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดดังกล่าว คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองก่อนว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่หรือไม่โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาอ้างว่า กระสุนปืนลูกซองที่ยิงออกไปในรัศมี 4 เมตร เป็นไปไม่ได้ที่ลูกกระสุนปืนเบอร์ 12 จะไม่กระจายไปถูกรถยนต์ของผู้เสียหายกับพวกที่ขับตามหลังมาในระยะห่างประมาณ 40 ถึง 50 เมตร หากจำเลยที่ 1 เจตนาฆ่าผู้เสียหายจริงย่อมทำได้ตั้งแต่ขณะขับรถตีคู่กันแล้ว ส่วนจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 เพียงขว้างลูกระเบิดของกลางทิ้งลงข้างทาง มิใช่ขว้างไปด้านหลังตามที่ผู้เสียหายให้การ หากเจตนาฆ่าผู้เสียหายจริงจำเลยที่ 2 ต้องถอดสลักนิรภัยออก เป็นไปไม่ได้ที่จะหลงลืมนั้น เห็นว่า เจ้าพนักงานตำรวจไม่สามารถยึดอาวุธปืนจากจำเลยที่ 1 เป็นของกลาง จึงไม่แน่ชัดว่ากระสุนปืนดังกล่าวเป็นประเภทใด ซึ่งคงไม่ใช่กระสุนปืนลูกซองดังจำเลยที่ 1 อ้างเพราะมิเช่นนั้นเจ้าพนักงานตำรวจจะต้องตรวจพบชิ้นส่วนของปลอกกระสุนปืนที่จำเลยที่ 1 ยิงและการที่จำเลยที่ 1 ไม่ยิงรถยนต์ที่ผู้เสียหายนั่งขณะขับรถตีคู่กันมาก็หาเป็นพิรุธไม่ เพราะต้องขึ้นอยู่กับโอกาสและจังหวะด้วย โดยโจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เอี้ยวตัวยิงมาทางรถยนต์ที่ผู้เสียหายกับพวกไล่ตามหลังมาในระยะห่างเกิน 15 เมตร ซึ่งจำเลยที่ 1 น่าจะเล็งเห็นผลได้ว่าหากกระสุนปืนเข้าไปในรถยนต์ที่ผู้เสียหายกับพวกนั่งอยู่ อาจทำให้ผู้เสียหายกับพวกเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ นอกจากนี้ผู้เสียหายยังเบิกความเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ขว้างลูกระเบิดของกลางไปทางด้านหลังของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีรถยนต์ของผู้เสียหายกับพวกติดตามมาด้านหลังครั้งแรกเข้าใจว่าเป็นยาเสพติด เห็นลูกระเบิดตกที่ถนนแล้วกลิ้งลงข้างทางห่างล้อหน้าซ้ายของรถยนต์ประมาณ 2 เมตร ศาลฎีกาเห็นว่าพฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองขับรถจักรยานยนต์หนีโดยมีรถยนต์ของเจ้าพนักงานตำรวจไล่ตามมาติด ๆ เป็นระยะทางหลายกิโลเมตร การที่จำเลยที่ 2 ขว้างระเบิดออกไปน่าจะเพราะจำเลยทั้งสองกับพวกต้องการหลบหนีให้พ้นจากการติดตามของเจ้าพนักงานตำรวจ มิใช่เพียงต้องการขว้างลูกระเบิดทิ้งเพื่อพ้นผิด ทั้งคดีนี้จำเลยทั้งสองมีทนายความซักค้านพยานปากผู้เสียหายแต่ไม่สามารถซักค้านทำลายน้ำหนักคำเบิกความของผู้เสียหายได้ และผู้เสียหายคงเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านยืนยันเช่นเดิมว่าจำเลยที่ 2 ขว้างลูกระเบิดออกไปทางด้านหลังซึ่งผู้เสียหายกับพวกนั่งรถยนต์ไล่ตามมา เมื่อจำเลยทั้งสองไม่นำพยานเข้าสืบหักล้างและยังให้การรับสารภาพในชั้นศาลว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานกระทำการตามหน้าที่จริง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 2 ขว้างลูกระเบิดของกลางไปข้างหลังโดยเล็งเห็นว่าลูกระเบิดที่ขว้างไปดังกล่าวสามารถทำให้ผู้เสียหายและพวกซึ่งอยู่ในรถยนต์ที่ไล่ตามมาอาจถึงแก่ความตายได้หากลูกระเบิดเกิดระเบิดขึ้น จึงเป็นการขว้างโดยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายกับพวก แต่การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่บรรลุผล เพราะลูกระเบิดที่ขว้างไม่เกิดระเบิดเนื่องจากยังไม่ได้ถอดสลักนิรภัยซึ่งอาจเป็นเพราะจำเลยที่ 2 รีบร้อนเกินไป เมื่อปรากฏจากผลการตรวจพิสูจน์ลูกระเบิดของกลางว่าอยู่ในสภาพใช้การได้ หากเกิดระเบิดขึ้นมีอำนาจทำลายสังหารชีวิตมนุษย์ สัตว์ และทรัพย์สินให้เสียหายได้ในรัศมีฉกรรจ์ 10 เมตร จากจุดระเบิด การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (2) ประกอบด้วยมาตรา 80 ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ปัญหาสุดท้ายที่โจทก์ฎีกาว่า ความผิดฐานร่วมกันมีลูกระเบิดสังหารอันเป็นเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตได้เป็นคนละกรรมกับความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่โดยใช้อาวุธปืน เครืองกระสุนหรือวัตถุระเบิด นอกจากที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 55 ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ฯ นั้น เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันมีลูกระเบิดสังหารไว้ในครอบครองแล้วใช้ลูกระเบิดสังหารดังกล่าวไปในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (2) ประกอบมาตรา 80 ถือว่าเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท เทียบตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1350/2540 ซึ่งวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ หาใช่เป็นความผิดหลายกรรมไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ มาตรา 55 และ 78 วรรคสาม ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 25 ปี เพียงกรรมเดียว โดยไม่นำโทษจำคุกฐานมีระเบิดสังหารอันเป็นเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตได้มารวมด้วยจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share