แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา (3) บัญญัติถึงสิทธิที่จะยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลของผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้ว่า ถ้าไม่ยื่นภายในกำหนดเวลา 8 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา กำหนดเวลา 8 วัน ดังกล่าวเป็นเพียงระยะเวลากฎหมายสันนิษฐานถึงสถานภาพของบุคคลว่าใช่หรือไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่หาได้บังคับไว้เด็ดขาดว่าถ้าไม่ยื่นภายในกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วจะเป็นการตัดสิทธิไม่ให้ยื่นคำร้องในภายหลัง ดังนั้น แม้จะล่วงเลยกำหนดเวลา 8 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศแล้วผู้ร้องก็ชอบที่จะยื่นคำร้องเพื่อขอแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลได้ กรณีไม่เกี่ยวกับมาตรา 199 จัตวา ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับแก่การยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าที่ดินเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลย ผู้ร้องตกลงให้จำเลยมีชื่อเป็นผู้ถือสิทธิในหนังสือรับรองการประโยชน์เพียงผู้เดียว และไม่เคยยินยอมให้จำเลยขายที่ดินอันเป็นสินสมรสให้แก่ ห. ก่อนมีการโอนขายกันต่อมาจนถึงโจทก์ เป็นเรื่องที่ผู้ร้องยอมให้จำเลยเป็นตัวแทนถือสิทธิในที่ดินครึ่งหนึ่งแทนผู้ร้องโดยผู้ร้องอยู่ในฐานะเป็นตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อ ทั้ง ห. ไม่รู้ว่าจำเลยถือสิทธิในที่ดินแทนผู้ร้องครึ่งหนึ่ง ดังนั้น เมื่อจำเลยซึ่งมีชื่อเป็นผู้ถือสิทธิในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ขายที่ดินนั้นให้แก่ ห. ก็ต้องถือว่าผู้ร้องยอมให้จำเลยทำการออกหน้าเป็นตัวการขายที่ดินให้แก่ ห. ผู้ร้องจึงไม่อาจจะทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของ ห. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 และเมื่อมีการโอนขายที่ดินกันต่อมาจนถึงโจทก์ ผู้ร้องจึงอ้างอำนาจพิเศษตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา (3) มาใช้ยันโจทก์ไม่ได้ และต้องถือว่าผู้ร้องอยู่ในฐานะเป็นบริวารของจำเลย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนบ้านเลขที่ 38 หมู่ที่ 3 ตำบลเกาะเปียะ อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมทั้งบริวารออกไปจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1693 ตำบลเกาะเปียะ อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง ของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์อีกต่อไป ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 15,000 บาท และชำระค่าเสียหายอีกเดือนละ 5,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 2 สิงหาคม 2548) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนบ้านพร้อมสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมทั้งบริวารออกจากที่ดินของโจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี ต่อมาวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2549 เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศกำหนดเวลาให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของจำเลยยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลชั้นต้นภายใน 8 วัน นับแต่วันปิดประกาศ ครั้นวันที่ 16 มีนาคม 2549 เจ้าพนักงานบังคับคดีรายงานต่อศาลชั้นต้นเพื่อมีคำสั่งจับกุมและกักขังจำเลยและผู้ร้องซึ่งเป็นภริยาของจำเลย
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องจดทะเบียนสมรสกับจำเลย ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1693 เป็นที่ดินที่ผู้ร้องและจำเลยได้มาระหว่างสมรส แต่ผู้ร้องตกลงให้ใช้ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือสิทธิในหนังสือรับรองการทำประโยชน์แต่ผู้เดียว เดิมที่ดินดังกล่าวเนื้อที่ 13 ไร่เศษ แต่มีการแบ่งขายจนเหลือเนื้อที่ 4 ไร่เศษ ผู้ร้องกับจำเลยจึงตกลงกันว่าจะไม่ขายให้แก่ผู้ใดอีก ผู้ร้องไม่เคยยินยอมให้จำเลยทำสัญญาขายที่ดินอันเป็นสินสมรสดังกล่าวให้แก่นางเหิม การซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยกับนางเหิมไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนในทอดต่อ ๆ มาจึงไม่ได้สิทธิในที่ดินผู้ร้องยังมีสิทธิในที่ดินในฐานะเจ้าของรวม ทั้งได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตลอดมา ถือว่าผู้ร้องได้สิทธิครอบครองตามกฎหมาย ผู้ซื้อเดิมไม่เคยฟ้องเรียกที่ดินคืนจากผู้ร้อง จึงถือว่าได้สละการครอบครองที่ดินแล้ว โจทก์ซื้อที่ดินโดยไม่สุจริต ขอให้ไต่สวนและมีคำสั่งว่าผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องล่วงเลยกำหนดเวลาตามกฎหมาย และผู้ร้องเป็นภริยาจำเลยถือว่าเป็นบริวารของจำเลยจึงให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลล่วงหน้าพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา (3) ได้บัญญัติถึงสิทธิที่จะยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลของผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้ว่า ถ้าไม่ยื่นภายในกำหนดเวลา 8 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา กำหนดเวลา 8 วัน ดังกล่าวเป็นเพียงระยะเวลาที่กฎหมายสันนิษฐานถึงสถานภาพของบุคคลว่าใช่หรือไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่หาได้บังคับไว้เด็ดขาดว่าถ้าไม่ยื่นภายในกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วจะเป็นการตัดสิทธิไม่ให้ยื่นคำร้องในภายหลัง ดังนั้น แม้จะล่วงเลยกำหนดเวลา 8 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศแล้ว ผู้ร้องก็ชอบที่จะยื่นคำร้องเพื่อขอแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลได้ กรณีไม่เกี่ยวกับมาตรา 199 จัตวา แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับแก่การยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ยกบทบัญญัติมาตรา 199 จัตวา ขึ้นปรับแก่คดีแล้ววินิจฉัยว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องล่วงพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมาย จึงไม่ถูกต้อง ฎีกาของผู้ร้องข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต่อไปตามฎีกาของผู้ร้องมีว่า ผู้ร้องอยู่ในฐานะเป็นบริวารของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ตามคำร้องแสดงอำนาจพิเศษของผู้ร้องซึ่งอ้างว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1693 ตำบลเกาะเปียะ อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง เป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลย ผู้ร้องตกลงให้จำเลยมีชื่อเป็นผู้ถือสิทธิในหนังสือรับรองการประโยชน์เพียงผู้เดียว และไม่เคยยินยอมให้จำเลยขายที่ดินอันเป็นสินสมรสดังกล่าวให้แก่นางเหิมก่อนมีการโอนขายกันต่อมาจนถึงโจทก์นั้น หากเป็นความจริงก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องยอมให้จำเลยเป็นตัวแทนถือสิทธิในที่ดินครึ่งหนึ่งแทนผู้ร้องโดยผู้ร้องอยู่ในฐานะเป็นตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อ ทั้งไม่ปรากฏตามคำร้องของผู้ร้องว่านางเหิมรู้ว่าจำเลยถือสิทธิในที่ดินแทนผู้ร้องครึ่งหนึ่ง ดังนั้น เมื่อจำเลยซึ่งมีชื่อเป็นผู้ถือสิทธิในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ขายที่ดินนั้นให้แก่นางเหิม ก็ต้องถือว่าผู้ร้องยอมให้จำเลยทำการออกหน้าเป็นตัวการขายที่ดินให้แก่นางเหิม ผู้ร้องจึงหาอาจจะทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของนางเหิมซึ่งเป็นบุคคลภายนอกอันเขามีต่อจำเลยซึ่งเป็นตัวแทนและเขาขวนขวายได้มาแต่ก่อนที่รู้ว่าเป็นตัวแทนนั้นได้ไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 806 และเมื่อมีการโอนขายที่ดินกันต่อมาจนถึงโจทก์ ผู้ร้องย่อมไม่อาจจะทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของโจทก์ได้โดยนัยเดียวกัน ผู้ร้องจึงอ้างอำนาจพิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา (3) มาใช้ยันโจทก์ไม่ได้ และต้องถือว่าผู้ร้องอยู่ในฐานะเป็นบริวารของจำเลย กรณีไม่มีเหตุที่จะต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนตามที่ผู้ร้องฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ