คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13/2490

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญากู้มีข้อความว่า ให้ดอกเบี้ยตามกฎหมายนั้น โจทก์ขอสืบว่า ได้ให้นาทำต่างดอกเบี้ยได้ ไม่เป็นการสืบแก้ไขข้อความในเอกสารแต่เป็นการสืบถึงการปฏิบัติต่อกันซึ่งมิได้กำหนดไว้ในสัญญา
โจทก์ฟ้องขอไถ่ที่นาที่มอบให้จำเลยทำต่างดอกเบี้ยเงินได้อ้างปีที่กู้ผิดไป เมื่อจำเลยส่งหนังสือต่อศาล โจทก์รู้ว่าผิด จึงยื่นคำร้องขอแก้ และคดีไม่ปรากฏว่ามีการกู้รายอื่นนอกจากที่ฟ้อง ดังนี้ ควรให้แก้ได้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180

ย่อยาว

คดีปรากฏว่า เมื่อชี้สองสถานแล้ว แต่ก่อนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องว่า ตามที่โจทก์ฟ้องว่า กู้เงินจำเลยเมื่อพ.ศ. 2485 นั้นคลาดเคลื่อนทั้งนี้เนื่องจากจำเลยเป็นผู้ยึดถือสัญญากู้ไว้ฝ่ายเดียวโจทก์ไม่มีโอกาสได้ดูก่อนฟ้อง ครั้นศาลชี้สองสถานและนัดสืบพยานโจทก์ไปแล้ว จำเลยได้ระบุอ้างสัญญากู้และส่งสำเนาให้โจทก์ โจทก์จึงเพิ่งทราบว่า สัญญากู้รายนี้ได้ทำกันในปี 2484 จึงขอฟ้องว่า โจทก์กู้เงินจำเลยเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2484 จำเลยคัดค้านว่าศาลไม่ควรอนุญาต

ได้ความดังนี้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยวินิจฉัยว่า โจทก์ขอแก้ฟ้องได้ เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่อาจขอแก้ได้ก่อนวันชี้สองสถานหรือวันสืบพยาน ตามความหมายในมาตรา 180 วิธีพิจารณาความแพ่ง และการที่โจทก์ขอนำสืบว่าให้นาทำต่างดอกเบี้ยซึ่งในสัญญามีข้อความว่า ให้ดอกเบี้ยตามกฎหมายนั้นก็ไม่ เป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร จึงให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาและพิพากษาใหม่

จำเลยฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า ตามที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ดังนี้ไม่ต้องด้วยข้อห้ามตามมาตรา 180 แห่งวิธีพิจารณาความแพ่งโจทก์มุ่งหมายกล่าวถึงการกู้เงินของจำเลยรายจำนวน 120 บาท ซึ่งน่าจะมีแต่เฉพาะรายเดียว เพราะไม่ปรากฏว่ามีรายอื่นอีกการที่บ่งถึงปีที่กู้ก็เพื่อจะให้ชัดเจนขึ้นเท่านั้น มิใช่มีประเด็นโต้เถียงว่าเป็นรายอื่น ฉะนั้นการที่โจทก์ขอแก้ฟ้องให้ตรงกับความจริงในประเด็นเดิมนั้นเอง จึงไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบในเชิงคดีแต่ประการใด ส่วนประเด็นที่ว่าโจทก์จะนำสืบว่าให้นาทำต่างดอกเบี้ยได้หรือไม่นั้นเห็นว่า โจทก์นำสืบได้โดยนำสืบถึงการปฏิบัติต่อกันนอกอักขระสัญญา ไม่ใช่เป็นการนำสืบแก้ไขเอกสารพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

Share