คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 894/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เคยฟ้องจำเลยมาครั้งหนึ่งขอให้ห้ามจำเลยอย่าให้เข้ามาเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาท ศาลพิพากษาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องห้ามจำเลยมิให้เกี่ยวข้อง คดีถึงที่สุด โจทก์จึงมาฟ้องขอแบ่งที่ดินพิพาทแปลงนั้น ดังนี้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ เพราะคดีเป็นคนละประเด็น
ตามคำพิพากษาของศาลในคดีก่อนอันถึงที่สุดแล้วว่า โจทก์มีสิทธิในที่พิพาทร่วมกับจำเลย โดยโจทก์สืบสิทธิมาจากผู้รับมฤดกอีก 3 คน สิทธิของโจทก์ในที่พิพาทจะเป็นเพียงสิทธิครอบครอง หรือกรรมสิทธิ จึงไม่เป็นประเด็นจะต้องวินิจฉัย ศาลย่อมพิพากษาให้แบ่งได้ตามสิทธิในทรัพย์สินนั้น.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับแบ่งแยกที่ดินแปลงหนึ่งให้แก่โจทก์ ๓ ส่วน จำเลย ๑ ส่วน โดยอ้างคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อันถึงที่สุดแล้ว ซึ่งแสดงว่าสามในสี่ส่วนแห่งที่ดินพิพาทนั้น เป็นสิทธิแก่โจทก์ จำเลยต่อสู้ว่า ที่พิพาทเป็นมฤดกนายแดง ๆ มีบุตร ๔ คน คือ นายเขียวสามีจำเลย นายแจด นางหอย นางหม้ง จำเลยเป็นผู้ครอบครองที่พิพาท นางแจกและพวกเอาที่พิพาทไปลอบขายแก่โจทก์ โจทก์จะมาขอแบ่งแทนนางแจดกับพวกไม่ได้ และว่าโจทก์เคยฟ้องจะเอาที่ทั้งหมดเป็นของตน บัดนี้จะมาฟ้องขอแบ่งเป็นการฟ้องซ้ำ และทั้งหมดอายุความมฤดกแล้ว ได้ความว่า โจทก์เคยฟ้องจำเลยมาครั้งหนึ่ง แล้วขอให้ห้ามจำเลยอย่าให้เข้ามาเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า ที่พิพาทเป็นที่ดินมฤดกของนายแดงจำเลยเป็นผู้รับมฤดกคนหนึ่งกับโจทก์จะได้รับโอนสิทธิในที่พิพาทมาจากผู้รับมฤดกคนอื่น ๆ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิฟ้องห้ามจำเลยมิให้เกี่ยวข้องคดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์จึงมาฟ้องคดีนี้ ขอให้บังคับแบ่ง ศาลชั้นต้นงดสืบพะยานโจทก์จำเลย แล้วพิพากษาว่าคดีก่อนและคดีนี้เป็นคนละประเด็น ไม่เป็นการฟ้องซ้ำ และเห็นว่าได้มีคำพิพากษาของศาลชี้ขาดแล้วว่า โจทก์มีสิทธิในที่พิพาทอยู่ ๓ ส่วน พิพากษาให้แบ่งที่พิพาทออกเป็น ๔ ส่วน จำเลยรับ ๑ ส่วน ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ในเรื่องฟ้องซ้ำนั้น ก็เป็นอันยุตติว่า คดีเป็นคนละประเด็น โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ ส่วนข้อที่ว่าใครครอบครองนั้น ก็ปรากฎตามคำพิพากษาในคดีก่อนอันถึงที่สุดแล้วว่า โจทก์มีสิทธิในที่พิพาทร่วมกับจำเลย โดยโจทก์สืบสิทธิมาจากผู้รับมฤดกอีก ๓ คน สิทธิของโจทก์ในที่พิพาทจะเป็นเพียงสิทธิครอบครอง หรือกรรมสิทธิ จึงไม่เป็นประเด็นจะต้องวินิจฉัย ศาลย่อมพิพากษาให้แบ่งได้ตามสิทธิในทรัพย์สินนั้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามศาลชั้นต้น

Share