คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9183/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ที่ดินของโจทก์อยู่ติดกับทางพิพาทซึ่งเป็นทางสาธารณประโยชน์ โจทก์ชอบที่จะใช้สอยทางพิพาทได้ การที่จำเลยเข้ายึดถือครอบครองโดยทำการไถทางแล้วปลูกต้นสักในเส้นทางดังกล่าว ย่อมเป็นการรบกวนสิทธิของโจทก์ในการใช้เส้นทางสาธารณประโยชน์ อันถือได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษตาม ป.พ.พ. มาตรา 421 และ 1337 โดยไม่จำต้องคำนึงว่าโจทก์มีเส้นทางอื่นออกสู่ทางสาธารณะหรือไม่ ทั้งไม่ต้องคำนึงว่าประชาชนเลิกใช้เส้นทางดังกล่าวแล้วเพราะตราบใดที่ยังไม่มีการประกาศยกเลิกโดยทางการก็ยังคงสภาพเป็นทางสาธารณประโยชน์อยู่ การกระทำของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 3113 ตำบลปากจั่น อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง เนื้อที่ 6 ไร่ 2 งาน 19 ตารางวา ทิศเหนือจดทางสาธารณประโยชน์ ยาวตลาดแนว มีความกว้างไม่น้อยกว่า 7 เมตร และเป็นทางที่โจทก์กับบุคคลอื่นใช้มาไม่น้อยกว่า 50 ปี เมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2540 จำเลยให้รถไถทำการไถบนทางสาธารณประโยชน์ที่มีอยู่เดิมทั้งหมด ตามเส้นสีเขียวในแผนที่สังเขป เอกสารท้ายฟ้อง หมายเลข 2 แล้วจำเลยปลูกต้นสักและต้นพืชผลอื่น ๆ ลงบนทางสาธารณประโยชน์บังที่ดินของโจทก์ที่จะออกสู่ทางสาธารณประโยชน์จนไม่สามารถที่จะใช้ทางได้โดยสะดวก ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ห้ามจำเลยรบกวนการใช้หรือปิดทางสาธารณประโยชน์ซึ่งมีความกว้าง 7 เมตร ความยาวตลอดแนวที่ดินทางด้านทิศเหนือของที่ดินโจทก์ ตามเส้นสีเขียวในแผนที่สังเขปเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 2 กับให้จำเลยรื้อถอนต้นสักและต้นพืชผลอื่น ๆ ออกไปจากทางสาธารณประโยชน์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากโจทก์มิใช่ผู้เสียหายที่จะขอให้ห้ามจำเลยบุกรุกที่ดินอันเป็นทางสาธารณประโยชน์ได้ นอกจากนั้นก็ไม่มีทางสาธารณประโยชน์ที่ราษฎรใช้มาถึง 50 ปี และมีความกว้างถึง 7 เมตร ตามที่โจทก์ฟ้อง ทั้งจำเลยไม่เคยให้รถไถทำการไถดินรุกล้ำทางสาธารณประโยชน์ เพียงแต่ไถที่ดินของจำเลยเพื่อปลูกพืชผลของจำเลยเท่านั้น โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาห้ามจำเลยรบกวนการใช้หรือปิดทางสาธารณประโยชน์ซึ่งมีความกว้าง 6 เมตร ความยาวตลอดแนวที่ดินทางด้านทิศเหนือของที่ดินโจทก์ ตามบริเวณที่แรเงาด้วยหมึกสีเขียวตามแผนที่วิวาทหมาย จ.2 ให้จำเลยรื้อถอนต้นสักและพืชผลอื่น ๆ ออกไปจากทางสาธารณประโยชน์ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้น 3,000 บาท แทนโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 3113 ตำบลปากจั่น อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง เนื้อที่ 6 ไร่ 2 งาน 19 ตารางวา ด้านทิศเหนือจดทางสาธารณประโยชน์ ถัดจากทางสาธารณประโยชน์ไปเป็นที่ดินของนายมอน ปัจจุบันที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นของจำเลย ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า ตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.2 ระหว่างที่ดินของโจทก์และจำเลยมีทางสาธารณประโยชน์หรือไม่ โจทก์นำสืบว่า ตั้งแต่จำความได้ทางทิศเหนือของที่ดินมีทางสาธารณประโยชน์อยู่ ขณะนั้นมีการทำนาจะมีฝูงควายขนาดใหญ่ 30 ตัว ถึง 70 ตัว ใช้เส้นทางดังกล่าวไปสู่ที่นา ทางสาธารณประโยชน์เป็นทางเชื่อมกับถนนเพชรเกษมจะผ่านที่ดินของนายบุญเหลือ นายแคล้ว ที่ดินของโจทก์ ที่ดินของนางยุพา ที่ดินทุกแปลงใช้ทำนา ทางสาธารณไปสิ้นสุดที่คลองนาพระ หากข้ามคลองไปจะเป็นหมู่บ้านนาส้มปล่อย ทางดังกล่าวใช้เป็นเส้นทางบรรทุกข้าวต้นอ่อนไปปลูกในนา บรรทุกผลผลิตข้าวที่เก็บได้นำไปเก็บไว้ที่บ้านโดยใช้ช้างลากเชิง (มีลักษณะคล้ายเกวียน) หลังจากเปลี่ยนจากการทำนาเป็นการทำสวนได้ใช้เส้นทางดังกล่าวลากเกวียนบรรทุกปุ๋ยไปใส่ต้นไม้ในสวน ปัจจุบันชาวบ้านยังใช้เส้นทางสาธารณะประโยชน์อยู่ จนกระทั่งปี 2540 จำเลยได้ไถเส้นทางสาธารณประโยชน์ดังกล่าว โจทก์ได้รับความเสียหาย นอกจากคำพยานโจทก์แล้ว โจทก์มีนายเขต ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ตำบลปากจั่น อำเภอกระบุรีจังหวัดระนอง ตั้งแต่ปี 2518 ถึง 2532 นายชอบผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ตั้งแต่ปี 2532 แต่ในปี 2534 มีการแบ่งเขตการปกครองหมู่บ้าน นายชอบจึงเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 นายทนงศักดิ์ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ตั้งแต่ปี 2533 จนถึงปัจจุบันและนายอวยชัยซึ่งเป็นกำนันตำบลปากจั่นตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปัจจุบันต่างเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงตามคำพยานโจทก์ ส่วนจำเลยนำสืบว่า ซื้อที่ดินจากนายสำราญเมื่อปี 2536 ที่ดินมีเอกสารสิทธิเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามเอกสารหมาย ล.1 นายสำราญได้ปลูกต้นยางพาราและต้นไม้อื่น ๆ เต็มพื้นที่ สภาพที่ดินสูงกว่าที่ดินข้างเคียงอย่างเห็นได้ชัด และไม่มีเส้นทางพิพาทเนื่องจากมีต้นหญ้าและต้นไม้ปกคลุมเต็มพื้นที่ไปหมดไม่ปรากฏเส้นทางสาธารณประโยชน์ เห็นว่า จากหลักฐานโฉนดที่ดินของโจทก์เอกสารหมาย จ.1 รูปแผนที่ที่ดินระบุโดยแน่ชัดว่าทางด้านทิศเหนือจดทางสาธารณประโยชน์ ส่วนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.1 นั้น ปรากฏว่ารูปที่ดินและเขตติดต่อทางด้านทิศใต้ก็ระบุว่าจดทางสาธารณประโยชน์เช่นเดียวกัน เมื่อพิจารณารูปแบบที่ดินทั้งสองแปลงประกอบคำพยานโจทก์และคำพยานผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่ปี 2518 จนถึงปัจจุบันและคำพยานกำนันตำบลปากจั่นซึ่งที่ดินของโจทก์และจำเลยตั้งอยู่ พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานจำเลย ซึ่งแม้แต่นายสำราญผู้ขายที่ดินให้จำเลยยังตอบคำถามค้านรับว่าขณะที่ตนเป็นเจ้าของที่ดินอยู่นั้นระหว่างที่ดินของตนกับที่นาซึ่งเป็นป่าไม่เคยเข้าไปทำประโยชน์กว้างประมาณ 4 เมตร ตนปลูกต้นยางพาราเว้นระยะดังกล่าวไว้เนื่องจากนายเขตบอกว่ามีทางสาธารณะอยู่ทางด้านทิศใต้ของที่ดินซึ่งนายเขตเป็นผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่ปี 2518 ถึง 2532 ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าทางพิพาทตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.2 เป็นทางสาธารณประโยชน์
ปัญหาว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินของโจทก์อยู่ติดกับทางพิพาทซึ่งเป็นทางสาธารณประโยชน์ โจทก์จึงชอบที่จะใช้สอยทางพิพาทได้ การที่จำเลยเข้ายึดถือครอบครองโดยทำการไถทางสาธารณประโยชน์แล้วปลูกต้นสักในเส้นทางดังกล่าว ย่อมเป็นการรบกวนสิทธิของโจทก์ในการใช้เส้นทางสาธารณประโยชน์ อันถือได้ว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 และ 1337 โดยไม่จำต้องคำนึงว่าโจทก์มีเส้นทางอื่นออกสู่ทางสาธารณะหรือไม่ ทั้งไม่ต้องคำนึงว่าประชาชนเลิกใช้เส้นทางดังกล่าวแล้วตามที่จำเลยกล่าวอ้าง เมื่อทางพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์แล้วตราบใดที่ยังไม่มีการประกาศยกเลิกโดยทางการก็ยังคงสภาพเป็นทางสาธารณประโยชน์อยู่ ผู้ใดจะเข้ายึดถือครอบครองไม่ได้ การกระทำของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยผู้เข้ายึดถือครอบครองทางสาธารณประโยชน์ได้
ปัญหาว่าทางสาธารประโยชน์ดังกล่าวกว้างเท่าใด เห็นว่าจากแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งโจทก์และจำเลยต่างเป็นผู้นำชี้ ถึงแม้จะนำชี้จุดวิวาทแตกต่างกันก็ตาม แต่ทั้งโจทก์และจำเลยต่างนำชี้ระบุว่ากว้าง 6 เมตร ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนดความกว้างของทางพิพาท 6 เมตรนั้น จึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท

Share