แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้โจทก์จะถูก ส. ฉ้อโกงหลอกลวงซื้อปุ๋ยจากโจทก์อันมีผลทำให้นิติกรรมระหว่างโจทก์กับ ส. ที่เกิดขึ้นโดยโจทก์ถูกกลฉ้อฉลตกเป็นโมฆียะและโจทก์จะบอกล้างโมฆียะกรรมแล้วก็ต้องห้ามมิให้ยกเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 160 ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 ได้มาซึ่งปุ๋ยพิพาทโดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริตเช่นนี้ สิทธิของจำเลยที่ 1 ย่อมไม่เสียไปถึงแม้ว่า ส. ผู้โอนทรัพย์สินให้จำเลยที่ 1 จะได้ทรัพย์สินนั้นมาโดยนิติกรรมที่ทำกลฉ้อฉลต่อโจทก์อันตกเป็นโมฆียะ และนิติกรรมนั้นได้ถูกบอกล้างในภายหลังตาม ป.พ.พ. มาตรา 1329 จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่คืนปุ๋ยพิพาทให้แก่โจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองส่งมอบปุ๋ยเคมีสูตร 46 – 0 – 0 ตรากระต่าย จำนวน 40 กระสอบ และปุ๋ยเคมีสูตร 15 – 15 – 15 ตราหัววัว (ดาวแดง) จำนวน 20 กระสอบ คืนแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้ราคาเป็นเงินจำนวน 83,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 คืนปุ๋ยเคมีสูตร 46 – 0 – 0 ตรากระต่าย 40 กระสอบ และปุ๋ยเคมีสูตร 15 – 15 – 15 ตราหัววัว (ดาวแดง) 20 กระสอบ ของกลางให้แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้จำเลยที่ 1 ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 35,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในจำนวนเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 3 ธันวาคม 2551) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 คงให้ยกฟ้อง ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังยุติว่า โจทก์ประกอบอาชีพค้าขายปุ๋ยเคมี นางสุกัญญา สั่งซื้อปุ๋ยสูตร 46 – 0 – 0 ตรากระต่าย 100 กระสอบ สูตร 16 – 16 – 8 ตรากระต่าย 50 กระสอบ และสูตร 15 – 15 – 15 ตราหัววัว (ดาวแดง) 20 กระสอบ จากโจทก์แล้วนางสุกัญญานำปุ๋ยบางส่วนไปขายให้จำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ผู้จัดการสหกรณ์จำเลยที่ 1 กระทำการแทนได้รับซื้อและรับมอบปุ๋ยสูตร 46 – 0 – 0 ตรากระต่าย 40 กระสอบ และปุ๋ยสูตร 15 – 15 – 15 ตราหัววัว (ดาวแดง) 20 กระสอบ จากนางสุกัญญาโดยได้ชำระราคาเป็นเงิน 32,800 บาท แก่นางสุกัญญาแล้วตามบิลเงินสด ต่อมาโจทก์ขอปุ๋ย 60 กระสอบ ดังกล่าวคืน แต่จำเลยทั้งสองไม่คืนให้ โจทก์จึงร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่นางสุกัญญาในข้อหาฉ้อโกง และจำเลยที่ 2 ในข้อหารับของโจร แต่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยที่ 2 ส่วนปุ๋ยของกลางซึ่งพนักงานสอบสวนอายัดไว้ให้คืนแก่เจ้าของ ตามหนังสือแจ้งผลเกี่ยวกับทรัพย์สินของกลาง ต่อมาโจทก์ขอรับปุ๋ยของกลางคืน แต่จำเลยที่ 1 โต้แย้งกรรมสิทธิ์ พนักงานสอบสวนจึงยังไม่คืนปุ๋ยของกลางให้โจทก์
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องคืนปุ๋ยแก่โจทก์ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ซื้อปุ๋ยจากนางสุกัญญาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนหรือไม่ ปัญหานี้ข้อเท็จจริงรับฟังยุติแล้วว่า จำเลยที่ 1 รับซื้อปุ๋ยที่พิพาทกันโดยเสียค่าตอบแทน และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 บัญญัติไว้ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต โจทก์ย่อมมีภาระการพิสูจน์แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 รับซื้อปุ๋ยพิพาทไว้โดยไม่สุจริต ซึ่งในข้อนี้โจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ 1 รับซื้อปุ๋ยพิพาทในราคาต่ำกว่าราคาท้องตลาด และแม้โจทก์จะเบิกความด้วยว่าราคาปุ๋ยที่ขายให้แก่นางสุกัญญาเป็นราคาขายส่งก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 เป็นสหกรณ์ที่รับซื้อปุ๋ยไว้เพื่อจำหน่ายแก่สมาชิก ซึ่งก็จะต้องซื้อจำนวนมากที่ควรซื้อในราคาขายส่งได้เช่นกัน ทั้งโจทก์ไม่ได้เบิกความยืนยันว่าราคาที่โจทก์ขายแก่นางสุกัญญานั้นเป็นราคาตลาดของราคาขายส่งแต่อย่างใด ส่วนพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 มีนายลา ประธานสหกรณ์จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 มาเบิกความเป็นพยานได้ความตรงกันว่า ก่อนรับซื้อปุ๋ยพิพาทนางสุกัญญามาเสนอขายปุ๋ยซึ่งจำเลยที่ 2 ไม่ได้รับซื้อทันที แต่สืบราคาดูก่อน เมื่อเห็นว่าราคาถูกกว่าราคาท้องตลาดเล็กน้อย โดยนางสุกัญญาอ้างว่าตนเป็นตัวแทนบริษัทใหญ่ที่มีโรงงานในจังหวัดสุพรรณบุรีและขอเสนอขายปุ๋ยให้จำเลยที่ 1 ทั้งในการติดต่อซื้อขายก็ดี การส่งมอบและตรวจรับปุ๋ยก็ดี การจัดเก็บปุ๋ยก็ดี รวมถึงการชำระเงินให้แก่นางสุกัญญาในการส่งมอบปุ๋ยครั้งแรกก็ได้กระทำโดยเปิดเผยตลอดมา และออกหลักฐานการชำระเงินให้ตามบิลเงินสด ตามพฤติการณ์มีเหตุผลให้น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 รับซื้อปุ๋ยพิพาทไว้เพราะเชื่อโดยสุจริตว่านางสุกัญญาเป็นตัวแทนบริษัทผู้จำหน่ายปุ๋ยที่ขายปุ๋ยให้แก่จำเลยที่ 1 ตามพยานหลักฐานเห็นได้ว่า พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 และไม่อาจรับฟังหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวได้ จึงฟังได้ว่า การซื้อขายปุ๋ยพิพาทของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำโดยสุจริต ดังนี้ แม้โจทก์จะถูกนางสุกัญญาฉ้อโกงหลอกลวงซื้อปุ๋ยจากโจทก์อันมีผลทำให้นิติกรรมระหว่างโจทก์กับนางสุกัญญาที่เกิดขึ้นโดยโจทก์ถูกกลฉ้อฉลตกเป็นโมฆียะและโจทก์จะบอกล้างโมฆียะกรรมแล้วก็ต้องห้ามมิให้ยกเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 160 ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 ได้มาซึ่งทรัพย์สินปุ๋ยพิพาทโดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริตเช่นนี้ สิทธิของจำเลยที่ 1 ย่อมไม่เสียไป ถึงแม้ว่านางสุกัญญาผู้โอนทรัพย์สินให้จำเลยที่ 1 จะได้ทรัพย์สินนั้นมาโดยนิติกรรมที่ทำกลฉ้อฉลต่อโจทก์อันตกเป็นโมฆียะ และนิติกรรมนั้นได้ถูกบอกล้างในภายหลังตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1329 จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่คืนปุ๋ยพิพาทให้แก่โจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนปุ๋ยพิพาทแก่โจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ