คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16407/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยได้รับมอบหมายให้ดูแลเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาให้แก่นักเรียน โดยไม่มีหน้าที่โดยตรงที่ต้องเก็บรักษาสมุดบัญชีเงินฝากของนักเรียนไว้และไปถอนเงินจากธนาคารแทนนักเรียน การที่จำเลยบอกให้นักเรียนบางคนมอบสมุดบัญชีเงินฝากไว้ที่จำเลยและมอบอำนาจให้จำเลยไปถอนเงินจากธนาคารแทนแล้วให้นักเรียนไปขอเบิกจากจำเลยอีกทอดหนึ่ง จึงเป็นเรื่องที่จำเลยกระทำไปนอกเหนือหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย นอกจากนี้ เงินที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาโอนเข้าบัญชีเงินฝากของนักเรียน ยังถือว่าเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของนักเรียน มิใช่เป็นทรัพย์สินของหน่วยงานราชการซึ่งจำเลยมีหน้าที่ดูแลรักษาอีกด้วย เมื่อจำเลยไม่มีหน้าที่ต้องดูแลรับผิดชอบเงินในบัญชีเงินฝากอันเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของนักเรียน แม้จำเลยจะได้นำเงินดังกล่าวไปใช้หมุนเวียนเพื่อประโยชน์ส่วนตนก่อนที่จะถูกร้องเรียนและคืนให้นักเรียนในภายหลังหรือไม่ก็ตาม จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 157

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ลงโทษจำคุก 2 ปี ทางพิจารณาของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุก 1 ปี 4 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยรับราชการครูโรงเรียนท่าช้างวิทยาคารและได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้างานแนะแนวและได้รับมอบหมายให้ดูแลรับผิดชอบเรื่องการขอกู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาให้แก่นักเรียนด้วย ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยให้นักเรียนซึ่งทำสัญญากู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาหลายคนมอบสมุดบัญชีเงินฝากและลงชื่อในใบถอนเงินเปล่าให้ไว้แก่จำเลย แล้วจำเลยไปถอนเงินจากธนาคารแทนและให้นักเรียนไปขอเบิกเงินจากจำเลย แต่นักเรียนได้รับเงินไปไม่ครบจำนวนตามที่กู้ยืม ภายหลังนักเรียนและผู้ปกครองนักเรียนเข้าร้องเรียนเรื่องและนายสุทธิพงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนท่าช้างวิทยาคารมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง จำเลยจึงโอนเงินเข้าบัญชีให้แก่นักเรียนจนครบทุกคน
คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยทุจริตหรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของนางนงลักษณ์ นางพิมลรัตน์ และนางสุนารัตน์ ครูโรงเรียนท่าช้างวิทยาคาร เพื่อนร่วมงานของจำเลย โดยนางนงลักษณ์และนางพิมลรัตน์เป็นคณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งให้สอบข้อเท็จจริงตามคำสั่งโรงเรียนท่าช้างวิทยาคารว่า ตามระเบียบของการกู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา นักเรียนต้องทำสัญญากู้ยืมเงินกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา แล้วนักเรียนจะไปเปิดบัญชีเงินฝากที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสิงห์บุรี จากนั้นกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาจะฝากเงินเข้าบัญชีของนักเรียนเดือนละ 1,000 บาท ทุกเดือน โดยนักเรียนจะเป็นผู้เก็บสมุดบัญชีเงินฝากไว้และนำสมุดบัญชีเงินฝากไปถอนเงินจากธนาคารเอง กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาไม่ได้มอบหมายให้โรงเรียนเก็บรักษาสัญญากู้ยืมเงินและสมุดบัญชีเงินฝากของนักเรียนไว้ ซึ่งตรงกับหนังสือ เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับสมุดบัญชีเงินฝากและบัตรเอทีเอ็มของนักเรียน นักศึกษาที่กู้ยืมเงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาได้ตอบข้อหารือของกระทรวงศึกษาธิการว่าผู้กู้ยืมควรเป็นผู้เก็บรักษาสมุดบัญชีเงินฝากและบัตรเอทีเอ็มไว้เองเพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคล แม้ผู้กู้ยืมจะสมัครใจให้โรงเรียนเก็บไว้ให้โรงเรียนก็ไม่สมควรจะเก็บไว้ แต่ควรจะสอนให้ผู้กู้ยืมรู้จักความรับผิดชอบมากขึ้น จึงมีมติให้ผู้กู้ยืมเป็นผู้เก็บรักษาสมุดบัญชีเงินฝากและบัตรเอทีเอ็มด้วยตนเองเท่านั้น โดยมิให้สถาบันการศึกษาเป็นผู้จัดเก็บ แม้ผู้กู้ยืมจะยินยอมก็ตาม ดังนี้ตามหน้าที่ที่จำเลยได้รับมอบหมายให้ดูแลเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาให้แก่นักเรียน จำเลยจึงไม่มีหน้าที่โดยตรงที่ต้องเก็บรักษาสมุดบัญชีเงินฝากของนักเรียนไว้และไปถอนเงินจากธนาคารแทนนักเรียน การที่จำเลยบอกให้นักเรียนบางคนมอบสมุดบัญชีเงินฝากไว้ที่จำเลยและมอบอำนาจให้จำเลยไปถอนเงินจากธนาคารแทนแล้วให้นักเรียนไปขอเบิกจากจำเลยอีกทอดหนึ่ง จึงเป็นเรื่องที่จำเลยกระทำไปนอกเหนือหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย นอกจากนี้ เงินที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาโอนเข้าบัญชีเงินฝากของนักเรียน ยังถือว่าเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของนักเรียน มิใช่เป็นทรัพย์สินของหน่วยงานราชการซึ่งจำเลยมีหน้าที่ดูแลรักษาอีกด้วย เมื่อจำเลยไม่มีหน้าที่ต้องดูแลรับผิดชอบเงินในบัญชีเงินฝากอันเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของนักเรียน แม้จำเลยจะได้นำเงินดังกล่าวไปใช้หมุนเวียนเพื่อประโยชน์ส่วนตนก่อนที่จะถูกร้องเรียนและคืนให้นักเรียนในภายหลังหรือไม่ก็ตาม คงเข้าลักษณะของการกระทำที่อาจเป็นการยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ซึ่งโจทก์มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษ จำเลยไม่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share