คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 915/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 นำพินัยกรรมปลอมไปจดทะเบียนรับมรดกที่ดินเฉพาะส่วนของเจ้ามรดกมาเป็นของตนโดยทุจริตจำเลยที่ 1ย่อมไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนนั้นและไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินนั้นได้จำเลยที่2 รับซื้อฝากที่ดินดังกล่าวจากจำเลยที่ 1แม้จะพ้นกำหนดเวลาไถ่ถอนการขายฝากแล้วจำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์และจะยกเหตุที่กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนขึ้นอ้างหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลและเป็นทายาทโดยธรรมของนางต่วมซึ่งถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2516 และมีทรัพย์มรดกคือที่ดินโฉนดที่ 668, 2398 และสิทธิเรียกร้องเงินกู้อีก 25,000 บาท โดยผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรมไว้ โจทก์และนางเฉลียว (บุตรผู้ตาย) เป็นทายาทซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินโฉนดที่ 668 เฉพาะส่วนของผู้ตายเป็นของจำเลยที่ 1 โดยอ้างว่านางต่วมทำพินัยกรรมลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2516 ความจริงพินัยกรรมดังกล่าวจำเลยที่ 1 กับพวกทำปลอมขึ้น เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อจึงจดทะเบียนให้ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินส่วนที่รับมรดกมาไปขายฝากแก่จำเลยที่ 2 กำหนดไถ่ถอนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2518 เมื่อพินัยกรรมดังกล่าวปลอม จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิได้รับมรดกตามพินัยกรรมนั้นและไม่มีอำนาจขายฝากที่ดินแปลงนี้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ ขอให้ศาลพิพากษาว่าพินัยกรรมดังกล่าวเป็นพินัยกรรมปลอม เพิกถอนการรับมรดกที่ดินโฉนดที่ 668 ของจำเลยที่ 1 เพิกถอนสัญญาขายฝาก ให้จำเลยทั้งสองถอนชื่อออกจากโฉนดที่ 668 ถ้าไม่จัดการให้ถือคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยที่ 1 ให้การว่า พินัยกรรมตามฟ้องมิใช่พินัยกรรมปลอม

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่เกี่ยวข้องหรือทราบเรื่องพินัยกรรมปลอมจำเลยที่ 2 รับซื้อฝากที่ดินโฉนดที่ 668 จากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต เสียค่าตอบแทนจดทะเบียนการขายฝากวันที่ 8 พฤศจิกายน 2517 กำหนดไถ่ถอน 1 ปี จำเลยที่ 2ได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยสมบูรณ์

ศาลชั้นต้นฟังว่าพินัยกรรมตามฟ้องเป็นพินัยกรรมปลอม จำเลยที่ 1นำพินัยกรรมปลอมไปจดทะเบียนรับมรดกที่ดินโฉนดที่ 668 เป็นของตนโดยทุจริตก็เสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการโอนเกิดขึ้นเลย จำเลยที่ 1 ไม่มีกรรมสิทธิ์ไม่มีสิทธิเอาที่ดินส่วนนี้ไปขายฝากแก่ใครได้ ไม่เกิดผลให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิตามนิติกรรมนั้น พิพากษาว่าพินัยกรรมตามฟ้องเป็นพินัยกรรมปลอม ให้เพิกถอนการรับมรดกของจำเลยที่ 1 และสัญญาขายฝากตามฟ้อง ให้จำเลยทั้งสองถอนชื่อออกจากโฉนดเลขที่ 668 ถ้าจำเลยทั้งสองไม่จัดการถอนชื่อก็ให้เจ้าพนักงานถอนชื่อจำเลยทั้งสองออกจากโฉนด

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 รับซื้อฝากที่พิพาทโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนสิทธิแล้ว ย่อมได้กรรมสิทธิ์ตามมาตรา 491 และได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1299 วรรคสอง, 1300

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 1 นำพินัยกรรมปลอมฉบับลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2516 ไปจดทะเบียนรับมรดกที่ดินโฉนดที่ 668 เฉพาะส่วนของนางต่วมมาเป็นของตนโดยทุจริต จำเลยที่ 1ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทส่วนนั้น แล้ววินิจฉัยว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมรับซื้อฝากที่ดินมรดกส่วนของนางต่วมในโฉนดที่ 668 ไว้จากจำเลยที่ 1 ผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์และไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินนั้นได้จนพ้นกำหนดเวลาไถ่ถอนการขายฝาก จำเลยที่ 2 ผู้รับซื้อฝากก็ไม่ได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ จำเลยที่ 2 จะยกเหตุที่กระทำโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนขึ้นอ้างว่าได้กรรมสิทธิ์หาได้ไม่ เพราะจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ จึงไม่มีอำนาจโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ใดได้

พิพากษายืน

Share