แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ขณะโจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อกับจำเลยที่ 1 แม้โจทก์จะยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อก็ไม่เป็นโมฆะ
เมื่อทรัพย์ที่เช่าซื้อสูญหายไป อันทำให้สัญญาเช่าซื้อระงับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 567 เงินค่าเช่าซื้อล่วงหน้าทั้งหมดที่จำเลยที่ 1 จ่ายให้แก่โจทก์เป็นเงินดาวน์ส่วนหนึ่ง และทำเป็นสัญญากู้ให้ไว้แก่โจทก์อีกส่วนหนึ่ง จึงเป็นเงินที่โจทก์ได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้หรือโดยเหตุซึ่งมิได้มีได้เป็นขึ้น และเป็นทางให้จำเลยที่ 1 เสียเปรียบ โจทก์จึงต้องคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406
เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้กู้ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันซึ่งต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาถึงจำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) และ 247
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 240,000 บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์คืนเงินดาวน์ 300,000 บาท เงินค่างวด 4 งวด 150,700 บาท เงินค่าดอกเบี้ย 16,000 บาท เงินค่าปรับดอกเบี้ย 2,933 บาท แก่จำเลยที่ 1 และใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 เป็นรายเดือน เดือนละ 9,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ
โจทก์ขาดนัดยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์คืนเงินจำนวน 300,000 บาท ที่โจทก์รับไว้ แก่จำเลยที่ 1 ตามฟ้องแย้ง ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 นอกจากนี้ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยก่อนฟ้อง (วันที่ 26 พฤศจิกายน 2534) ไม่เกิน 31,150 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 15,000 บาท ให้ยกฟ้องแย้ง และให้ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บุคคลัภย์ จำกัด ต่อมาวันที่ 9 กรกฎาคม 2533 โจทก์ตกลงให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 จะต้องชำระเงินดาวน์ 500,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 ชำระเพียงบางส่วน จำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญากู้เงินให้แก่โจทก์ไว้ จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการกู้เงิน โจทก์มอบรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงแก่จำเลยที่ 1 ในวันนั้น ต่อมารถยนต์บรรทุกและรถพ่วงดังกล่าวสูญหายไป
คดีมีปัญหาตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นโมฆะนั้น เห็นว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อทรัพย์จากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บุคคลัภย์ จำกัด โจทก์จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ก่อนที่โจทก์จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ให้แก่จำเลยที่ 1 ตามสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ดังนี้ แม้ในขณะโจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อกับจำเลยที่ 1 โจทก์จะยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อก็ไม่เป็นโมฆะ
เมื่อทรัพย์ที่เช่าซื้อสูญหายไป สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 567 เงินค่าเช่าซื้อล่วงหน้าทั้งหมดจำนวน 500,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 จ่ายให้แก่โจทก์เป็นเงินดาวน์ 300,000 บาท ส่วนหนึ่ง และทำเป็นสัญญากู้ให้ไว้แก่โจทก์ 200,000 บาท อีกส่วนหนึ่ง จึงเป็นเงินที่โจทก์ได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้หรือโดยเหตุซึ่งมิได้มีได้เป็นขึ้น และเป็นทางให้จำเลยที่ 1 เสียเปรียบ โจทก์จึงต้องคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้กู้ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันซึ่งต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาถึงจำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) และ 247
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลยที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นพับ.