คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16-17/2525

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์มีสิทธิจะได้รับทั้งเงินบำเหน็จและค่าชดเชย การที่ จำเลยให้โจทก์ขอรับเงินได้ประเภทเดียวเป็นการปฏิเสธจ่ายเงินอีก ประเภทหนึ่งโจทก์จึงต้องขอรับเงินบำเหน็จซึ่งมีจำนวนสูงกว่า ถือไม่ได้ว่าโจทก์สละสิทธิเรียกร้องค่าชดเชย
ค่าชดเชยเป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างเมื่อไม่จ่ายย่อมถือว่าผิดนัดนับแต่วันเลิกจ้างโดยมิพักต้องเรียกร้องหรือทวงถาม เมื่อผิดนัดก็ต้องเสียดอกเบี้ย

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งสองสำนวนพร้อมด้วยดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยอุทธรณ์ต่อไปว่า คณะกรรมการของจำเลยประชุมกันครั้งที่ 13/2519 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2519 อนุมัติให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จหรือจ่ายค่าชดเชยในการออกจากงานโดยไม่มีความผิดแทนการขอรับเงินบำเหน็จ เมื่อโจทก์ได้เลือกเอาวิธีรับเงินบำเหน็จแทนการรับค่าชดเชย จึงถือว่าโจทก์สละสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยแล้วนั้น เห็นว่าสิทธิของโจทก์เป็นสิทธิที่จะได้รับทั้งเงินบำเหน็จและค่าชดเชย คณะกรรมการของจำเลยให้โจทก์ขอรับเงินได้ประเภทเดียว เป็นการปฏิเสธจ่ายเงินอีกประเภทหนึ่ง โจทก์จึงต้องขอรับเงินบำเหน็จซึ่งมีจำนวนสูงกว่า ถือไม่ได้ว่าโจทก์สละสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยแล้ว

จำเลยอุทธรณ์เป็นประการสุดท้ายว่า โจทก์ไม่เคยทวงถามค่าชดเชย จำเลยยังไม่ผิดนัด จึงไม่ต้องเสียดอกเบี้ย พิเคราะห์แล้วค่าชดเชยเป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 ประกอบด้วยข้อ 46 เมื่อไม่จ่ายย่อมถือว่าผิดนัดนับแต่วันเลิกจ้างโดยมิพักต้องเรียกร้องหรือทวงถาม ค่าชดเชยเป็นหนี้เงินเมื่อผิดนัดก็ต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้าง”

พิพากษายืน

Share