แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การฟ้องคดีล้มละลายเป็นการฟ้องเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั่วไป เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (3) บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวที่มีอำนาจประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ คดีนี้ แม้โจทก์จะหลุดพ้นจากการล้มละลายโดยคำสั่งปลดจากล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 71 แต่ที่ดินและอาคารพิพาทเป็นทรัพย์สินที่โจทก์มีอยู่ในเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลายและเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ตามมาตรา 109 ทั้งอยู่ในระหว่างการขายทอดตลาดตามประกาศของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงยังคงมีอำนาจในการจัดการทรัพย์สินดังกล่าวต่อไปจนกว่าจะเสร็จสิ้น และนำเงินมาแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย การที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและอาคารพิพาทนั้นเป็นการดำเนินคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์ ซึ่งเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ก็ไม่มีฟ้องของโจทก์และตัวโจทก์ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะฟ้องแย้ง จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสามและบริวารออกจากที่ดินและอาคารของโจทก์ และให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 11,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ระหว่างส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องโจทก์ และฟ้องแย้งขอบังคับให้โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 114563 ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร พร้อมอาคารพิพาทเลขที่ 1176/2 ตามฟ้องโดยปลอดจำนองให้แก่จำเลยที่ 1 หากโจทก์เพิกเฉยขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 114563 ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร พร้อมอาคารพาณิชย์เลขที่ 1176/2 ที่ปลูกอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 114563 ตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยให้ติดจำนองไปกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ดังที่ปรากฏอยู่ในสารบัญจดทะเบียนที่ดิน โฉนดที่ดินเลขที่ 114563 คือที่ดินพิพาทตามฟ้องทั้งแปลงโดยในวันจดทะเบียนการโอน ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 300,000 บาท แก่โจทก์ และสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมในการโอนนั้น โจทก์และจำเลยที่ 1 พึงออกใช้เท่ากันทั้งสองฝ่าย ถ้าโจทก์ไม่ไปดำเนินการดังกล่าวให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ คำขออื่นตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ยกเสีย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งตามฟ้องของโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด และเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 114563 ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร ที่ดินดังกล่าวจำนองไว้แก่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ที่ดินพิพาทแบ่งแยกมาจากที่ดินแปลงใหญ่ จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อที่ดินพิพาทและอาคารเลขที่ 1176/2 ที่กำลังปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวจากโจทก์ในราคา 480,000 บาท ชำระในวันทำสัญญาเป็นเงิน 50,000 บาท ส่วนที่เหลือชำระเป็น 4 งวด โดยงวดที่ 4 ชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ อาเซียน จำกัด ฟ้องโจทก์เป็นคดีล้มละลาย ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของโจทก์เด็ดขาด จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและอาคารพิพาท เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยกคำร้องดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าสัญญาจะซื้อจะขายมีภาระเกินกว่าประโยชน์กองทรัพย์สินของลูกหนี้จะพึงได้รับตามคำสั่ง จำเลยที่ 1 จึงยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องเนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่สืบพยาน ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ล้มละลาย ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ปลดโจทก์จากล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2544 ให้ปลดโจทก์จากล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 71 จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกอยู่ในที่ดินและอาคารพิพาทตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2523
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง และจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีอำนาจฟ้องแย้งหรือไม่ เห็นว่า การฟ้องคดีล้มละลายมิใช่เป็นเรื่องที่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ฟ้องเพื่อให้จำเลยหรือลูกหนี้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้โดยเฉพาะเจาะจง แต่เป็นการฟ้องเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั่วไป เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (3) บัญญัติให้เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวที่มีอำนาจประนีประนอมยอมความหรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้ใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ แม้โจทก์ซึ่งถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลายจะหลุดพ้นจากการล้มละลายโดยคำสั่งปลดจากล้มละลาย แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังคงมีอำนาจจัดการทรัพย์สินของโจทก์ที่มีอยู่ในเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลายจนถึงเวลาปลดจากล้มละลาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 109 ซึ่งที่ดินและอาคารพิพาทเป็นทรัพย์สินที่โจทก์มีอยู่ในเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลายและเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ ทั้งอยู่ในระหว่างการขายทอดตลาด ตามประกาศของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงยังคงมีอำนาจในการจัดการทรัพย์สินต่อไปจนกว่าจะเสร็จสิ้น และนำเงินมาแบ่งปันแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย การที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและอาคารพิพาทนั้นเป็นการดำเนินคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์ ซึ่งเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่มีฟ้องโจทก์และตัวโจทก์ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะฟ้องแย้ง จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้งให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวได้ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 อีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ