แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
สัญญากู้เงินระบุข้อตกลงว่าผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีหรือตามอัตราดอกเบี้ยใหม่ ซึ่งผู้ให้กู้อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้และผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยใหม่ตามประกาศของธนาคารโจทก์ ข้อตกลงดังกล่าวกำหนดให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ในระหว่างสัญญาโดยอนุวัตตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดสถาบันการเงินและอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม (ฉบับที่ 5) ฯ ที่กำหนดให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมได้ในอัตราสูงสุดไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปี โดยไม่มีข้อกำหนดให้ต้องประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยแต่ประการใด อัตราดอกเบี้ยตามที่โจทก์และจำเลยตกลงกันตามสัญญากู้เงินไม่เกินกว่าอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิคิดจากจำเลยได้ตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว การทำสัญญากู้เงินของโจทก์และจำเลยเป็นไปตามเจตนาของคู่สัญญาและอยู่ในกรอบที่ประกาศกระทรวงการคลังกำหนดจึงไม่ตกเป็นโมฆะ และแม้ขณะทำสัญญากู้เงินดังกล่าวจะมีประกาศของโจทก์เรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราที่ระบุไว้ในสัญญากู้เงิน ซึ่งโจทก์จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยเกินกว่าประกาศของโจทก์ไม่ได้ก็ตาม ก็ได้ความว่าในทางปฏิบัติจริงโจทก์คิดดอกเบี้ยและปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยอยู่ภายในกรอบแห่งประกาศธนาคารโจทก์และประกาศกระทรวงการคลัง การคิดดอกเบี้ยของโจทก์จึงไม่ขัดต่อกฎหมายและมีผลบังคับกันได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของนายสมเดช รักเสมอใจ ชำระเงิน 1,201,388.21 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.50 ต่อปี ของต้นเงิน 688,826.92 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยชำระค่าเบี้ยประกันภัยโจทก์ทุก 3 ปีต่อครั้ง เป็นเงินครั้งละ 1,609 บาท เริ่มชำระครั้งแรกภายในเดือนเมษายน 2545 จนกว่าจะชำระแก่โจทก์จนเสร็จสิ้น หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ขอให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากขายได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยและทรัพย์สินกองมรดกของนายสมเดชนำออกมาขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของนายสมเดช รักเสมอใจ ชำระเงินจำนวน 576,609 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 16 เมษายน 2545 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ทั้งนี้ไม่เกินทรัพย์มรดกที่ตกได้แก่จำเลย หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้หากได้เงินพอ (ที่ถูก หากได้เงินไม่พอ) ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของกองมรดกของนายสมเดชมาขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า นายสมเดช รักเสมอใจ ทำหนังสือสัญญากู้เงินจากโจทก์จำนวน 710,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตกลงผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นรายเดือน เดือนละ 9,000 บาท และยินยอมให้โจทก์ปรับเปลี่ยนดอกเบี้ยได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า และนายสมเดชจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันการชำระหนี้ นับแต่วันทำสัญญานายสมเดชมิได้นำต้นเงินและดอกเบี้ยมาชำระให้แก่โจทก์ตามสัญญาโดยครั้งสุดท้ายนายสมเดชนำเงินมาชำระให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2541 เป็นเงิน 9,000 บาท โจทก์ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 13.50 ต่อปี เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2545 มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ข้อสัญญากู้เงินเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ตกเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ. 5 ข้อ 1 ระบุความว่า ผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้เป็นรายเดือนสำหรับเงินกู้ตามสัญญานี้ให้อัตราร้อยละ 19 ต่อปี หรือตามอัตราดอกเบี้ยใหม่ ซึ่งผู้ให้กู้อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ข้างต้นนี้ และผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยใหม่ตามประกาศธนาคารฯ สัญญาข้อนี้เป็นข้อตกลงให้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ในระหว่างสัญญาโดยอนุวัตตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดสถาบันการเงินและอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2535 ที่กำหนดให้ธนาคารโจทก์เรียกดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมได้ในอัตราสูงสุดไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปี โดยไม่มีข้อกำหนดให้ต้องประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยแต่ประการใด อัตราดอกเบี้ยตามที่โจทก์และจำเลยตกลงกันตามหนังสือสัญญากู้เงินข้อ 1 ไม่เกินกว่าอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิคิดจากจำเลยได้ตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว การทำสัญญากู้ยืมเงินของโจทก์และจำเลยเป็นไปตามเจตนาของคู่สัญญาและอยู่ในกรอบที่ประกาศกระทรวงการคลังกำหนด จึงไม่ตกเป็นโมฆะ และแม้ขณะทำหนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวจะมีประกาศของโจทก์เรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญากู้เงิน ซึ่งโจทก์จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยเกินกว่าประกาศของโจทก์ไม่ได้ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยก็ตาม ก็ได้ความว่าในทางปฏิบัติจริงโจทก์คิดดอกเบี้ยและปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยอยู่ภายในกรอบแห่งประกาศธนาคารโจทก์และประกาศกระทรวงการคลัง การคิดดอกเบี้ยของโจทก์จึงไม่ขัดกฎหมายและมีผลบังคับกันได้ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยตามประกาศของโจทก์เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายตกเป็นโมฆะนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 1,201,388.21 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13.50 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 688,826.92 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น