คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1571/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นเทศบาล จำเลยที่ 2 รับจ้างจำเลยที่1 ทำท่อระบายน้ำและทางเท้าสาธารณะซึ่งอยู่ในความดูแลและบำรุงรักษาของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ละเว้นไม่ทำการป้องกันอันตรายแก่ผู้ใช้ถนนหรือทางเท้าตามหน้าที่ให้เรียบร้อย โดย.ไม่ปิดฝาบ่อและ.ไม่มีแสงสว่างให้เห็นทั้ง.ไม่มีเครื่องหมายหรือเครื่องปิดกั้นแสดงไว้ให้ทราบฉะนั้น การที่โจทก์พลัดตกลงไปในบ่อพักท่อระบายน้ำของจำเลยที่ 1 จึง.ไม่ใช่ความประมาทเลินเล่อของโจทก์ จำเลยที่ 1 จะอ้างว่ายังอยู่ในระหว่างการจ้างซึ่งจำเลยที่2 ยัง.ไม่มอบงานไม่ได้ เพราะจำเลยที่ 1 ย่อมมีหน้าที่เพื่อการนี้โดยตรง เมื่อจำเลยที่ 1 ละเว้น.ไม่จัดการป้องกันอันตรายอันจะเกิดขึ้นแก่ผู้ใช้ถนนหรือทางเท้าตามหน้าที่ จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ประมาทเลินเล่อต้องรับผิดต่อโจทก์ และจะอ้างข้อตกลงที่จำเลยที่ 1 ได้ตกลงไว้กับจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชอบต่ออุปัทวเหตุหรือภยันตรายความเสียหายที่เกิดขึ้นเอง เพื่อปัดให้ตนพ้นผิดไม่ได้ เพราะโจทก์เป็นคนนอกสัญญา.
จำเลยที่ 1 เป็นเทศบาลนคร การสร้างทางเท้าและท่อระบายน้ำเป็นหน้าที่ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 มาตรา 56ประกอบด้วยมาตรา 50 และ 53 เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นแก่โจทก์เพราะจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิด จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้างทำของ เมื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428 จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิด หาได้ไม่.
ในมูลละเมิด แม้โจทก์นำสืบถึงค่าที่ขาดรายได้จากการประกอบการงานถึงจำนวนที่แน่นอนไม่ได้. ศาลก็กำหนดจำนวนค่าเสียหายให้ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเทศบาลนคร จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างผู้รับจ้างทำการงานก่อสร้างตามที่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ได้จ้างจำเลยที่ 2 ทำท่อระบายน้ำและทางเท้าสาธารณะซึ่งอยู่ในความดูแลและบำรุงรักษาของจำเลยที่ 1 จำเลยทั้ง 2ได้กระทำการโดยประมาทเลินเล่อ มิได้ปิดกั้นฝาบ่อน้ำท่อระบายน้ำ1 บ่อ และไม่จุดโคมมีแสงไฟหรือทำเครื่องหมายบอกให้ระวังอันตรายหรือล้อมรั้วปิดกั้น ป้องกันไว้ให้สาธารณชนผู้สัญจรไปมาบนทางเท้าในเวลากลางคืนทราบ หรือเป็นที่สังเกตได้ว่าตรงนั้นเป็นบ่อน้ำของท่อระบายน้ำ ซึ่งถ้าคนเดินตกลงไปจักได้รับอันตรายให้ระมัดระวังเพื่อป้องกันอุปัทวเหตุหรือภยันตรายแก่สาธารณชนผู้สัญจรไปมาโจทก์เดินมาบนทางเท้าโดยมิได้ทราบหรือสังเกตเห็นว่ามีบ่อน้ำของท่อระบายน้ำเปิดทิ้งไว้ จึงพลัดลงไปได้รับอันตรายแก่กายถึงสาหัส กระดูกแข้งขาขวาครึ่งล่างหักโจทก์ได้รับความเสียหายเพราะการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสองรวมทั้งสิ้น 114,525 บาท จึงขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ จำเลยที่ 1 ให้การว่า ได้ทำสัญญาจ้างเหมาจำเลยที่ 2 เป็นผู้ก่อสร้างทางเท้า มีข้อสัญญาว่าผู้รับจ้างจะต้องรับผิดชอบต่ออุปัทวเหตุหรือภยันตรายความเสียหายใด ๆ ที่เกิดขึ้นต่อการงานของผู้รับจ้างเอง การที่โจทก์เดินพลัดตกลงไปในท่อเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของโจทก์เอง จำเลยที่ 2 ให้การว่า การที่โจทก์ตกบ่อเป็นความผิดของโจทก์เอง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 17,025 บาท โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน22,025 บาท โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์พลัดตกลงไปในบ่อพักท่อระบายน้ำของจำเลยที่ 1 ก็เพราะปากบ่อไม่มีฝาปิด และไม่มีแสงสว่างให้เห็นทั้งไม่มีเครื่องหมายหรือเครื่องปิดกั้นแสดงไว้ให้ทราบ จึงไม่ใช่เป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์ แต่เป็นเพราะจำเลยที่ 1 ละเว้นไม่กระทำการป้องกันอันตรายแก่ผู้ใช้ถนนหรือทางเท้านั้นตามหน้าที่ให้เรียบร้อย จำเลยที่ 1 จะอ้างว่ายังอยู่ในระหว่างการจ้างซึ่งจำเลยที่ 2 ยังไม่มอบงานไม่ได้ เพราะจำเลยที่ 1 เป็นเทศบาลย่อมมีหน้าที่เพื่อการนี้โดยตรงอยู่แล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ละเว้นไม่จัดการป้องกันอันตรายอันจะเกิดขึ้นแก่ผู้ใช้ถนนหรือทางเท้าตามหน้าที่จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ประมาทเลินเล่อต้องรับผิดต่อโจทก์และจะอ้างข้อตกลงที่จำเลยที่ 1 ได้ตกลงไว้กับจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชอบต่ออุปัทวเหตุหรือภยันตรายความเสียหายที่เกิดขึ้นเองเพื่อปัดให้ตนพ้นผิดไม่ได้เพราะโจทก์เป็นคนนอกสัญญาส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้างทำของจึงไม่ต้องรับผิดเมื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 428 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นเทศบาลนคร การสร้างทางเท้าและท่อระบายน้ำเป็นหน้าที่ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496มาตรา 56 ประกอบด้วยมาตรา 50 และ 53 เมื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเพราะจำเลยที่ 1 ได้ประมาทเลินเล่อแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิด ส่วนค่าสินไหมทดแทนนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ต้องขาดรายได้จากการประกอบการงานเป็นเวลา 1 ปี แต่โจทก์นำสืบถึงจำนวนรายได้ที่แน่นอนไม่ได้ เห็นควรให้โจทก์ได้รับค่าเสียหายเพราะขาดรายได้เป็นเงิน 12,000 บาท รวมเป็นค่าสินไหมทดแทน 34,025 บาท พิพากษาแก้ เป็นให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวนดังกล่าว.

Share