คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1172/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินเดือนมีลักษณะเป็นเงินค่าจ้าง ทำงานนั่นเอง แต่มีลักษณะจ่ายเป็นรายเดือนจึงเรียกว่าเงินเดือน
กำหนดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 (8) กับมาตรา 166 มีความสำคัญอยู่ที่ว่า เงินค่าจ้างนั้น มีกำหนดจ่ายเป็นกำหนดระยะเวลาหรือไม่ หากจ่ายเป็นกำหนดระยะเวลา ก็เข้ามาตรา 166 หากไม่มีกำหนดระยะเวลาก็เข้ามาตรา 165 (8)

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ จำเลยจ้างโจทก์ให้เป็นผู้สอบบัญชี ตกลงให้ค่าจ้างโจทก์เดือนละ ๒๐๐ บาท โดยชำระเมื่อมีการสอบบัญชีเสร็จเป็นรายปี โจทก์ได้ทำการสอบบัญชีบริษัทของจำเลย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๕ จึงถึง พ.ศ. ๒๔๙๘ รวม ๓ ปี โจทก์ควรได้ค่าจ้างรวม ๗,๒๐๐ บาท โจทก์ฟ้องเรียกเงินจำนวนนี้จากจำเลยพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การต่อสู้ว่า ไม่ได้ค่าจ้าง โจทก์เป็นผู้สอบบัญชี และตัดฟ้องว่า คดีขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นงดสืบพยาน โจทก์จำเลย แล้วเห็นว่า คดีขาดอายุความตามมาตรา ๑๖๕ (๘) พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดียังไม่ขาดอายุความตามมาตรา ๑๖๕ (๘) จึงพิพากษายกฟ้องตามศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เงินเดือนมีลักษณะเป็นเงินค่าจ้าง ทำงานนั่นเอง แต่มีลักษณะจ่ายเป็นรายเดือนจึงเรียกว่าเงินเดือน
กำหนดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕ (๘) กับมาตรา ๑๖๖ มีความสำคัญอยู่ที่ว่า เงินค่าจ้างนั้น มีกำหนดจ่ายเป็นกำหนดระยะเวลาหรือไม่ หากจ่ายเป็นกำหนดระยะเวลา ก็เข้ามาตรา ๑๖๖ หากไม่มีกำหนดระยะเวลาก็เข้ามาตรา ๑๖๕ (๘) ตามฟ้องโจทก์อ้างว่า เงินรายนี้จ่ายกันเมื่อมีการสอบบัญชีเสร็จเป็นรายปี แต่ปีใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งปีสุดท้ายตะตรวจเสร็จถึงกำหนดชำระเงินค่าตรวจกันเมื่อใดยังไม่ปรากฏ จะด่วนชี้ขาดว่าฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ในบัดนี้ ไม่สมควร รูปคดีตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยสมควรดำเนินกระบวนพิจารณา
พิพากษายืน

Share