คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 477/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยมีข้อความชัดอยู่แล้วว่า จำเลยจะไปทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ที่พิพาทให้แก่โจทก์ ต่อเมื่อนางหนุ่ยตายแล้วเท่านั้น ตัวอักษรในสัญญาก็แสดงชัดอยู่ว่า คู่สัญญามีเจตนาให้เป็นแต่เพียงสัญญาจะซื้อขายในเวลาภายหน้า การที่จำเลยให้โจทก์เข้าครอบครองที่ดินนั้น เป็นการอนุญาตให้โจทก์เข้าใช้และรับประโยชน์ไปพลางก่อนเท่านั้น หาใช่เป็นการสละสิทธิในที่ดินนั้นอย่างใดไม่ การเข้าครอบครองของโจทก์จึงเป็นการเข้าครอบครองโดยอาศัยอำนาจของจำเลยตามข้อตกลงในสัญญา ซึ่งผูกพันระหว่างโจทก์จำเลยเท่านั้น โจทก์จึงยังไม่มีกรรมสิทธิหรือสิทธิใดในที่ดินนั้น อันจะโอนขายให้บุคคลที่สามต่อไปได้.

ย่อยาว

ความว่า จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินรายพิพาท จำเลยได้ทำหนังสือสัญญากับโจทก์ฉะบับหนึ่งโดยทำกันเอง ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สัญญานั้นจ่าหน้าว่า “สัญญาจะขายที่ดิน” มีข้อความว่า จำเลยขอทำสัญญาจะขายที่ดินให้ไว้ต่อโจทก์ คือที่บ้านและสวนที่พิพาทแปลงหนึ่ง และที่นาอีกแปลงหนึ่ง ความในข้อ ๓ ของสัญญามีว่า “ผู้จะขายยอมสละสิทธิและมอบที่ดินในข้อ ๑ ให้ผู้จะซื้อครอบครองตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และผู้จะซื้อยอมอุปการะนางหนุ่ยมารดาเลี้ยงของผู้จะขายฉันท์ญาติแทนผู้จะขายต่อไป จนกว่าจะถึงแก่กรรม” และความในข้อ ๔ มีต่อไปว่า “ที่ดินในข้อ ๑ ผู้จะขายตกลงจะทำนิติกรรมซื้อขายต่ออำเภอ ให้ผู้จะซื้อในเมื่อนางหนุ่ยมารดาเลี้ยงของผู้จะขายถึงแก่กรรมไปแล้ว ภายในเวลาอันสมควร โดยมีคำสั่งของบิดาผู้จะขายว่า ให้นางหนุ่ยมารดาเลี้ยงของผู้จะขายอาศัยอยู่ในที่ดินในข้อ ๑ ชั่วอายุ เป็นเงื่อนไขไว้ตามหนังสือสัญญาลง วันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๔๗๗ ระหว่างผู้จะขายกับนางหนุ่ยมารดาเลี้ยงของผู้จะขาย ซึ่ไงด้มอบให้ผู้จะซื้อถือไว้เป็นหลักฐานด้วยแล้ว” เมื่อทำสัญญากันแล้ว โจทก์ได้ครอบครองที่พิพาทต่อมา ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ โจทก์ได้ไปยื่นคำร้องต่ออำเภอขอขายที่พิพาทให้แก่นางโชย และนางจำปี จำเลยไปร้องคัดค้าน โจทก์จึงมาฟ้องขอให้ศาลสั่งให้จำเลยไปถอนคำคัดค้านและห้ามไม่ให้ จำเลยขัดขวางโจทก์ในการขายที่ดินโดยอ้างว่าเป็นที่ของโจทก์ จำเลยให้การว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย มีภาระผูกพันอยู่กับนางหนุ่ย โดยจะต้องให้นางหนุ่ยอยู่ และเก็บดอกผลไปจนสิ้นชีพ จำเลยมีสิทธิคัดค้านได้ โจทก์จำเลยรับกันต่อไปว่า ในการที่โจทก์จะขายที่พิพาทให้แก่บุคคลที่สามตามที่ยื่นคำขอต่ออำเภอนั้น นางหนุ่ยกับโจทก์ได้ทำความตกลงกันแล้ว โดยนางหนุ่ยยังไม่คัดค้านการขายของโจทก์
ศาลชั้นต้นเห็นว่า สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาซื้อขายเด็ดขาด เมื่อนางหนุ่ยสละสิทธิอาศัยแล้ว โจทก์จะทำการจำหน่ายจ่ายโอนอย่างใด ๆ ก็ย่อมทำได้โดยชอบ พิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ศาลอุทธรณ์เห็นว่า สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาจะซื้อขายที่ดิน กรรมสิทธิยังอยู่ที่จำเลย ๆ มีสิทธิคัดค้านได้ พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา,
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยมีข้อความขัดอยู่แล้วว่า จำเลยจะไปทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิให้แก่โจทก์ ต่อเมื่อนางหนุ่ยตายแล้วเท่านั้น ตามตัวอักษรในสัญญาแสดงอยู่ชัดว่าคู่สัญญามีเจดนาให้เป็นแต่เพียงสัญญาจะซื้อขายในเวลาภายหน้า การที่จำเลยให้โจทก์เข้าครอบครองที่ดินนั้นมา จึงเป็นการอนุญาตให้โจทก์เข้าใช้และรับประโยชน์ไปพลางก่อนเท่านั้น หาใช่เป็นการสละสิทธิในที่ดินนั้นอย่างใดไม่ การครอบครองของโจทก์จึงเป็นที่เข้าครอบครองโดยอาศัยอำนาจของจำเลย ตามข้อตกลงในสัญญา ซึ่งผูกพันระหว่างโจทก์จำเลยเท่านั้น โจทก์จึงยังไม่มีกรรมสิทธิหรือสิทธิอย่างใดในที่ดินนั้น อันจะโอนขายให้บุคคลที่สามต่อไปได้ ความตกลงของนางหนุ่ยกับโจทก์ไม่อาจทำให้โจทก์ได้ทรัพย์สิทธิอย่างใดในที่พิพาทนั้นขึ้นได้
พิพากษายืน

Share