คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 904/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุซึ่งมีลูกจ้างเป็นผู้ขับขี่และกล่าวหาว่ารถยนต์คันดังกล่าวบรรทุกข้าวมีน้ำหนักรวมรถยนต์ประมาณ 27 ตันครึ่งแล่นผ่านสะพานไม้ชั่วคราวซึ่งโจทก์มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและได้ติดตั้ง ป้ายห้ามรถที่มีน้ำหนักบรรทุกเกินกว่า 10 ตันแล่นผ่านไว้แล้วทั้งนี้ โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะเกิดความเสียหาย แก่ผู้อื่น เป็นเหตุให้สะพานไม้ชั่วคราวยุบพังชำรุดใช้การไม่ได้เป็นคำฟ้อง ที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วที่โจทก์บรรยายฟ้องต่อไปว่าการกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420,421,437 นั้นเป็นการบรรยายฟ้องให้ชัดยิ่งขึ้นอีกว่าจำเลยในฐานะเจ้าของ และ ผู้ครอบครองรถยนต์คันเกิดเหตุจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามมาตรา 437และการฟ้องให้จำเลยรับผิดตามมาตรา 437เช่นนี้ ไม่จำเป็นต้องระบุชื่อผู้ขับรถยนต์ว่าเป็นใครก็ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 ตามคำให้การของจำเลยและจำเลยร่วมไม่ได้ปฏิเสธหรือต่อสู้ว่าจำเลยไม่ใช่เจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์คันเกิดเหตุคดีจึงไม่มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าขณะเกิดเหตุละเมิดจำเลยได้อยู่หรือนั่งมาในรถยนต์คันเกิดเหตุหรือไม่ จำเลยร่วมไม่ได้ยกข้อต่อสู้ว่าไม่ต้องรับผิดเพราะจำเลยไม่ปฏิบัติตามกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 2.10 ให้เป็นประเด็นไว้อย่างชัดแจ้งจึงไม่มีประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยในข้อนี้ การใช้รถยนต์ในทางที่ผิดกฎหมายที่จำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยนั้นมีความหมายว่าเป็นการใช้รถเพื่อประโยชน์ในการกระทำความผิดต่อกฎหมายโดยตรงเช่นใช้รถเป็นพาหนะไปปล้นหรือจงใจบรรทุกของหนีภาษีเป็นต้นแต่การใช้โดยผู้ขับขี่ไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกยังเรียกไม่ได้ว่าใช้รถยนต์ใน ทางที่ ผิดกฎหมายจำเลยร่วมจึงไม่พ้นความรับผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลรักษาสะพานไม้ชั่วคราวซึ่งได้ติดตั้งป้ายแสดงไว้ว่าห้ามรถที่มีน้ำหนักบรรทุกเกินกว่า 10 ตันแล่นผ่าน จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกมีลูกจ้างเป็นผู้ควบคุมขับขี่ได้บรรทุกข้าวมีน้ำหนักรวมทั้งรถยนต์ประมาณ 27 ตันครึ่งแล่นผ่านโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เป็นเหตุให้สะพานไม้นั้นยุบพังต้องเสียค่าซ่อม การกระทำของจำเลยเป็นละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420,21, 437 ข้อบังคับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายและดอกเบี้ยแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า รถจำเลยขณะเกิดเหตุหนักไม่เกิน 10 ตัน คนขับรถมิใช่ลูกจ้างของจำเลยและมิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อ โจทก์มิได้ระบุชื่อคนขับรถคันเกิดเหตุฟ้องโจทก์เคลือบคลุมด้วยข้อหาขัดกัน ไม่ทราบว่าโจทก์กล่าวหาคนขับรถคันเกิดเหตุกระทำโดยจงใจหรือประมาท จึงไม่แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นสั่งให้บริษัท ร.ส.พ.ประกันภัย จำกัด ผู้รับประกันภัยรถคันเกิดเหตุเข้าเป็นจำเลยร่วมตามคำขอของจำเลย

จำเลยร่วมยื่นคำคัดค้านทำนองคำให้การว่า จำเลยไม่ได้ปฏิบัติตามกรมธรรม์และกฎหมาย คือเมื่อเกิดวินาศภัยจำเลยมิได้แจ้งเหตุ คนขับรถยนต์ของจำเลยไม่มีใบอนุญาตให้ขับขี่รถยนต์ จำเลยใช้รถในทางที่ผิดกฎหมาย จำเลยร่วมไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์

จำเลยร่วมอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยร่วมฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามฎีกาข้อแรกคือ คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 1 แจ้งให้ทราบว่าโจทก์มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลรักษาสะพานไม้ชั่วคราวที่เกิดกรณีพิพาทคดีนี้ และสะพานนี้ได้ติดตั้งป้ายห้ามรถที่มีน้ำหนักบรรทุกเกิน 10 ตันแล่นผ่าน ในฟ้องข้อ 2 โจทก์อ้างว่าจำเลยเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุ มีลูกจ้างเป็นผู้ขับขี่และกล่าวหาว่า รถยนต์คันดังกล่าวบรรทุกมีน้ำหนักรวมทั้งรถยนต์ประมาณ 27 ตันครึ่ง แล่นผ่านสะพานโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เป็นการแสดงเหตุที่เป็นผลให้สะพานยุบพังชำรุดใช้การไม่ได้ เห็นว่าคำฟ้องดังกล่าวได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาแล้ว ที่โจทก์บรรยายฟ้องต่อไปในข้อ 3 ว่า การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420, 421, 437 ทำให้โจทก์เสียหายนั้น เห็นว่าเป็นการบรรยายฟ้องให้เห็นชัดยิ่งขึ้นอีกว่า ลูกจ้างของจำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ตามมาตรา 420, 421 จำเลยในฐานะเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์คันเกิดเหตุจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามมาตรา 437 และการฟ้องให้จำเลยรับผิดตามมาตรา 437เช่นนี้ ไม่จำต้องระบุชื่อว่าผู้ขับขี่รถยนต์เป็นใคร จึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 และตามคำให้การของจำเลยและจำเลยร่วมไม่ได้ปฏิเสธหรือต่อสู้ว่าจำเลยไม่ใช่เจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์คันเกิดเหตุ คดีจึงไม่มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าขณะเกิดเหตุละเมิดจำเลยได้อยู่หรือนำมาในรถยนต์คันเกิดเหตุหรือไม่

จำเลยร่วมฎีกาว่า จำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดเพราะจำเลยไม่ปฏิบัติตามกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 2.10 นั้น ปรากฏว่าจำเลยร่วมอ้างเหตุที่ไม่ต้องรับผิดสามประการเท่านั้น คือประการที่หนึ่งอ้างว่าเมื่อเกิดวินาศภัยแล้วจำเลยไม่แจ้งเหตุ ประการที่สองคนขับรถยนต์ของจำเลยไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ และประการที่สามจำเลยใช้รถในทางที่ผิด เมื่อจำเลยร่วมไม่ได้ยกข้อกำหนดตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 2.10 เป็นประเด็นข้อต่อสู้ไว้อย่างชัดแจ้ง จึงไม่มีประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยในข้อนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยชอบแล้ว

ที่จำเลยร่วมฎีกาต่อไปว่า จำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดเพราะจำเลย “ใช้รถยนต์ในทางที่ผิดกฎหมาย” ตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยนั้น เห็นว่า ข้อกำหนดดังกล่าวมีความหมายว่า “เป็นการใช้รถเพื่อประโยชน์ในการกระทำความผิดต่อกฎหมายโดยตรง” เช่น ใช้รถเป็นพาหนะไปปล้นหรือจงใจบรรทุกของหนีภาษี เป็นต้น แต่การใช้รถยนต์โดยผู้ขับขี่จงใจหรือประมาทไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก เช่นนี้ยังเรียกไม่ได้ว่าใช้รถยนต์ในทางที่ผิดกฎหมายตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยจำเลยร่วมไม่พ้นความผิด

พิพากษายืน

Share