คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 116/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าระหว่างจำเลยกับ ว. นอกจากจำเลยกับ ว. จะเป็นคู่สัญญาซึ่งกันและกันแล้วยังมีผู้ร้องและบุตรของจำเลยและ ว. อีก 3 คน เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นผู้รับประโยชน์แห่งสัญญาด้วย ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 และเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 การที่ผู้ร้องเข้าถือเอาประโยชน์ตามข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่งแม้จะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทำให้การได้มาดังกล่าวย่อมไม่บริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่บ้านพิพาทตั้งอยู่บนที่สาธารณประโยชน์และผู้ร้องได้เข้าครอบครองบ้านพิพาทแล้วเพียงแต่ผู้ร้องยังมิได้ไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 แม้จะได้ความว่าจำเลยยังคงอาศัยอยู่ในบ้านพิพาทขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดทรัพย์ก็ตามแต่จำเลยเป็นมารดาของผู้ร้องจึงย่อมอยู่อาศัยกับบุตรของตนได้ ข้อเท็จจริงดังกล่าวมิได้ทำให้สิทธิของผู้ร้องดังกล่าวสิ้นไปแต่อย่างใด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าบ้านพิพาทตกเป็นสิทธิของผู้ร้องร่วมกับบุตรของจำเลยอีก 3 คน และในคำร้องขัดทรัพย์ผู้ร้องได้ระบุข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ด้วย การยื่นคำร้องขัดทรัพย์ในกรณีนี้จึงถือได้ว่าเป็นกรณีที่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของรวมคนหนึ่งใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 ในกรณีเช่นนี้ ผู้ร้องจึงสามารถร้องขอให้เพิกถอนการยึดได้ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะบังคับคดีให้กระทบถึงสิทธิของผู้ร้องดังกล่าวไม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 158,437 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา ต่อมาโจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดบ้านเลขที่ 16/4 ซึ่งเป็นบ้านพิพาทเพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งปล่อยทรัพย์ที่ยึด
โจทก์ให้การและแก้ไขคำให้การว่า บ้านพิพาทที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดเป็นของจำเลย บันทึกท้ายทะเบียนการหย่ามิได้ระบุรายละเอียดของบ้านที่ยกให้ และมิได้ระบุชื่อนายสมชาย เป็นผู้รับการให้ ทั้งการยกให้มิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตกเป็นโมฆะ นางสาวเทพีหรือพีชานิกาหรือมาริสา นางสาวเทพา และนายสมชายมิได้ร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด หากฟังว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของบ้านพิพาทก็ต้องปล่อยทรัพย์ที่ยึดเพียงหนึ่งในสี่ส่วนเท่านั้น ขอให้ยกคำร้องขัดทรัพย์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ปล่อยบ้านพิพาท และคืนเงินประกันการชำระค่าสินไหมทดแทน จำนวน 3,000 บาท แก่ผู้ร้อง กับให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้องโดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องขัดทรัพย์ ให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 3,000 บาท
ผู้ร้องฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยกับนายวัง เป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 4 คน คือ ผู้ร้อง นางสาวเทพีหรือพีชานิกาหรือมาริสา นางสาวเทพา และนายสมชาย เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2523 จำเลยกับนายวังจดทะเบียนหย่าและทำบันทึกยกบ้านพิพาทที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ในคดีนี้ให้แก่บุตรทั้ง 4 คน ตามทะเบียนการหย่าและบันทึกเอกสารหมาย ร.5 และ ร.6 แต่การยกให้ซึ่งบ้านพิพาทมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ต่อมาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2545 โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยนำพนักงานบังคับคดีไปยึดบ้านพิพาทเพื่อนำออกขายทอดตลาด คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่ามีเหตุที่จะสั่งเพิกถอนการยึดบ้านพิพาทหรือไม่ เห็นว่า ข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าระหว่างจำเลยกับนายวัง นอกจากจำเลยกับนายวังจะเป็นคู่สัญญาซึ่งกันและกันแล้วยังมีผู้ร้องและบุตรของจำเลยและนายวังอีก 3 คน เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นผู้รับประโยชน์แห่งสัญญาด้วย ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1532 และเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 การที่ผู้ร้องเข้าถือเอาประโยชน์ตามข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่ง แม้จะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทำให้การได้มาดังกล่าวย่อมไม่บริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคหนึ่งก็ตาม แต่บ้านพิพาทตั้งอยู่บนที่สาธารณประโยชน์และผู้ร้องได้เข้าครอบครองบ้านพิพาทแล้วเพียงแต่ผู้ร้องยังมิได้ไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 แม้จะได้ความว่าจำเลยยังคงอาศัยอยู่ในบ้านพิพาทขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดทรัพย์ก็ตาม แต่จำเลยเป็นมารดาของผู้ร้องจึงย่อมอยู่อาศัยกับบุตรของตนได้ ข้อเท็จจริงดังกล่าวมิได้ทำให้สิทธิของผู้ร้องดังกล่าวสิ้นไปแต่อย่างใด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าบ้านพิพาทตกเป็นสิทธิของผู้ร้องร่วมกับบุตรของจำเลยอีก 3 คน และในคำร้องขัดทรัพย์ผู้ร้องได้ระบุข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ด้วย การยื่นคำร้องขัดทรัพย์ในกรณีนี้จึงถือได้ว่าเป็นกรณีที่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของรวมคนหนึ่งใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359 ในกรณีเช่นนี้ผู้ร้องจึงสามารถร้องขอให้เพิกถอนการยึดได้ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะบังคับคดีให้กระทบถึงสิทธิของผู้ร้องดังกล่าวไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาให้ยกคำร้องนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น”
พิพากษากลับโดยให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share